วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

Coated Guitar Strings?

     สิ่งหนึ่งที่หมู่เราชาวกีตาร์จำเป็นที่จะต้องใช้แทบจะทุกบ่อยไม่ว่าคุณๆ จะเป็นมือกีตาร์ที่เล่นเอามันส์​อยู่ที่่บ้าน เป็นมือกีตาร์ที่เล่นเป็นอาชีพทุกคืนๆ หรือเล่นในสตูดิโอ ก็คือสายกีตาร์ ปัจจุบันบริษัทที่ผลิตสายกีตาร์หลากหลายบริษัทก็พยายามพัฒนาคุณภาพสินค้าของพวกเขาเองให้มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการยืดอายุการใช้งาน และความเป็นธรรมชาติของเสียง

     สายกีตาร์ชนิดหนึ่งที่น่าจะเรียกว่าเป็นนวตกรรมใหม่และมีตลาดที่โตขึ้นเรื่อยๆ ก็คือสายที่เรียกว่า Coated Strings หรือที่เราเรียกๆ กันว่าสายกีตาร์ชนิดเคลือบ สายกีตาร์ชนิดนี้ส่วนใหญ่จะนำเอาสาย 4-5-6 ที่เป็นสายใหญ่ (wound strings) ไปทำการเคลือบ ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุที่เราเรียกกันว่า Teflon และจุดมุ่งหมายในการเคลือบสายนี้ หลักๆ แล้วมีความต้องการที่จะทำให้เกิดสนิมช้าที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วการเกิดสนิทกร่อนสายนั้นถือเป็นเรื่องปรกติ เพราะว่าหลังจากเราๆ เล่นกีตาร์มือของเราจะมีสภาพความเปียกชื้นที่เกิดจากเหงื่อ ซึ่งมีเกลือผสมอยู่ นั่นเป็นเหตุหลักๆ ทำให้สายกีตาร์เกิดสนิม ส่วนจะขึ้นเร็วหรือช้า ก็ขึ้นกับหลักชีวภาพของแต่ละท่านแล้วหล่ะว่ามีเกลือผสมในเหงื่อกันมากแค่ไหน อีกสาเหตุหนึ่งคือการดูแลกีตาร์ของคุณๆ เองด้วยครับ ว่าปล่อยให้ Frets มีสนิมเกิดขึ้นบ้างไหม สายจะมีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ถ้าคุณดูแลรักษาเฟรตจุดที่สัมผัสกับสายให้ดีด้วยเช่นกัน

     การ Coated หรือ เคลือบสายนั้นนอกจากจะช่วยป้องกันให้สายมีอายุยืนยาวแล้ว บริษัทบางแห่งที่ผลิตสายชนิดนี้ ยังบอกว่าการเคลือบสายอย่างถูกวิธี จะช่วยลดเสียงเอี๊ยดๆ อ๊าดๆ เวลาที่นิ้วมือของเรารูดไปตามสาย (ยามเปลี่ยนคอร์ด ในกรณีกีตาร์อคุสติกจะได้ยินชัดเจน) หรือบ้างก็ว่าช่วยทำให้ความตึงของสายมีการยืดหยุ่นที่เหนียวแน่นมากขึ้น จึงทำให้การตั้งสายแม่นยำกว่าสายปรกติ (ที่ไม่เคลือบ) และบางแห่งก็ระบุว่า การเคลือบสายนั้นทำให้เฟรตสึกช้าลง และการ Coated สายนี้ ยังทำให้บางบริษัทเกิดไอเดียบรรเจิดลงสีสรรพ์สวยงามลงไปบนสารที่เคลือบสายอีกด้วย แต่การเคลือบสายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ สิ่งที่ผู้ผลิตสายกีตาร์จำต้องคำนึงถึงให้มากคือความหนาของการเคลือบ และจำเป็นต้องเคลือบให้สม่ำเสมอไปตลอดทั้งความยาวของเส้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลที่ตามมาคือผู้เล่นจะรู้สึกถึงจุดสะดุดในบางช่วงของสาย บางคนอาจจะเล่นไม่ถนัด พาลเกลียดสายเคลือบไปเลย

   
   
 
    สายกีตาร์แบบ Coated นี้ ในปัจจุบัน ตามท้องตลาดก็มีให้เลือกใช้อยู่มากมายหลายแบรนด์ครับ บ้างก็ดีไซน์และผลิตมาได้ดี บ้างก็ผลิตมาได้ค่อนข้างจะแย่หน่อย ผมว่ากันเรื่องข้อดีของสายแบบ Coated ไปแล้วในย่อหน้าบน ทีนี้เรามาดูข้อด้อยของสายแบบเคลือบกันบ้างดีไหมครับ เพราะของทุกๆ อย่างบนโลกนี้มันไม่มี Perfect อยู่แล้ว อันนี้ผมจะพูดถึงสายเคลือบบางชนิดที่ทำมาได้ค่อนข้างแย่ (ตามประสบการณ์นะครับ) จุดแรกที่พบเจอคือเรื่องของการลดความเอี๊ยดอ๊าดขณะเล่น เป็นเรื่องจริงครับ แต่บางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยผิวสัมผัสที่ลื่นกว่าปรกติในสายเคลือบบางชนิด หรือ บางแบรนด์ ทำให้การดันสายทำได้ยากขึ้นเพราะความลื่นของสายที่มากกว่าปรกติ

    ต่อมาเรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือสภาพความเป็นขุยของสาย เมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสภาพความเป็นขุยนี้มักเกิดจากการถูกสัมผัสและกระแทกกระทั้นบ่อยๆ เช่นจุดของสายที่ถูกปิ๊กดีดกระทบบ่อยๆ ตรงนั้น สารเคลือบจะหลุดก่อนทำให้เข้าถึงเนื้อในของสาย และยิ่งถ้าเป็นสายแบบสีๆ ก็ดูไม่สวยงามเหมือนเดิมแล้วหล่ะครับ และถ้าเป็นขุยในจุดที่เราวางนิ้วบนฟิงเกอร์บอร์ด ก็ยิ่งมีผลต่อผิวสัมผัสขณะเล่นอีกด้วย อาจจะทำให้เกิดความไม่สบายนิ้วขณะเล่น


    ทั้งนี้ทั้งนั้น Coated Strings ก็ยังถือว่าเป็นวิวัฒนาการที่ดีของสายกีตาร์ที่ผลิตออกมาให้เราได้ใช้กัน นึกภาพร้านขายกีตาร์ที่มีกีตาร์ดีๆ ราคาสูงๆ แขวนตากลมแอร์ตลอดวัน โดยไม่ถูกเล่น แน่นอนว่าจะต้องเกิด Oxide เกาะอย่างแน่นอน? และถ้าหากใช้สายกีตาร์แบบปรกติ จะมีอายุการใช้งานเท่าไหร่? และ กีตาร์ที่มีสายที่เรียกว่า Dead ไปแล้ว เวลามีคนมาลองเล่นจะประทับใจเสียงได้มากน้อยแค่ไหน? หรือในกรณีอย่างเราๆ ที่เล่นกันที่บ้าน ด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทำให้ยืดเวลาการเปลี่ยนสายในแต่ละครั้งไปพอสมควร ตัดขั้นตอนที่ต้องดูแลเปลี่ยนสายกันบ่อยๆ ใช่ไหมครับ?

     ท้ายนี้ ผมเอาคลิปมาแปะไว้ให้คุณได้ลองทายกันเล่นสนุกๆ ครับว่า คุณสามารถบ่งบอกได้ไหมว่ากีตาร์ตัวไหนใส่สายเคลือบไว้ และ ตัวไหนเป็นสายปรกติ? :D





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น