วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

JPAudio : Blues Master

บทที่แล้วผมพูดถึงเอฟเฟคต์พรีเมี่ยมที่ผลิตในไทยมาแล้วตัวนึง คือรุ่น Precieux (ผมใช้เองอยู่ด้วยเลย) มาถึงบทนี้ ผมก็เพิ่งได้รับตัว Prototype ของรุ่นใหม่ที่เพิ่งเสร็จหมาดๆ แน่นอนรุ่นนี้ ผมก็ยังมีส่วนช่วยทดสอบและพัฒนาเหมือนเดิม คราวนี้ผู้ผลิตต้องการให้เป็น Overdrive ที่มีกลิ่นกระเดียดไปทางแอมป์ Dumble หรือเขาเรียกกันว่า D-Style Overdrive ที่จริงโจทย์แบบนี้ ค่อนข้างยาก เพราะว่าน้อยคนจะมีโอกาศได้เล่น หรือกระทั่งได้ฟังว่าจริงๆ แล้ว Dumble Amp ให้เสียงอย่างไร มีลักษณะการ Clipping อย่างไร เราจึงได้แต่อณุมานเอาจาก youtube บ้าง หรือจาก Overdrive ที่เป็นกลุ่ม D-Style บ้าง (เช่น Zendrive 1&2, Ethos, Free The Tone SOV2, Providence Stampede etc.) หรือพยายามฟังจากอัลบั้มของศิลปินที่ใช้แอมป์นี้ เช่น Larry Carlton, Robben Ford และ Santana

เราใช้เวลาในการฟังเสียงเหล่านี้มาพอสมควร จึงเริ่มตั้งโจทย์ว่าเสียงมันควรจะออกมาเป็นแนวไหน และ Gain Range ควรจะครอบคลุมขนาดไหน มีการทดสอบแก้ไขกัน 6-7 ครั้ง กว่าจะเป็นที่น่าพอใจสำหรับ Overdrive ตัวนี้ ทางผู้ผลิตต้องการใช้ชื่อว่า Blues Master เพราะว่าเป็นการยกย่องแรงบันดาลใจจากเสียงของ Larry, Robben และ Carlos ที่เรียกได้ว่าเป็นนักกีตาร์ Blues/Jazz ระดับปรมาจารย์ ซึ่งผมก็เห็นด้วยครับ

มาว่ากันถึงเจ้า Blues Master นี้กัน เอฟเฟคต์ตัวนี้มากับปุ่มควบคุม 4 ปุ่มคือ Level - Gain - Tone - Mojo ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน Level - คุมความดังเบา , Gain - ควบคุมจำนวนเสียงแตก , Tone - คุมทุ้มแหลม และ Mojo เป็นปุ่มพิเศษที่ปรับแต่งย่าน Presence และลักษณะการ Clip ของ Overdrive และผมทดสอบ Blues Master กับกีตาร์ Fender Stratocaster "Jeff Beck" Signature กับ Marshall 2061 เสียงของ Blues Master จะมีย่าน Bass นำและปรับแต่งเสียง Treble จากปุ่ม Mojo ตัวนี้ดีไซน์ให้ Gain ปรับได้น้อยๆ แบบ Robben Ford ไปจนเยอะได้แบบ Santana จึงใช้งานได้กว้างและที่สำคัญที่ผมย้ำทุกครั้งที่มีการพัฒนาก้อน ก็คือเรื่อง Noise ที่ต้องให้มีน้อยที่สุด ดังนั้น Blues Master จึงเป็น Overdrive ในแบบ D-Style ที่มีสุ้มเสียงไม่น้อยหน้าตัวไหน และมี Noise ค่อนไปทางน้อย และมีช่วงของ Gain ให้เลือกเล่นเยอะ พร้อมทั้งมีปุ่ม Tone และ Mojo ที่สามารถปรับแต่งให้ได้โทนที่หลากหลาย ตอบสนองดนตรีได้หลายสไตล์ครับ และนีก็เป็นเอฟเฟคต์คุณภาพเยี่ยมอีกก้อน ที่น่าลิ้มลองครับ

** ตัวที่เห็นในคลิปนี้ เรื่องของ Cosmetic ยังไม่สมบูรณ์ครับ ^^ LED ยังอยู่ผิดที่ผิดทางหน่อย ตัวที่จะวางจำหน่ายจะปรับปรุงให้เนี๊ยบกว่านี้ แต่เสียงเหมือนกัน 100% **



วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

JPAudio : Precieux Ovd

ในอุตสาหกรรมเครื่องดนตรีในปัจจุบันนี้ ตลาดเอฟเฟคต์ก้อนเรียกว่าเติบโตจนเป็นตลาดหลักไปแล้ว แม้กระทั่งบริษัทผลิตกีตาร์​ หรือแอมป์เจ้าใหญ่ๆ ยักษ์ๆ ยังต้องหันกลับมาสนใจและพัฒนาเอฟเฟคต์ก้อนกันเป็นชิ้นเป็นอัน ที่จริงแล้วบ้านเราก็มีกลุ่มที่เรียกว่าเป็น Thailand Handmade อยู่บ้างแล้ว ที่ผลิตเอฟเฟคต์ออกมา แต่เรียกว่าซื้อขายกันในกลุ่มเล็กๆ ไม่ใหญ่โตนัก และจะว่ากันตามตรงบางส่วน ก็จะเป็นการ Cloning จากก้อนดังๆ ของต่างประเทศกันเสียส่วนใหญ่


ผมมีโอกาสได้รู้จักกับนักพัฒนาเอฟเฟคต์คนหนึ่งที่ผลิตงานมาพอสมควร เขานำเอาเอฟเฟคต์ที่เคยทำเข้ามาปรึกษา ก็เลยได้มีโอกาสช่วยพัฒนา ให้ไอเดียในการปรับปรุงคุณภาพของเอฟเฟคต์ของเขา เราใช้เวลาแก้ไขกันนานมากเหมือนกันครับ เพราะต้องบอกตามตรงว่าครั้งแรกที่ได้ลอง เอฟเฟคต์มีจุดอ่อนค่อนข้างมาก ผมให้ไอเดียหลักๆ ที่สำคัญๆ ไว้หลายอย่าง ที่สำคัญคือ ต้องไม่ก๊อปปี้ชนิดทุกสิ่ง ทุกอย่าง และ เรื่อง Internal Noise ต้องน้อยสุดเพื่อให้เอฟเฟคต์นำไปใช้จริงได้ และพวก EQ ต่างๆ ก็แก้ไขกันหลายครั้ง เพื่อให้มันสมบูรณ์ที่สุดตามโจทย์ คือเป็น Mid-Gain Overdrive ที่มี Dynamic และ Headroom ที่ดี (คือไม่ Compressed จัดๆ และไม่อู้อี้ แบน หรือบาง) ตอบสนองการดีดหนักเบาได้ดี โจทย์เหล่านี้ ที่จริงแล้วผมคิดว่ามันควรจะเป็นพื้นฐานของผู้ผลิตส่วนใหญ่ และเรื่องของแคแรกเตอร์ของก้อน ค่อยตามมาทีหลัง และแน่นอนว่าส่วนของฮาร์ดแวร์ และ component ผมแนะนำให้ใช้ของดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ และไม่แนะนำเด็ดขาดที่จะมาประหยัดหรือลดต้นทุนนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเอฟเฟคต์ของเค้าเอง

จากจุดนั้นถึงตรงนี้ Overdrive ตัวแรกจากค่าย JPAudio ก็ออกมาแล้วครับ ทางผู้ผลิตเรียกเจ้าก้อนนี้ว่า Precieux Overdrive ดีไซน์ดูสวยงามแบบเรียบๆ การใช้สีทองเป็นพื้นทำให้ดู Classy และเจ้าก้อนนี้มากับปุ่มปรับที่ใช้งานได้กว้างและมีผลต่อการปรับใช้งานค่อนข้างมาก แน่นอนว่ามี Volume - Tone - Gain เป็นหลัก พร้อมทั้งมี Toggle Switch มาให้สองอันเพื่อปรับ Tone Shape ชนิดอื่นๆ ซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังต่อๆ ไปครับ

ผมทดสอบ Precieux Overdrive ด้วยกีตาร์หลากหลายชนิดครับ แต่ในคลิป ผมใช้ Gibson Les Paul Custom ผ่านตัวเอฟเฟคต์และไปเข้า Bogner: Goldfinger 45 เสียง Overdrive ที่ได้มา ได้อย่างในแทบจะ 100% เลยทีเดียว คือได้ Dynamic Response ที่ไปในทางดีมาก คือดีดเบา ก็ฟังคลีนหน่อย ดีดหนักก็เกิดการ Distort เยอะหน่อย และ Headroom เป็นที่น่าพอใจมาก แคแรกเตอร์ของเสียง Overdrive จะออกไปลักษณะนุ่มนวลเล็กน้อย และมีช่วงเกนท์ให้ใช้เยอะ ถ้าต้องการใช้ให้เป็น Clean Boost อาจจะไม่คลีนมากนัก แต่ถ้าเป็น Gain Boost นี่ถือว่าผ่านครับ เมื่อปรับไปที่ Gain ระดับกลาง และใช้ Glassy Mode (จะช่วยเพิ่มย่าน Mid-Hi และ Presence) ร่วมกับ Modern Mode (คิดซะว่าเป็น Bass Boost) ก็จะทำให้เจ้า Precieux Overdrive กลายร่างเป็น Mid Gain Overdrive ที่ใช้เสียงแตกได้ค่อนข้างมาก จนสามารถเป็นแตกหลักได้เลยทีเดียว
JPAudio : Precieux Overdrive เป็นก้อนแรกในไลน์ผลิตของ JPAudio ที่เค้าบอกว่าเป็น Premium Handwired In Thailand จากเรื่องเนื้อเสียง และอุปกรณ์การผลิต การทดสอบในขั้นตอนต่างๆ ผมแนะนำให้อย่างน้อยต้องมาลองครับ เพราะเป็นก้อนที่เรียกว่ามีระดับคุณระดับสากลและมีอนาคตทีเดียว


วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Swing R2 Millennium Gold

Swing R2 Millennium Gold (Maple Board)


บทนี้มาว่าถึงกีตาร์รุ่นเดียวกับที่เคยเขียนไปเมื่อครั้งก่อน คือ Swing Guitar Technology รุ่น R2 Millennium Gold แต่คราวนี้มาเป็นเฟรทบอร์ดที่เป็นไม้ Maple กันบ้าง เช่นเคยครับ กีตาร์ของ SGT นี้จะมากับ Gig Bag ที่ทนทานแข็งแรงของ Swing ติดตั้งสาย D'Addario เบอร์ 9 มาให้จากโรงงาน สีก็ยังคงเป็นสี Sparkle Gold หรือทองที่มีกากเพชรระยิบระยับสวยงามน่าใช้ เฮดสต๊อกก็เป็นแบบ matching คือสีทองเช่นเดียวกัน ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็ใช้ของคุณภาพครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Bridge ใช้ของ Wilkinson: W VS50 IIK รุ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเลย

หลังจากเอากีตาร์ออกจากกระเป๋าแล้วลองจับดูเบื้องต้น รู้สึกว่าขนาดคอจะต่างกันกับรุ่น Rosewood เล็กน้อย คือ profile หลังคอจะอ้วนกว่านิดๆ จับกระชับมือดี เข้ามือสำหรับคนที่ชอบเล่นคอที่ใหญ่กว่า C นิดๆ ยังคงเป็นมิตรกับมือมากๆ ครับ ถ้าชอบคอที่ไม่ใหญ่ ไม่เล็กจนเกินไป ส่วนงานด้านอื่นๆ ก็เนี๊ยบมากเช่นกัน

ผมทดสอบ R2 Millennium Gold MP ผ่าน PJAudio Overdrive + Majikbox: Rocket Fuel ไปออกแอมป์ Komet: Concorde และลำโพง Marshall 2061cx เสียงจาก Single Coil ค่อนไปทางแรงนิดๆ สามารถเล่นบลูส์ แจ๊ส หรือจะฟาดร๊อคก็ไม่มีปัญหา ฮัมบัคเกอร์เสียงหนักหน่วงมาก ค่อนข้างเคลียร์ไม่ค่อยจม ด้วยความที่เฟรทบอร์ดเป็น Maple ก็ทำให้เสียงฟังคมชัด และมีความกัดจิกและจิ๊กโก๋กว่า RW อยู่บ้าง ตรงนี้ก็แล้วแต่รสนิยมแล้วครับ ว่าชอบแนวไหนมากกว่ากัน ด้วยราคาและคุณภาพการผลิตแบบนี้ เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ ตัวนึงเลยครับ สำหรับคนที่กำลังมองหากีตาร์คุณภาพดีๆ ไว้หัด หรือจะใช้เล่นจริงๆ จังๆ R2 Millennium Gold น่าจะตอบสนองคุณได้อย่างดี



วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Swing R2 Millennium Gold

R2 - Millenium Gold (Rosewood)


คราวก่อนได้เขียนเล่าให้ฟังไปแล้วถึงกีตาร์ Made In Korea แดน K Pop ที่เพิ่งได้ทดลองเป็นครั้งแรก แต่รู้สึกได้ว่างานการผลิตค่อนไปทางดีมาก วันนี้มาเขียนเล่าอีกตัวครับ เพิ่งมีโอกาสได้จับต้องได้ลอง Swing Guitar Techonology รุ่น R2 - Millenium Gold (RW) ซึ่ง RW นี่คือเฟรทบอร์ดเป็น Rosewood และตัวกีตาร์เป็นสีทองสวยงามสมชื่อรุ่น

ผมหยิบกีตาร์ออกจาก Soft Case ที่ทาง Swing ให้มาก็เห็นว่างานการผลิตดีใช้ได้เลย สีทำมาเนียน ตัวกีตาร์และคอได้มาตรฐานสวยงามน่าใช้ เช็คสเปกค์ดูก็เห็นว่าใช้ของดีทีเดียวเช่นส่วนคอก็ใช้ Canadian Hard Maple ท๊อปด้วย Indian Rosewood ส่วนตัวกีตาร์ก็เป็นไม้ Alder และมีระบบอิเลคทรอนิกส์เป็น H-S-S ที่น่าจะเล่นได้กว้าง และหลากแนวใช้ปิ๊กอัพของทาง SGT เอง ในส่วน Single Coil สองตัวก็เป็นรุ่น Swing Blues Breaker และ Humbucker เป็น Swing Heart Breaker ทางด้านพวกกลุ่มฮาร์ดแวร์ก็ใช้ของ Swing ผลิตเองก็น่าจะเป็น Made In Korea เช่นกันตามมาตรฐาน ส่วนฟินนิชชิ่งนี่ก็เป็น Gloss และทำสีแบบ Sparkle Gold รวมไปถึง Matching Headstock สวยงามอลังการ ดูคลาสสิคครับ

ผมทดสอบ Swing: R2 - Millenium Gold ตัวนี้กับแอมป์ Komet K60 เสียงฟังดูดี ฟังดูกลมๆ ดุๆ หน่อย อาจจะด้วย pickups ที่ติดมา แรงเอาเรื่องครับ เนื้อเสียงโอเคทีเดียว สายบนๆ ฟังนวลๆ กลมๆ ตามแคแรกเตอร์ของ Rosewood สายล่างๆ ติดบางๆ อาจจะด้วยเป็นเพราะใส่สายเบอร์ 09 มาตั้งแต่โรงงาน (ส่วนตัวผมเล่น 0.10 รู้สึกว่า "Ball" มันน้อยไปนิด) อาจจะมีจี่นิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นแคแรกเตอร์ของ Single Coils ส่วน Hum ก็น้อยลงไปเยอะครับ ผมลองเล่นกับ Distortion (ใช้ PJAudio Precieux + Rocket Fuel จาก Majikbox) เสียงดุดันมากๆ ย่านเบสฟังแน่นเสียงย่านแหลมฟังเด่นดีครับ สายร๊อคน่าจะแฮปปี้เลยทีเดียวครับ 

Swing Guitar Technology รุ่น R2 - Millennium Gold ก็เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่มีมาตรฐานดี และราคาจับต้องได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีตาร์ที่เล่นอาชีพ หรือเล่นสนุกๆ อยู่กับบ้าน แม้กระทั่งเพิ่งหัดเล่น กีตาร์รุ่นนี้น่าจะตอบสนองคุณๆ ได้ทั้งเสียง และความสวยงามครับ


             





วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Bogner : Burnley

เมื่อปลายปีที่แล้ว Bogner Amplifications ทำให้ตลาดเครื่องดนตรี โดยเฉพาะตลาด Stompboxes ตื่นเต้น และตื่นตัวอย่างมาก เพราะได้มีการนำเอาเอฟเฟคต์ก้อนรุ่นใหม่ๆ ไปวางโชว์ให้คนที่ชมงานได้ทดสอบกัน ถ้าเป็นแค่ Overdrive หรือ Distortion ที่พัฒนากันแบบปกติ คงจะไม่เป็นที่ฮือฮาขนาดนี้ แต่เพราะ Reinhold Bogner คิดไปไกลกว่านั้นครับ เขาทำการพัฒนาเอฟเฟคต์ก้อนของเขาในแบบที่ไม่เคยมีใครแม้แต่จะคิด คือการร่วมมือกับ Rupert Neve ซึ่งเป็นคนที่เรียกว่าเป็นระดับตำนานของสายอุปกรณ์บันทึกเสียง นำเอา RND Transformer ที่ผลิตโดย Ruper Neve Design มาเป็นส่วนหนึ่งของวงจรของเอฟเฟคต์ก้อนรุ่นใหม่ของทาง Bogner 




Rupert Neve เป็นใคร? ผมคิดว่าคงมีคนสงสัยเยอะเลย ก็ตอบกันสั้นๆ ว่า Rupert Neve เป็นวิศวะกรที่ออกแบบอุปกรณ์บันทึกเสียงเช่นพรีแอมป์สำหรับไมโครโฟน, อีควอไลเซอร์ ที่ใช้ในห้องอัดเสียง หรือไม่ว่าจะเป็นคอนโซลบันทึกเสียงในอดีต สิ่งเหล่านี้ทำให้ Rupert Neve มีชื่อเสียงอย่างมากมายมหาศาลและได้ร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น Focusrite, AMS Neve, Amek จนได้รับเกียรติได้รับรางวัล Lifetime Achievement Techical Grammy Award เท่านี้ก็น่าจะการันตีความสามารถในการออกแบบ Audio Transformer ของ Rupert Neve Design ได้แล้วใช่ไหมครับ


วันนี้ผมจะมาแกะกล่องของเอฟเฟคต์ Bogner ที่ติดตั้ง RND Transformer ไว้ในวงจร รุ่นนี้เรียกว่า Burnley เป็นเสียงแบบ Distortion ครับ ทุกๆ รุ่นของ Bogner ซีรี่ส์นี้ จะมีทั้งแบบหน้าเป็นโลหะเพนท์สี และหน้าเป็นไม้ Bubinga ซึ่ง Reinhold ให้เหตุผลว่าเขาต้องการให้มีความรู้สึกเหมือนที่คุณจับคอนโซลบันทึกเสียงรุ่นเก่าๆ ที่ทำด้วยไม้ ผมก็ว่ามันคลาสสิคดีครับ Burnley รุ่นที่เป็นหน้าโลหะนั้นเพนท์ด้วยสีออกม่วงๆ ชมพูๆ และมีปุ่มควบคุม 3 ปุ่มคือ Level คุมความดังขณะที่เอฟเฟคต์เปิดใช้งาน Tone ควบคุมเสียงทุ้มแหลม และ Gain ควมคุมจำนวนเสียงแตกหรือความ distort ของเอฟเฟคต์ และมีสวิทช์เล็กๆ ที่มีตัว F และ T ตรงนี้เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังช่วงทดสอบครับ และ LED Light ใหญ่ชัดเจนและจะเปลี่ยนสีทุกครั้งที่มีการดีดแรงๆ จนเกิดการ Clip มุมซ้ายล่างของก้อน จะมีลายเซนต์ของ Rupert Neve ทุกก้อน


ผมทดสอบ Bogner : Burnley กับ James Tyler : Studio Elite ผ่าน Bogner Burnley ไปออก Komet K60/Marshall 2061xc Cabinet เสียงของ Burnley นั้นน่าจะเป็นแนวๆ Mid Gain Distortion ที่มีความเป็น British Style สูง เสียงกลางหนาใหญ่ เสียงย่าน Treble นั้นติดคมๆ น่าจะถูกหูชาวร๊อคมากทีเดียว ย่านเบสนั้น ถ้าปรับท๊อกเกิ้ลเล็กๆ มาทางตัว F ก็จะได้ Full Range Frequency ซื่งจะหนาใหญ่ เบสแน่นลึก ถ้าปรับไปทางตัว T ย่านเบสจะถูก Cut ทิ้งพอสมควร แต่จะฟังกระชับขึ้น ทั้งสองแบบนี้แล้วแต่ว่าชอบแบบไหน ก็ปรับกันไปทางนั้นเลยครับ ส่วนตัวผมชอบ Full Range มากกว่า เพราะมันฟังแน่นใหญ่มากๆ เล่นกับวง ไม่จมแน่นอน : Burnley Distortion จาก Bogner Amplification เป็นก้อน Mid Gain Distortion อีกก้อนที่มีมิติ มีการปรับที่ค่อนไปทางกว้าง และตอบสนอง Dynamic ดีที่สุดก้อนหนึ่ง ที่คุณต้องลองครับ



                                       
Thanks Andre Nieri for Clip


VFE: Pale Horse Od


สารภาพว่าไม่เคยได้ยินเอฟเฟคต์แบรนด์นี้มาก่อนเลย จนตัวแทนจำหน่ายเอามาให้ทดสอบกันทีหลายๆ ก้อน ผมไปหาข้อมูลมาก็พบว่าแบรนด์นี้เคยมีคนนำเข้ามาแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำเสนออย่างกว้างขวาง ผมทดสอบดูหลายๆ ตัวแล้วก็รู้สึกว่าแบรนด์ที่ว่านี้ทำเอฟเฟคต์ก้อนราคากลางๆ ออกมาได้ไม่เลวเลย แถมมีให้เลือกใช้มากมายหลายเสียง แบรนด์นี้เรียกตัวเองว่า VFE Custom Pedals เป็นกลุ่มที่ยัง Made In USA อยู่ครับ วันนี้ผมจะพูดถึงรุ่นที่เรียกว่า Pale Horse Overdrive 

VFE: Pale Horse Overdrive นี่มากับ Housing ที่สกรีนสวยงาม มีปุ่มควบคุมเยอะแยะไปหมด หลักๆ ก็เหมือน Overdrive ที่คุ้นๆ กันคือ Level - คุมความดัง Drive - คุมจำนวน Gain/Distortion ที่ปล่อยออกไป และ Tone - คุมทุ้มแหลมปรกติ แต่มีปุ่มอื่นๆ เล็กๆ อีกคือ Low - จะคุม Pre-Gain Bass คือคุมย่านเสียงเบสของ Overdrive ก่อนที่สัญญาณจะไปเข้า Gain Stage และ High คุม Post Gain Treble ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ Presence ใน Marshall นั่นแหละครับ เสียงจะฟังคมและพุ่งขึ้นกว่าเดิม และด้านบนจะมีปุ่มเล็กๆ คือ A-M คือการปรับไปใช้ Diode ที่เป็น Asymmetrical และ Mosfet จะเป็นการเลือกเสียงให้มี Harmonics และ Compressions ที่แตกต่างกัน อาจจะต้องปรับปุ่มอื่นๆ ชดเชยกันบ้าง ลองทดลองหลายๆ แบบก็มีเสียงให้เลือกเล่นเยอะดีครับ ตามคู่มือบอกไว้ว่ายังมี Trim Pot ให้ปรับ Tone ได้อีกเผื่อถ้าใครต้องการให้เสียงมันทุ้มลงไปได้อีกก็สามารถทำได้


ผมทดสอบ Pale Horse Overdrive กับกีตาร์ Swing Studio Ash ไปผ่าน VFE Pale Horse และใช้แอมป์ Bogner Mephisto 18 และใช้ลำโพง Marshall 2061cx พบว่าเสียง Overdrive ที่ได้จาก Pale Horse ค่อนข้างจะใกล้ๆ กับกลุ่ม Tube Screamer แต่ย่านเสียงเบสไม่หาย เสียงแต่ละย่านฟังชัดเจน โดยเฉพาะเบสฟัง Chunky มากๆ ถ้าปรับให้ฟังคมขึ้นนิดหน่อย อาจจะไปใกล้พวก Marshall Sound ได้ไม่ยากนัก และแต่ละปุ่มก็ Sensitive  พอสมควรปรับนิดๆ หน่อยๆ ก็ได้เสียงที่แตกต่าง ปรับได้กว้างมากๆ ครับ น่าจะครอบคลุมหลากแนวไม่ว่าจะเป็น Pop, Rock, Jazz, Blues หรือจะไปเล่นพวก Hard Rock หน่อยก็พอไหว แต่ถ้ามองหาก้อนที่เล่นพวก Metal นี่ผ่านไปก่อนได้ แต่ถ้าคุณมองหา Overdrive ที่เล่นครอบคลุม Range ของเสียงแตกกว้าง มี Tone Shaper ให้เล่นเยอะ VFE: Pale Horse Overdrive เป็นอีกตัวที่น่าสนใจครับ




วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

Kinman PU AVn59


เนื่องมาจากความซนในครั้งกระโน้นที่ผมโมด์กีตาร์ James Tyler ตัวก่อนเพราะว่าเป็นคนชอบเล่นเสียง  Single Coil อยู่บ้าง แต่ไม่ชอบเสียงจี่ เสียงฮัม เลยจัดการใส่ AVn62 เข้าไป แล้วก็ติดใจกับปิ๊กอัพแบบ Zero Hum ของ Kinman มาตลอด มาคราวนี้เมื่อบทก่อนๆ ผมเขียนถึง Swing Guitar Technology รุ่น  Swing Studio Ash ไว้ ก็ไม่ได้พูดถึง Kinman ที่ติดไว้อย่างละเอียด ก็เลยขอยกมาเล่ากันที่บทนี้แทนเลยก็แล้วกันครับ (ตามไปที่บทนี้ได้ครับ บทความทดสอบ Swing Studio Ash)

หากว่าใครมาอ่านบทนี้เป็นบทแรก ก็เกริ่นให้ฟังก่อนว่า Kiman Pickups นี่เป็น Pickups สายพันธุ์ Australia ครับ Mr.Chris Kinman ออกแบบ Zero Hum Pickups ของเขาโดยการที่พยายามจะพัฒนาให้มีความใกล้เคียง True Coils คือย่านเสียงแหลมไม่กุดหายไป (เหมือนกับยี่ห้ออื่นๆ) และเขาก็ทำได้ตามนั้นเหมือนกันจากที่ส่วนตัวผมเคยเปลี่ยนใส่ไว้สองตัว และสำหรับ Kinman: AVn59 นี้ ตามสเปกค์แล้วมี Output ที่มากกว่า AVn62 ย่านเบสและแหลมน้อยกว่า แต่กลางจะเด่นกว่า แต่ยังอยู่ในช่วงเสียงแบบที่ทาง Kinman เรียกว่า Aged Tone คือเสียงออกวินเทจนั่นเอง


ผมทดสอบ AVn59 กับแอมป์ Komet K50 รู้สึกว่าเสียงกลางที่ได้มาจะเด่นจริงๆ ครับ แต่ไม่ใช่ว่าเบสกับแหลมจะอัตคัต เพราะว่ามันไม่ได้น้อยมากจนเกินไปจนกลวง เสียงเบสอิ่มแหลมไม่บาดตามที่ต้องการ เล่นกับแชนแนลคลีนเงียบสนิท เลยลองทดสอบต่อกับก้อน Bogner Ecstasy Blue เพื่อทดสอบการตอบสนองกับ Overdrive และฟังเสียงรบกวนพร้อมกันไปด้วย เสียงจี่/ฮัมแทบไม่มี และเมื่อบู๊สซ้ำด้วย Majikbox: Rocket Fuel อีกที มีเสียงจี่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก Overdrive และ Booster เป็นที่น่าประทับใจมากๆ ครับ ต้องบอกว่า Kiman Pickups ทำให้เสียนิสัยไปแล้ว เพราะหลังจากคุณเล่นปิ๊กอัพ Single Coils จาก Kinman เมื่อกลับไปเล่น True Coils อีกครั้งจะรู้สึกรำคาญเลยครับ ยิ่งถ้าคุณเป็นคนเล่นกีตาร์โดยใช้ Gain พอสมควรแล้วหล่ะก็ ลองหา Zero Hum Pickups จาก Kinman มาใช้เถอะครับ ไม่ผิดหวังแน่นอน

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

Guitarist Surviving Kit


มาเอาตัวรอดกันเถอะ !!

โดยอาชีพแล้ว ตัวผมไม่ใช่นักดนตรีอาชีพครับ แต่มีเพื่อนฝูงเป็นนักดนตรีอาชีพหลายคน มีพี่ๆ น้องๆ เป็นศิลปินก็หลายคน ส่วนใหญ่ๆ สิ่งที่เราคุยๆ กันในวงสนทนา ก็ไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องดนตรี เล่นสด  คอนเสิร์ตอะไรต่างๆ ผมเคยถามหลายๆ ท่านเรื่องปัญหาต่างๆ ที่เคยเจอในการเล่นมีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ที่เคยได้ยินก็มีพวกสายกีตาร์ขาดระหว่างโชว์ แอมป์ดับ หรือแผงเอฟเฟคต์ไม่ติด เหตุการณ์เหล่านั้นน่าจะเป็นฝันร้ายของคนกีตาร์เลยว่าไหมครับ? บทความบทนี้ ผมเลยนั่งจินตนาการดูว่า นักกีตาร์ทั้งหลายที่เล่นอาชีพ เล่นแบ๊กอัพ หรือเป็นศิลปินแล้ว ทั้งมีและไม่มีกีตาร์เทคนิเชี่ยนเป็นของตัวเอง อย่างๆ น้อยๆ ควรจะมีอะไรติดไว้ในกล่องกีตาร์ หรือ กล่องเอฟเฟคต์บ้างเพื่อความอุ่นใจ เพื่อนๆ ลองคิดในใจก่อน แล้วมาดูในลิสต์ว่าคิดตรงกันไหม ก็เป็นเกมเล็กๆ ที่เล่นร่วมกันดีไหมครับ

1. สายกีตาร์สำรองไว้อีกสักชุดหรือสองชุดก็ไม่เลว
2. คีมตัดสายกีตาร์ พร้อมทั้งเครื่องหมุนลูกบิด 
3. ไขควงปากแบน / ไขควงสี่แฉก (กรณีมนุษย์ฟรอยด์โรสต้องใช้แน่นอน)
4. เหล็กหกเหลี่ยม (สำหรับมนุษย์ FR เช่นกัน)
5. ไฟฉายเล็กๆ สักอัน เวลาเจอเวทีมืดๆ ก็ช่วยได้
6. ถ่าน 9v สัก 2-3 ก้อนกันเหนียว
7. สายเคเบิ้ลสำหรับกีตาร์ซักเส้น พร้อมกับสายพ่วงเอฟเฟคต์เผื่อๆ ไว้ 1-2 เส้น

คิดต่ออีกหน่อย ถ้าคุณเป็นมนุษย์บึกบึนที่แบกแอมป์ของตัวเองไปเล่น

8. หลอดเพาเวอร์ซักคู่ เป็น match-paired ก็เวิร์คละ อย่าลืมเช็คเบอร์นะครับ
9. หลอดพรีแอมป์ซักหลอด อย่าลืมดูว่าพรีคุณเป็นเบอร์อะไรด้วยนะ
10. อันนี้ผมคิดว่าสำคัญมากถึงแม่จะเป็นอันเล็กๆ Fuse ไงครับ อย่าลืมดูว่ามันควรเป็น Slo-Blo หล่ะ


ตรงกันบ้างไหมครับ? ลิสต์มายาวเหยียดนี่จริงๆ อาจจะคิดว่ามันเยอะมากใครจะไปแบกไหว ลองดูดีๆ มันกินพื้นที่ไม่มาก และน่าจะมีประโยชน์กับนักกีตาร์ที่ต้องออกไปเล่นบ่อยๆ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในระหว่างการแสดง กันไว้ดีกว่าแก้จริงไหมครับ?


วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

Swing Studio Ash

รุ่น Swing Studio Ash



กีตาร์ตัวนี้ผมได้มาด้วยความที่ค่อนข้างจะบังเอิญ เมื่อคราวที่ผมตั้งใจจะประกอบกีตาร์ตัวใหม่ที่จะมีชื่อวงผมแปะบนหัวกีตาร์ (การประกอบกีตาร์เองนี่เริ่มจะเป็นเทรนด์นิยมของมือกีตาร์หลายๆ คนแล้วละครับ) แต่ก่อนที่ผมจะได้เริ่มสั่งอะไหล่ต่างๆ รุ่นที่สนิทกันท่านนึงก็ส่งลิ๊งของเวปที่ผลิตกีตาร์แบรนด์นึงของเกาหลีมาให้ผมดู แล้วบอกว่าเขาจะนำเข้ากีตาร์แบรนด์นี้ ผมสนใจลองเอาไปเล่นไหม ผมขอเวลาคิดอยู่ระยะหนึ่งร่วมกับลองหาข้อมูลในอินเตอร์เนตดู พบว่ากีตาร์แบรนด์นี้ มีชื่อเสียงแล้วพอสมควรในยุโรป และอเมริกา สรุปว่าผมลองซื้อมา 2 ตัวครับ มาลองเล่นดู เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังทีละรุ่นไปนะครับ



 แบรนด์นี้มีชื่อว่า Swing Guitar Technology รุ่น Swing Studio Ash ผมเลือกสี Transparent Teal Green แบบที่มีให้ดูอยู่หน้าเวปเลยครับ สเปกค์ก็ถือว่าได้มาตรฐานดีพอสมควรเลยคือบอดี้เป็นสวอมพ์แอช คอเป็นเฟรมเมเปิ้ล และฟิงเกอร์บอร์ดเมเปิ้ลแปะทับอีกที กีตาร์มากับระบบปิ๊กอัพแบบ H-S-S ใช้ Tesla: Opus-1 ตัวใกล้คอ และตัวกลาง และ Tesla: Plasma 7 ฮัมบัคเกอร์ตัวใกล้สะพานสาย และคุมด้วย 1 วอลลุ่ม 1 โทน มีสวิทช์ตัดคอล์ยของฮัมบัคเกอร์ด้วย


ทดสอบ Studio Ash แบบเดิมๆ ไม่โมด์ใดๆ
 หลังจากกีตาร์ถึงมือแล้ว ผมเองรู้สึกได้เลยว่า อุตสหากรรมเครื่องดนตรีแข่งขันกันสูงจริงๆ เพราะว่างานกีตาร์ที่ผลิตในเกาหลีปัจจุบันนี้ ดีกว่าเดิมมากๆ และใช้ไม้คุณภาพดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากๆ ครับ ดูเทียบเอาจากตัวที่ผมได้มาจะเป็นไม้สวอมพ์แอช 3 ชิ้นต่อกันแบบเนียนๆ การทำสีและฟินนิชชิ่งเนี๊ยบมาก คอเมเปิ้ลมีลายพอเหมาะ งานเนี๊ยบสวยเรียบร้อยดีครับ ทางด้านเสียงเดิมๆ เลย ทาง Swing ติดปิ๊กอัพที่เมดอินโคเรีย Tesla Pickups มาทั้งเช็ต สายร๊อค สายแรงน่าจะถูกใจครับ เอาท์พุทพุ่งทะลุทะลวงมากๆ เสียงได้มาตรฐานดีอีกเช่นกัน 



 แต่ส่วนตัวแล้วผมยังไม่ค่อยถูกหูกับพวกแรงๆ ดุดันๆ (หน้าไม่ให้ครับ แฮ่) เลยจับโมดิฟายด์ปิ๊กอัพก่อนเลยเป็นอันดับแรก ทางด้านซิงเกิ้ลคอล์ยนั้น ผมให้ความไว้วางใจในแบรนด์ชื่อว่า Kinman Pickups อยู่แล้ว เพราะเป็นคนไม่นิยมเสียงจี่ เสียงฮัมเลย คราวนี้ผมสั่งรุ่น AVn59 มาติดตั้งทั้งตัวใกล้คอ และตัวกลาง ส่วนฮัมบัคเกอร์ตัวใกล้สะพานสายเลือกอยู่หลายตัว ตอนนี้ติดตั้ง Dimarzio รุ่น PAF Pro ไว้ก่อน กลางๆ และ ไว้ใจได้ (อนาคตอาจจะลองตัวอื่นๆ บ้าง) ส่วนชิ้นอื่นๆ ยังไม่เปลี่ยนครับ มีนิดนึงที่รู้สึกโอเคเลย คือตอนที่เปลี่ยนปิ๊กอัพนั้น ผมสังเกตุดูใต้ปิ๊กการ์ดแล้ว Swing รุ่นนี้ ให้อะไหล่มาดีพอสมควรครับ คือใช้ของ Made In Japan ทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็น Volume/Tone POT หรือ Pickup Selector ถือว่ายอมใช้ของดีในรุ่นสูงๆ เป็นการยกระดับกีตาร์ได้ดีทีเดียว


ทดสอบ Studio Ash หลังโมด์ Pickups
  หลังจากเปลี่ยนแล้ว เสียงเป็นที่น่าพอใจขึ้นอีก 20%-30% เลยทีเดียวครับ กลายเป็นกีตาร์ที่ใช้แทนพวกตัวหลักๆ ที่ผมเคยใช้อยู่ได้เลย หน้าตาก็ดูหล่ออีกด้วย ด้วยพื้นฐานไม้ที่โอเคอยู่แล้ว การจะโมด์จะทำอะไรกับกีตาร์เพื่ออัพเกรด ก็จะทำได้ง่ายตามไปด้วยครับ Swing Guitar Technology รุ่น Swing Studio Ash เป็นกีตาร์อีกแบรนด์ที่ถ้าใครสนใจกีตาร์ที่ราคาไม่แพงมาก งานสวย เสียงดี ก็จัดได้เลยครับ (สนใจติดต่อ Guitar Passion Thailand และ CT Music Shop ผู้นำเข้าครับ)

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

รวมคลิปทดสอบก้อนที่ผมทำไว้สั้นๆ

เข้าต้นเดือนสิงหาคมเข้าไปแล้ว แต่ละปีนี่เวลาเดินไวมาก ผมได้ทำคลิปไว้บ้างเลยรวบรวมมาไว้ที่เดียวกันจะได้หาดู หาเทียบได้ง่ายๆ ครับ ส่วนใหญ่แล้วคลิปที่ผมทำจะบันทึกกันสดๆ ไม่มีปรุงแต่งอะไรก็พอใช้ฟังเป็นไกด์ไลน์ได้บ้างครับ ขอบคุณครับ

ทดสอบ Majikbox : Rocket Fuel "Doug Aldrich" กับ Bogner XTC Blue


ทดสอบ Kartakou : Warmer Overdrive 

ทดสอบ Majikbox : Filthy Lucre Distortion กับ Paul Gilbert's Fuzz Universe

Shoot Out : Dumble In The Box

ทดสอบ Mad Professor: Little Green Wonder / Bjfe : LGW

ทดสอบ Fuzz: Brit Bender - Screwdriver - Sun Bender - Tone Bender MKII

ถ้ามีเพิ่มเติมจะจับใส่อีกเรื่อยๆ ครับ คงจะพอเป็นไกด์ไลน์ให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่สนใจก้อนต่างๆ ได้มีไอเดีย ว่าเสียงมันไปทางไหนกันบ้างครับ

วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

FTT : MS-2V

Free The Tone : Matt Schofield Overdrive (Standard Series)


เมื่อปีที่แล้ว Free The Tone ออกก้อน Overdrive ที่เป็นรุ่นลายเซนต์ของมือกีตาร์สาย Blues/Jazz/Fusion ที่ชื่อว่า Matt Schofield ซึ่งเป็นมือกีตาร์ที่กำลังมาแรงในเวทีโลก และกำลังเดินสายทัวร์อยู่เพื่อโปรโมทอัลบั้มใหม่ ซาวด์ของ Matt เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เนื่องด้วยเขาเองก็ได้รับการยอมรับจากแอมป์ชื่อดังชื่อ Two Rock และได้ออกแอมป์รุ่นลายเซ็นต์กับค่ายนี้ และทาง Matt ก็ต้องการ Overdrive ดีๆ ที่จะนำมาใช้ทัวร์จึงได้เซ็นต์สัญญากับ Free The Tone มาเป็นรุ่นลายเซ็นต์ของเขา และเมื่อตัว Custom เลิกผลิตไปเมื่อปลายปี 2013 ที่ผ่านมา ทางแฟนเพลงกลุ่มที่ต้องการเล่น Overdrive ของ Matt ก็เรียกร้องให้ Free The Tone ผลิตออกมาใหม่ จึงเป็นที่มาของ MS-2V ตัวนี้ครับ

MS-2V เป็น Overdrive ที่น่าจะเรียกว่าเป็น Dynamic Overdrive ที่ดีมากๆ อีกก้อน ถึงแม้จะผลิตมาลงซีรี่ส์ Standard ของ FTT แต่ของที่เกิดจากค่ายนี้ ไม่ว่าซีรี่ส์ไหน ก็ไม่ธรรมดาแน่ๆ เจ้า MS-2V มากับบ๊อกซ์ที่คอมแพ๊คและลงสีแดงแบบเมทลิกสวยงาม มีปุ่มควบคุมแค่ 3 ปุ่ม คือ Level - คุมดังเบา Tone - คุมทุ้มแหลม และ Gain - คุมจำนวน Gain และใช้ไฟ 9vDC ที่ 90mA ที่ถือว่าค่อนข้างจะเยอะสำหรับ Overdrive 1 ก้อน แต่ด้วยการออกแบบที่กินไฟค่อนข้างมากนี้ ทำให้มีหลายสิ่งที่ Overdrive ทั่วๆ ไปทำไม่ได้ เช่น Headroom ที่เหลือเฟือ และ Dynamic Respond ที่ดีเยี่ยม


ผมทดสอบ MS-2V ด้วย James Tyler Studio Elite ไปออก Bogner : Barcelona + Bogner International 1x12 Cabinet หลังจากทดสอบแล้วพบว่าแคแรกเตอร์ของ 2V ไม่ต่างกับตัว Custom มากนัก แต่ด้วยความที่ใช้เกรดของอุปกรณ์ต่างกัน ทำให้เนื้อเสียงบางส่วนอาจจะหนาใหญ่ไม่เท่า แต่ยังเป็น Overdrive ที่ดีเยี่ยมเหลือเฟือ เมื่อเล่นที่ Gain น้อยๆ จะได้เสียงคลีนจากกีตาร์ค่อนข้างมาก แต่เสมือนว่าเคลือบด้วย Overdrive บางๆ และมี Clipping ที่ฟังสวย และเป็นกลุ่มเป็นก้อน MS-2V นี้สามารถเร่งขึ้นเป็น Mid Gain Overdrive ได้สบายๆ มี Gain Range ให้เลือกใช้เยอะ ถ้าคุณไม่ได้เล่นพวก Heavy Music เผลอๆ จะใช้เป็นแตกหลักก็ยังได้ครับ MS-2V เป็นอีกก้อนคุณภาพจาก Free The Tone ที่ไม่อยากให้คุณพลาดกันครับ

Clip from Paul Audia

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Kartakou : Warmer Od

สารภาพว่าผมไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีแบรนด์นี้ในโลก ตอนได้ทดสอบยังแปลกใจว่า เสียงมันเข้าท่าเลยนะ และเท่าที่ทราบราคามาก็มิตรภาพพอสมควร แบรนด์ที่ผมกำลังพูดถึงชื่อว่า Kartakou Amplifications รุ่น Warmer Overdrive หลังจากที่ได้มาทดสอบ ผมก็ลองหาข้อมูลดู ปรากฏว่าแบรนด์ Kartakou นี่มาไกลจากประเทศเบลารุส และ Warmer Overdrive เป็น 1 ใน 2 ก้อนที่ทางโน้นผลิต (อีกก้อนมีชื่อว่า BeastBox เดาว่าเป็นพวก Super Hi-Gain Distortion) และทางผู้ผลิตเองก็เป็นนักดนตรีและอยู่ในวงเมตัลชื่อดังของทางประเทศนั้นอีกด้วย 

เรามาว่ากันถึง Warmer Overdrive กันต่อ หลังจากแกะกล่องออกมา Warmer มากับ Box สีดำเข้ม (เข้าใจว่ามี  2 สี คือดำและแดง แต่ตัวที่ผมทดสอบเป็นสีดำ) พร้อมกับมีถุงใส่ chip มาให้อีก 4 ตัว ผมลองเปิดฝาหลังดู ปรากฏว่าเราสามารถเปลี่ยน Chip ใส่เองได้ด้วย และเสียงก็จะเปลี่ยนไปตาม Chip ที่ใส่เข้าไป (ผมทดสอบดูคือจาก 5 chips ที่มีมาให้นั้น สามารถใช้ได้ 3 ตัว ส่วนอีกสองตัวนั้น เงียบครับ) ตัวบ๊อกซ์ ก็ออกแบบได้สวยงามแบบเรียบๆ มี Volume - Gain - Tone ตามสไตล์โอเวอร์ไดร์ฟ และมี Toggle Switch ด้านข้าง 2 อันปรับแต่งย่านเสียงเบส และ กลาง/แหลมได้อีกนิดหน่อย จุดที่น่ารักของ Warmer อีกจุดคือมีไฟสวยๆ สว่างออกมาจากฐานของตัวเอฟเฟคต์ตอนเปิดใช้งานอีกด้วยครับ


ผมทดสอบ Warmer Overdrive โดยใช้ James Tyler Studio Elite ผ่าน Warmer ไปเข้าตู้แอมป์ Bogner : Barcelona + Marshall 2061cx Cabinet รู้สึกว่า Warmer เป็น Overdrive ที่มีเสียงมาตรฐานใกล้เคียงกับกลุ่ม Tube Screamer แต่ได้ Gain Range ที่กว้างกว่า ข้อดีที่ชอบคือ Noise น้อยพอสมควร เร่ง Gain มากๆ ก็เล่นพวก Rock ได้สบายๆ Toggle ข้างๆ ผมเปิดตัวที่เพิ่ม Mid/High เล่นเสียงจะฟังสว่างกว่า แต่ตัวเพิ่มเบสต้องปิดไว้ เพราะเล่นกับตู้ Bogner แล้วจะฟังบวมเล็กน้อย ปิดไว้พอดีกว่า ผมลองสลับจาก chip อันที่ติดมากับตัวก้อน ไปเป็นอีกตัวคือเบอร์ JRC4558D ตัวนี้จะฟัง Brown มากขึ้น Gain น้อยลงเล็กน้อย แต่ก้นใหญ่ขึ้นมาหน่อย แค่ได้สองเสียงแบบนี้ก็เรียกว่าคุ้มค่าแล้วครับสำหรับราคาแบบนี้ 

Kartakou : Warmer Overdrive ก็เป็นอีกก้อนที่เรียกว่าถึงจะยังมีชื่อเสียงไม่โด่งดังมากนัก แต่ถือเป็นก้อนที่กล้าคิดกล้าทำ มีมิติใหม่ในการออกแบบทั้งหน้าตาและเสียง ถ้ามีโอกาสก็ควรจะลองดูครับ น่าจะเป็นก้อน Overdrive ที่คุ้มค่าทีเดียว

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Majikbox : Rocket Fuel

ก้อนที่ผมจะเขียนถึงในบทนี้ เป็นก้อนที่ผมเล็งมาเป็นเวลานานพอสมควรครับ ตอนนี้ก็ได้ฤกษ์สอยมาเป็นของตัวเองเสียที เป็นก้อนที่เป็น Overdrive/Booster ที่เกิดมาเพื่อเป็น Overdrive/Booster แท้ๆ เลย และเป็นก้อน Signature ของมือกีตาร์ที่ผมชื่อชอบอีกคนนึง แบรนด์นี้เรียกว่าเป็นแบรนด์ดัง และเด่นของทางอเมริกาเขาเลย เพราะเป็นแบรนด์ที่มีนักกีตาร์ดังๆ ใช้เอฟเฟคต์เค้าอยู่หลายคน เช่น Paul Gilbert, James "Munky" Shaffer และยังมี Doug Aldrich คนที่ผมกำลังจะพูดถึงเอฟเฟคต์ซิกเนเจอร์ของเขานั่นแหละครับ เอฟเฟคต์ที่ว่านี้แบรนด์ชื่อว่า Majikbox USA และนี่เป็นปีที่ 5 แล้วครับ ที่ Doug Aldrich (Whitesnake, Dio) อยู่กับค่ายนี้ จึงมีรุ่นพิเศษ Limited Edition 5 Anniversary ออกมา เอฟเฟคต์เขาชื่อว่า Rocket Fuel : Overdrive/Booster 

Rocket Fuel เป็นเอฟเฟคต์ที่มี 2 แชนแนลในตัวมันเอง คือฝั่งซ้ายสุด มี 1 สวิทช์ กับ 1 ปุ่มหมุน (สีน้ำเงิน) เป็นฝั่งที่เป็น Clean Boost และอีกฝั่งที่เป็น Overdrive จะมี Volume/Tone/Gain และ 1 สวิทช์ ทั้งสองตัวทำงานอิสระแยกออกจากกัน จะเลือกใช้ฝั่งไหนก็ได้ ซึ่งเป็นข้อดีข้อนึงของพวก twin pedal แบบนี้ เพราะบางครั้งเราก็อยากใช้แค่ฝั่งเดียวในบางอารมณ์ และเจ้า Rocket Fuel นี้ถูกดีไซน์โดยมีไอเดียจากการที่ Doug ต้องการที่จะเลิกใช้ EQ/Effect แบบ Rack System และต้องการได้เสียงแบบนั้นในรูปแบบที่ Compact ทาง Majikbox เลย ออกแบบวงจรโดยให้เสียงของก้อนนี้ใกล้เคียงกับระบบ EQ/Effect Rack ของ Doug ที่สุดนั่นเอง


ผมทดสอบ Rocket Fuel โดยใช้ Gibson Les Paul Standard ร่วมกับ Bogner Ecstasy Blue และ Bogner : Barcelona - International 1x12 cabinet พบว่า ถ้าใช้ Rocket Fuel เป็น Overdrive เดี่ยวๆ เสียงจะออกเป็นพวก Overdrive ที่ฟังดูดุเดือดกว่าที่เราคุ้นๆ กัน เสียงออกค่อนไปทางคมๆ และเมื่อใช้ร่วมกับ Clean Boost จะแตกมากขึ้นอีกเล็กน้อย เข้าใจว่ามันไม่คลีน 100% แต่จะมี Gain นิดๆ เพื่อผลักให้มันแตกมากขึ้นอีกหน่อย สำหรับคนที่ชอบ Overdrive ละเมียดๆ นี่ Rocket Fuel ไม่ใช่แนวแน่นอน ต่อมา ผมทดสอบให้ RF เป็น Gain Boost ให้กับ Ecstasy Blue โดยเปิดให้ Ecstasy เป็นเสียงแตกไว้นิดหน่อยในโหมด Plexi แล้วจึงบู๊สซ้ำด้วย Rocket Fuel ตรงนี้ครับที่ผมประทับใจจนต้องจั่วหัวไว้ให้ว่าเป็นก้อนที่เกิดมาเพื่อเป็น Booster อย่างแท้จริง เพราะย่านเสียงที่ได้มานั่นมันไปละม้ายซาวด์ของ Doug มากๆ และได้ Distortion ที่แตกเนื้อๆ ได้ Gain ที่เพิ่มขึ้นมามาก แต่ฟังแล้วไม่มีอาการพีก (แตกเละๆ) จุดที่ชอบมากคือน๊อยส์หรือเสียงที่ไม่พึงประสงค์ก็มีน้อยอีกด้วย อีกจุดนึงที่ต้องพูดถึงคือสวิทช์ Bass Shift ที่จะมี 3 Steps ให้เลือกใช้ เป็นปุ่มที่ใช้เพิ่มลดย่านเบสว่าต้องการมากน้อยแค่ไหน 1 คือปกติ 2 เพิ่มเบสระดับที่ 1 และ 3 คือเพิ่มระดับ 2 และเยอะที่สุด ส่วนตัวผมชอบที่ Position 2 เพราะมันกำลังดี ไม่ล้นเกินไปครับ


Rocket Fuel จากค่าย Majikbox USA นี้เป็นมากกว่า Overdrive/Booster ธรรมดาครับ อยากให้ได้มีโอกาสลองกัน น่าจะเป็นมิติใหม่ของ Overdrive/Booster ที่ให้ย่านเสียงที่แตกต่าง ให้ Gain ที่แตกต่างไปจากก้อนๆ ที่เคยได้เล่นกันเลย เรียกว่าก้อนนี้ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน และทำให้เข้าใจเลยว่าทำไม Doug Aldrich จึงเลือกที่จะมี Rocket Fuel ในบอร์ดของเขา

Doug Aldrich ทดสอบ Rocket Fuel

Bogner Ecstasy Blue + Majikbox Rocket Fuel



วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Royal Blue Overdrive

ช่วงนี้มีก้อนใหม่ๆ ตกถึงมือเยอะเหลือเกินครับ ต้องค่อยๆ ทะยอยๆ ทดสอบกันอย่างละเอียด ผมถึงเขียนติดๆ กัน ไม่อยากจะดองของดีๆ ไว้นานครับ วันนี้ผมได้ทดสอบ Overdrive ก้อนใหม่จากค่าย Mad Professor ที่โด่งดังติดตลาดกันอยู่แล้ว เชื่อขนมกินได้เลยว่าเมื่อแบรนด์นี้ออกวางตลาด เราต้องได้ยิน ได้ฟังอะไรใหม่ๆ แน่นอน

วันนี้ผมได้ก้อนที่ชื่อว่า Royal Blue Overdrive มาทดสอบ จะว่าไปก้อนนี้มันก็ไม่ค่อย Blue ครับ ตัวสีออกม่วงๆ หน่อย โดยมีโลโก้และชื่อแบรนด์เป็นสีทองสกรีนอยู่ ผมดูแล้วชวนให้นึกถึง Marshall Plexi สีม่วงเลยครับ ผมเข้าใจว่าน่าจะมีความตั้งใจให้ออกมาแนวๆ นี้ ขนาดก็ compact ก้อนเล็กๆ สไตล์ Mad Professor นั่นแหละครับ ตัว Royal Blue Overdrive มาด้วยเลย์เอาท์การควบคุม 4 ปุ่ม Volume - ดัง/เบา Drive - จำนวน Overdrive และมี Bass/Treble ควมคุมทุ้มกับแหลม 


ผมทดสอบ Royal Blue Overdrive โดยใช้ Gibson Les Paul Standard เล่นผ่าน Royal Blue Overdrive ไปออกแอมป์ Bogner : Barcelona และ Bogner Internatial 1x12 Cabinet เสียงที่ได้มานั้น ผมมั่นใจว่าเข้าใจไม่ผิดแน่นอนครับ ถึงจะเรียกว่าเป็น Overdrive แต่ Royal Blue ทำหน้าที่เป็น Distortion เต็มๆ ได้เลย และมีโทนเสียงกระเดียดไปทาง Marshall JCM800 หรือพวก Plexi ที่ผ่านบู๊สแตกได้ระดับนึง ผมนึกถึงเสียงกีตาร์ของ Slash หรือวงพวก Hair Band ในยุค 80s ได้เลย ไม่ธรรมดาครับ สำหรับก้อนนี้ ปุ่มควบคุมย่านเบส และ แหลม มีผลต่อเสียงกีตาร์ของคุณมากๆ ถ้าปรับให้ได้ sweet spot ให้เข้ากับกีตาร์กับแอมป์ของคุณแล้ว เล่นเพลินๆ ได้ยาวๆ เลยทีเดียว ส่วนที่ผมชอบมากๆ คือถ้าคุณปรับ Drive น้อยๆ เค้าจะทำหน้าที่เป็น Overdrive ที่ Brown นิดๆ ได้ดีมาก แต่ถ้าเร่ง Drive ไปที่ราวๆ บ่ายสามโมง บวกวอลลุ่มดังอีกหน่อย รับประกันว่ามันส์สะแด่วแห้ว ปรกติ Overdrive ที่แตกเยอะ เวลาเล่นสายบนๆ มักจะเละๆ หน่อย แต่ในก้อนนี้ไม่เป็นเลยยังคงคมชัด คล้ายๆ กับเราเล่น Distortion ดีจากๆ หัวแอมป์ ยังไงยังงั้นเลย



Royal Blue Overdrive เป็นอีกก้อนที่คุณน่าจะได้ลองสัมผัสดู เค้าเป็นก้อนที่อาจจะมาสาย Marshall อีกก้อน แต่ผมเชื่อว่ามีเสียง และย่านเสียงที่คุณไม่เจอในก้อนไหนแน่ๆ และราคาจากตัวแทนจำหน่ายในบ้านเราก็ไม่ได้แพงอะไรครับ 

Clip from Mad Professor

Pete Cornish : G-2


เมื่อเร็วๆ นี้ผมเพิ่งได้ก้อนเสียงแตกใหม่มาก้อนหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วแบรนด์นี้ก็มีชื่อเสียงโด่งดังมานานมากๆ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมกันในบ้านเรา ก็คงเพราะว่าราคาที่ค่อนไปทางสูงและไม่ค่อยมีร้านค้าที่ไหนมีของ และถ้าสั่งกับทางโรงงานเอง ก็ต้องรอเป็นเวลานานมากๆ เป็นเหตุให้พ่อค้าหัวใสบนอีเบย์ปล่อยขายได้ในราคาที่สูงเกินจริง แบรนด์ที่ว่านี้คือ Pete Cornish แต่ในปัจจุบันนี้ทางโรงงานปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และนำเอาลูกชายของเขาเองมาช่วยงานแล้ว การผลิตจึงทำได้รวดเร็วขึ้น (ถึงจะรวดเร็วขึ้นก็ยังต้องรอหลัก 3 เดือนอยู่ดีครับ)

Pete Cornish ดังอย่างไร? หลายท่านที่บังเอิญมาอ่านบทความของผมอาจจะสงสัยแบบนี้ ก็ต้องบอกว่ามีชื่อเสียงอย่างมากๆ ครับ Pete Cornish ทำ Custom Effects และ Custom Pedalboard ให้กับศิลปินดังๆ มากมายหลายคนเลยทีเดียว เช่น David Gilmour จาก Pink Floyd, Brian May จาก Queen หรือจะมารุ่นใหม่ๆ หน่อยก็จะเป็น Noel Gallagher จาก Oasis และล่าสุดก็คือ John Mayer ศิลปินเหล่านี้คงจะการันตีแล้วว่า Pete Cornish ดีอย่างไร

แต่เริ่มแรกนั้น ส่วนตัวผมเองก็ยังเลือกไม่ถูกว่าอยากสั่งอะไรมาเล่น แต่ได้ยินว่ารุ่น P-1, P-2 นั้นดังมากมายาวนานเนื่องจาก David Gilmour ใช้มายาวนาน หลังจากไปอ่านสเปกอ่านข้อมูลอยู่เลยตัดสินใจสั่งรุ่นที่ชื่อ G-2 มา เนื่องเพราะฟังว่ามีคุณสมบัติเหมือนเสียงแอมป์ในยุค 70s มีการอ้างอิงเสียงกีตาร์ของวง Led Zeppelin, Rolling Stones ซึ่งเป็นวงโปรดของผมอยู่แล้ว ผมใช้เวลาราวๆ 3 เดือนรอ G-2 ส่งมาถึงบ้าน ผมเลือกสั่งรุ่นหน้าตาใหม่ที่เรียกว่า Battery Free เพราะมีขนาดเล็กลง และสุ้มเสียงนั้นเหมือนกัน เนื่องเพราะใช้วงจรเดียวกัน แต่ตัดส่วนที่ใส่ถ่านออกไป

G-2 มากับบ๊อกซ์สีดำที่เรียบง่าย หน้าตาเหมือนกับเครื่องมือทหารในสมัยก่อน ดูเท่ห์ไปอีกแบบ ใช้ Knobs หมุนแบบแอมป์เฟนเดอร์เก่าๆ หล่อๆ มีปุ่มควบคุมกันแค่ 3 ปุ่มคือ Volume คุมเสียงดัง/เบา Tone คุมย่านเสียงทุ้ม/แหลม และ Sustain คุมจำนวน Distortion ของก้อน ง่ายๆ ครับ สวิทช์เปิดปิดนั้น ทาง Pete Cornish นั้นใช้แบบ Buffer เนื่องจากเค้าเคยให้ความเห็นไว้ว่า True Bypass ไม่ใช่ของที่ดีเสมอไป บางครั้งการที่เราลากสายยาวๆ แล้วทั้งบอร์ดเป็น True Bypass ทั้งหมดนั้น ทำให้เราสูญเสียสัญญาณบางส่วนไปอย่างน่าเสียดาย 



ผมทดสอบ G-2 ด้วยกีตาร์ Gibson Les Paul Standard ผ่าน G-2 ไปเข้าแอมป์ Bogner : Barcelona - International 1x12 Cabinet พบว่าเสียงของ Distortion ที่ได้จาก G-2 นั้นมันจะเป็นลักษณะของเสียงแตกที่มีย่านโลว์คล้ายๆ Fuzz แต่จะแตกแบบ Distortion ที่เราคุ้นๆ กันตามแผ่นเสียงของพวก 70s , 80s Rock, Hard Rock ผมมาถึงบางอ้อก็ตอนที่อีเมล์กลับไปถามเค้าว่า G ย่อมาจากอะไร ซึ่งเค้าตอบว่า Germanium ครับ แสดงว่า G-2 นั้นเป็น Distortion ที่ใช้ Germanium Transistor มากกว่าจะใช้ชิพพวก 4558 ปรกติ หรือพวก LM308N ทั่วไป และการใช้ Germanium จะได้เอกลักษณ์ที่มีความอิ่มนวลของเสียงแตกดีทีเดียว อีกจุดที่ผมพอใจมากคือ ความสว่างของเสียงนั้นเปิดมากกว่าเอฟเฟค Distortion อื่นๆ ที่ผมเคยเล่นมา ผมลองวัดกับอีกหลายๆ ตัว เปรียบได้ว่าตัวอื่นๆ เหมือนเราเอาหมอนไปปิดหน้าตู้ไว้ จะฟังอู้ๆ กว่า G-2 พอสมควรทีเดียวครับ 



Pete Cornish G-2 เป็นก้อน Distortion ที่ดีมากๆ อีกก้อนนึง ที่ถ้าคุณมีโอกาสได้สัมผัส หรือเป็นเจ้าของ ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เข้าใจว่าบ้านเราไม่มีตัวแทนจำหน่ายครับ ถ้าคุณสนใจอยากได้ ก็ไปลงชื่อสั่งซื้อได้เลยที่ www.petecornish.co.uk ครับ