วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Kingbee T-Std TVJones


นี่เป็นครั้งแรกบนบล๊อกของผม ที่นำเอากีตาร์แบรนด์ Custom จาก USA มาเขียน (ในนิตยสาร The Guitar MAG ผมเคยเขียนแนะนำกันไปบ้างแล้ว) หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับกีตาร์แบรนด์นี้ แต่ทางฝั่ง US แล้ว ในกลุ่มคนเล่นกีตาร์ Custom แบบนี้ Kingbee Guitars กำลังเป็นอีกแบรนด์ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการทำกีตาร์ที่มีความหลากหลาย ถึงแม้ว่าจะอยู่ในทรงของกลุ่ม F Guitars เป็นหลัก แต่เนื่องด้วยวิธีการทำ Finishing ที่หลากหลาย ก็ทำให้ Kingbee Guitars เป็นกีตาร์ที่มาแรงขึ้น



Kingbee Guitars นี้เป็นกีตาร์ที่ผ่านการทำจาก Mr.Andy Louis Vargadoz จาก Texas, USA โดยเริ่มต้นจากคอนเซปท์กีตาร์แบบ Relic หรือทำให้เก่า ผ่านการเล่นมากหนักๆ เทรนด์กีตาร์ลักษณะนี้มาแรงมากในปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ เสียด้วย ผมได้รับกีตาร์ Kingbee ที่เพิ่งมาใหม่เอี่ยมๆ เพิ่งถึงเมืองไทยสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2555 นี้เอง ก็นำมาทดสอบกันเลยครับ



เจ้า Kingbee ตัวนี้ เรียกว่า T-Standard with TV Jones Pickups ก็คือเป็นรุ่นสแตนดาร์ต และติดปิ๊กอัพที่เรียกว่า TV Jones มา หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินปิ๊กอัพแบรนด์นี้ จริงๆ TV Jones เป็นปิ๊กอัพที่มีชื่อเสียงมากอยู่แล้ว ด้วยทำปิ๊กอัพที่ให้เสียงฟังแปลกหูกว่าทั่วๆ ไป ถ้าเคยได้ยินเพลงประเภท Rockabilly หรือได้ยินเสียงจากกีตาร์ Gretch มาบ้าง ก็คงพอนึกออก หน้าตาของเจ้า T-Standard ตัวนี้ก็เป็น T-Style ที่ทำสี Sea Foam Green พร้อมทั้งมี Relic และ Closet Classic มาพร้อมๆ กัน ดูสวยงามมากทีเดียว ปิ๊กอัพก็เป็น TV Jones รุ่น Supra'Tron ตัว Neck และ Filtertron ตัว Bridge ดูแปลกตา และ สวยงามมาก น้ำหนักของกีตาร์ก็อยู่ในระดับกลางๆ ไม่เบา แต่ไม่หนัก สเปกส์ก็เป็น Alder Body และ Maple "Quater-Sawn" Neck


ผมทดสอบ Kingbee ตัวนี้ผ่าน Bogner Shiva 6L6 + Bogner Shiva 2x12 Cabinet และผ่าน FX Providence: Silky Drive และ Mad Professor: Deep Blue Delay พบว่าเสียงของ Kingbee ตัวนี้ฟังแปลกประหนึ่งเหมือนเรากำลังเล่นกีตาร์แบบ Hollowbody อยู่เลย น้ำเสียงฟังโปร่งๆ โดยเฉพาะปิ๊คอัพหน้า Supra'Tron น้ำเสียงฟังอวบอิ่มมีน้ำมีนวล ไม่หนาใหญ่ตัน แต่อวบกำลังดี (ผมกำลังพูดถึงเสียงกีตาร์นะครับ !!) ส่วน Filtertron ตัว Bridge นั้น จะออกแนวแซ่บๆ จี๊ดๆ จ๊าดๆ เสียงกลางค่อนข้างก้าวร้าว ย่านเบสน้อยกว่าเล็กน้อยและมีย่านแหลมที่คมจิก เหมาะกับการใช้งานที่ค่อนข้างหลากหลายสไตล์


Kingbee เป็นกีตาร์คัสตอมเมดจาก US อีกแบรนด์หนึ่งที่น่าหาโอกาสมาทดสอบให้ได้ครับ ด้วยความแปลกและกล้าแตกต่างในการใช้ component ต่างๆ ที่ ได้ผลลัพท์ที่แตกต่างแต่ไปทางที่ดีมากๆ ทั้งงาน Relic ที่สวยจริงๆ การคัดไม้ที่นำมาใช้ทำกีตาร์ก็มีความรู้จริงและมี know how อย่างจริงจัง ในราคาแบบนี้ ได้กีตาร์คุณภาพนี้ ถือว่าเหมาะสมครับ


วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Bogner Uberschall



Avenged Sevenfold, Jim Root, Anthrax, Disturbed, Mark Tremonti ชื่อเหล่านี้ คนรักเพลงหนักกระโหลกแบบ Metal คงจะรู้จักกันดี ชื่อเหล่านี้มีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งครับ คือทั้งหมดนี้ใช้แอมป์พลิฟายด์แบรนด์และรุ่นเดียวกันในการบันทึกเสียงหรือแสดงสด ผมกำลังหมายถึงแอมป์พลิฟายด์ที่เป็น Super Hi Gain อย่าง Uberschall จากค่าย Bogner Amplification

Uberschall เป็นภาษาเยอรมันที่หมายถึงคำว่า Supersonic ในภาษาอังกฤษ และในภาษาไทยก็หมายความว่า "เหนือเสียง" ผมเข้าใจว่ามิสเตอร์ Reinhold Bogner พยายามจะตั้งชื่อให้มันดูทรงพลังเข้ากับแอมป์พลิฟายด์รุ่นที่ให้เสียงหนักหน่วงที่สุดในไลน์ผลิตของ Bogner นั่นเอง

มาว่ากันถึงตัวแอมป์พลิฟายด์กันดีกว่า ต้องบอกก่อนว่า ถ้าคุณมีโอกาสได้เล่นแอมป์มาจำนวนหนึ่ง คุณอาจจะพบว่า Bogner Amps นี้มีน้ำหนักที่มากกว่าชาวบ้านอยู่บ้าง ถึงแม้จะเป็นแค่หัวแอมป์ แบบไม่รวมแคบบิเนต (ลำโพง) ก็เถอะ นั่นเป็นเพราะว่า Bogner ใช้เหล็กที่ค่อนข้างหนาพับทำส่วน Chasis ของแอมป์ เพื่อความทนทาน เรียกว่าหล่นลงพื้น ก็ยังยกกลับมาเล่นได้แบบไม่สะทกสะท้าน เจ้า Uberschall นี่ก็เหมือนกัน เฉพาะหัวก็มีน้ำหนักราวๆ 25 กิโลกรัม

ผมลองทดสอบ Bogner Uberschall เพียวๆ กับกีตาร์ 2 ชนิด คือติดปิ๊กอัพคนละแบบทั้ง Passive และ Active โดยใช้ทั้ง Suhr Reb Beach Model และ Ibanez J-Custom (EMG และ Dimarzio) มาดูที่แผงหน้าของแอมป์แบ่งฝั่งชัดเจนระหว่างเสียงแชนแนลคลีน และ แชนแนลไดร์ฟ ทุกๆ ปุ่มปรับมีผลไว และมีช่วงเสียงที่กว้างมากอยู่ ทำให้ปรับได้หลากหลายมาก การควมคุมการเปลี่ยนแชนแนล ทาง Bogner ก็มี Footswitch มาให้ใช้หนึ่งอัน และหลังจากทดสอบแล้ว ก็พบว่าเจ้า Uberschall นั้นเรียกว่าเป็นแอมป์ชนิด Gain Monster จริงๆ จุดเด่นๆ ของเขาอยู่ที่เสียงดิสทรอชั่นที่มากมายมหาศาล ย่านโลว์เอนด์ที่กระชับ แน่น คนที่เล่นดนตรีแนว Metal น่าจะพบว่า เสียงที่ได้มาจากกีตาร์ของคุณๆ นั้นชัดครบทุกเม็ด ฮาร์โมนิคกำเนิดง่าย และปรกติถ้าได้เล่นแอมป์ประเภท Gain เยอะๆ จะรู้สึกเสียงคลีนไม่ค่อยเพราะนัก แต่ไม่เกิดขึ้นกับเจ้า Uberschall เพราะว่าเสียงคลีนของ Uber นั้น ยังถือว่าอยู่ในเกณท์แจ๋วมาก สำหรับแอมป์แบบ Hi Gain เยี่ยงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวกีตาร์ที่เลือกมาซบอก Uberschall ก็ไม่น่าจะสนใจไยดีกับเสียงคลีนนัก เพราะว่าเล่นแชนแนลเสียงแตกมันมันส์สะใจกว่า จุดเด่นอีกจุดสำหรับ Uberschall ก็เห็นจะไม่พ้นเจ้าแคบบิเนตที่มาคู่กัน ทาง Bogner เรียกเจ้า 4x12 ตัวนี้ว่า Uber Kab (Uberschall Cabinet) ซึ่งเป็นแคบบิเนตลำโพงที่ถูกออกแบบมาให้เข้ากับเจ้า Uber ด้วยดีไซน์ที่ดูลึกกว่ารุ่นทั่วไป เพื่อตอบสนองย่านเสียงเบสได้ลึกกว่าปรกติ


สำหรับนักกีตาร์สายโหด สายหนัก Uberschall น่าจะตอบสนองความโหด ดิบ เถื่อนได้อย่างเหลือเฟือครับ สำหรับหนึ่งในบูติกแอมป์พลิฟายด์ที่เจ๋งที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก อยากให้ได้ลองกันครับ :)

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Instrument Cables

จะว่าไป สิ่งที่นักกีตาร์อย่างเราๆ สนใจกันมากๆ ก็เห็นจะไม่พ้นเรื่องของเสียง และ โทนเสียงกีตาร์ที่เราเล่นออกผ่านแอมป์สุดเลิฟ หรือบางกรณีก็อาจจะเป็นแอมป์ ณ ที่ทำงาน ส่วนสำคัญมากๆ ส่วนหนึ่งที่เราจำต้องคำนึงถึง ก็ได้แต่สิ่งยาวๆ (หรือสั้นๆ ในบางกรณี) ที่เรียกว่าสายสัญญาณ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Instrument Cable นั่นเอง มองผ่านๆ เข้าไปในตลาดสายเคเบิ้ล หลายคนคงงงว่าไอ่เคเบิ้ลราคา 400 กับ 4000 มันมีความต่างกันจริงๆ หรือ? แล้วถ้าต่าง มันต่างกันอย่างไร? ผมจะมาเล่าเรื่องพรรค์นี้ให้ฟังกันครับ แต่จะว่ากันตามประสบการณ์ที่ได้เล่น ได้ลองมานะครับ

สายสัญญาณเนี่ย มีหน้าที่หลักๆ ก็คือใช้ในการนำสัญญาณกีตาร์ของเราที่รับแรงสั่นจากปิ๊กอัพ ผ่านทางวงจรกีตาร์แล้วผ่านเข้าสายสัญญาณก่อนจะผ่านไปสู่แอมป์พลิฟายด์​ (บางกรณีก็ผ่านบอร์ดเอฟเฟคต์ก่อน) ดังนั้นเจ้าสายสัญญาณจึงเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มีผลต่อเรื่องเสียงโดยตรง (จริงๆ สายอะไรที่มีส่วนผสมของทองแดง ในความยาวเท่าๆ กัน จะนำสัญญาณได้เหมือนกันแหละครับ) แล้วทำไมราคาสายสัญญาณแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นมันจึงถูกหรือแพงไม่เท่ากันมันเป็นเพราะอะไร? คำตอบนั้นมีได้หลายจุดครับ ยกตัวอย่างเช่น

Connector Plug: หรือหัวแจ๊คนั่นเอง จุดนี้ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นจุดสัมผัสระหว่างตัวส่งสัญญาณจุดแรกไปจนถึงจุดท้ายสุด ปรกติเราจะได้ยินว่าหัวทอง หัวเงินดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว ทองแดงนี่แหละครับที่นำสัญญาณได้ดีกว่าชาวบ้าน บางบริษัทจึงทำหัวทอง/เงินออกมาเพื่อความสวยงาม แต่มีจุดสัมผัสเป็นทองแดง หรือเรียกแบบฝรั่งๆ ว่า Copper Core นั่นเอง

Copper Quality: คุณภาพของทองแดงที่นำสัญญาณก็เป็นอีกจุดที่ผมเห็นว่าผู้ใช้มองข้าม จริงๆ ถ้าเราสังเกตุอุปกรณ์ที่เกี่ยวการนำสื่อสัญญาณหลายๆ ชนิด จะเห็นว่าส่วนผสมที่เป็นทองแดงส่วนใหญ่จะใช้คุณภาพต่างๆ กัน (เช่นทองแดงที่ใช้พันปิ๊กอัพกีตาร์​ / สายสัญญาณคอมพิวเตอร์ และที่ฟังกันชัดที่สุดก็คือสายสัญญาณนำเสียงนี่แหละครับ)

Insulation: หรือฉนวนนั่นเอง เจ้าฉนวนนี้ ก็มีหน้าที่หลักๆ ที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเล็กๆ ที่น่ารำคาญที่เรียกว่า Noise หรือเสียงรบกวน เนื่องเพราะทองแดงที่ถูกนำสัญญาณนั้นเป็นสิ่งที่ถูกรบกวนได้ง่ายจากคลื่นแม่เหล็ก หรือ คลื่นไฟฟ้าอื่นๆ จากภายนอก การห่อหุ้มด้วยฉนวนจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสายสัญญาณ การที่เราเสียบกีตาร์เข้ากับแอมป์ แล้วเจอเสียงรบกวนน้อยลง การใช้สายดีๆ ที่มีการสร้างฉนวนหุ้มดีๆ ก็มีผลอย่างมากครับ ที่ทำให้สัญญาณกีตาร์ของเราคลีนขึ้น เคลียร์ขึ้น และลดเสียงรบกวนได้มากโข


ต้องทำความเข้าใจกันนิดหนึ่งก่อนครับ ในเรื่องเสียงที่ผ่านสายสัญญาณ ที่เราๆ ท่านๆ มักจะบอกว่ายี่ห้อนี้แหลม ยี่ห้อนี้บวมเบสเยอะ หรือยี่ห้อนี้เสียงกลางหนา จริงๆ การนำสัญญาณจากต้นทางไปปลายทางในทางทฤษฎีจะได้ 100% ทุกๆ ย่านนั่นแหละครับ เพียงแต่สายสัญญาณที่เราใช้ จะตอบสนองย่านไหนได้เร็วกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เราได้ย่านเสียงแหลมมากเกิน นั่นหมายถึง สายสัญญาณนั้น นำสัญญาณย่านเบส หรือ Low Frequency ได้ไม่ดีนัก และในทางกลับกันถ้าเสียงเบสมาหนักกว่า เสียงออกขุ่น แสดงว่าสายสัญญาณนั้นๆ นำสัญญาณด้านแหลม หรือ Hi Frequency ได้ไม่ดีนัก แต่ที่แน่ๆ สายสัญญาณที่คุณภาพดีๆ (ส่วนใหญ่ราคาจะไม่น่ารักนัก) จะแทบไม่มีปัญหาแบบนี้ คือนำสัญญาณได้ครบทุกๆ ย่าน ฟังโปร่ง สบายหู และไม่รู้สึกอึดอัด จริงๆ การทดสอบทำได้ง่ายๆ และวัดกันได้ที่ความยาวเพียง 20 cm ก็ฟังรู้เรื่องแล้วครับ

อ่านมาทั้งหมดแล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อผมนะครับ ผมอยากจะแนะนำให้คุณไปลองให้รู้แจ้งเห็นจริงก่อน เพราะเรื่องของสายสัญญาณนั้น เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ตอบสนองการดีดของคุณ และการฟังของคุณเอง ถ้าคุณฟังไม่ออก ผมก็แนะนำง่ายๆ ว่าอย่าไปซื้อมันครับ เพียงแค่อยากให้เปิดใจทดสอบสายสัญญาณหลายๆ ยี่ห้อ หลายๆ ระดับ คุณจะรู้แจ้งเห็นจริงเองนั่นหละ ว่ามันมีผลกับซาวด์ กับ โทนของคุณขนาดไหน :)




วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Bogner History

ชื่อ Bogner Amplification หลายๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยินได้สัมผัสมาก่อน ด้วยความที่บูติกแอมป์แบรนด์นี้ อาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในบ้านเรานัก แต่ถ้าข้ามไปฝั่งอเมริกา หรือ ยุโรป แม้กระทั่งในญี่ปุ่น Bogner Amplification เป็นแอมป์แบรนด์หนึ่งที่โด่งดังมากๆ และถือกันว่าเป็นแอมป์พลิฟายด์ในแบบฉบับ "บูติก แอมป์" แบรนด์แรกๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Eddie Van Halen / Steve Vai / Jerry Cantrell ในยุคแรกๆ หรือมาช่วงหลังๆ ก็มีคนกีตาร์ระดับสตาร์เช่น Dave Kushner / Wes Borland / Neil ZaZa / Avenged Sevenfold / Mark Trimonti ไว้ใจนำเอาแอมป์จากค่าย Bogner ไปใช้งานทั้งในสตูดิโอ หรือ แสดงสด

ว่าแต่ Bogner นี่เป็นใครมาจากไหน ก่อนจะไปทำความรู้จักกับแอมป์พลิฟายด์ของเขา เรามาเรียนรู้ถึงประวัติเขาสักเล็กน้อยก่อนดีกว่าไหมครับ มิสเตอร์ Reinhold Bogner นี่แต่เดิมเป็นชาวเยอรมันที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากยุโรปมาสู่ Los Angeles ณ สหรัฐอเมริกาในปี 1989 และเริ่มต้นอาชีพในอเมริกาด้วยการซ่อมแซมและโมดิฟายด์แอมป์ให้กับลูกค้า และชื่อลูกค้าอันดับต้นๆ ของ Bogner  ก็มีชื่อของ Eddie Van Halen และ Steve Vai ที่ไว้วางใจให้ Bogner โมดิฟายด์ให้ และผลคือ Eddie ชอบแอมป์ #1 Marshall Plexi ที่ทาง Bogner โมให้มากๆ ชื่อเสียงของ Reinhold Bogner ก็ถือกำเนิดบนฝั่งอเมริกาตั้งแต่วันนั้น


ในช่วงแรกๆ ทาง Bogner Amplifications ก็ยังทำงานส่วนใหญ่เป็นการซ่อมและโมดิฟายด์แอมป์อยู่ จนกระทั่งในปี 1994 จึงออกโปรดักต์ตัวสำคัญออกมา คือ Bogner "FISH" Preamp โดยผลิตออกมาเพียงแค่  40 ชิ้น โดยได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือกีตาร์ชื่อดังอย่าง Jerry Cantrell ยังนำเอา Fish Preamp ไปใช้งานอัดเสียงอัลบั้ม Facelift ที่โด่งดังของวง และนำไปใช้งานแสดงสดอีกด้วย (ส่วนตัวผมชอบอัลบั้มนี้มากๆ We Die Young และ Man In The Box อย่างมันส์) ปัจจุบันนี้ Fish Preamp ที่ผลิตในปี 1988-1990 นั้น ขายกันบน e-bay อยู่ที่ราคาถึง $5000 เลยทีเดียว

ปัจจุบันนี้ Bogner Amplifications ก็ได้ผลิตและพัฒนาแอมป์พลิฟายด์ออกมาอีกมากมายหลากหลายรุ่น ที่ตาม Fish Preamp ออกมา ก็จะเป็นรุ่นที่สร้างชื่อให้ Bogner เพิ่มขึ้นไปอีกเช่นรุ่น Treple Channel อย่าง  Ecstacy (มือกีตาร์หลายๆ คนที่เราชื่นชอบใช้งานรุ่นนี้ เช่น Steve Vai / Gary Moore / Tak Matsumoto) หรือเป็นรุ่นที่เป็น Double Channel เช่น Shiva ที่มีคนกีตาร์แจ๋วๆ อย่าง Keith Urban / Mark Trimonti เอาไปใช้อัดเสียงทั้งในอัลบั้มของ Creed และ Alterbridge และล่าสุดอัลบั้มเดี่ยวของเขา หรือจะเป็นรุ่นที่เอาใจขาเมทัล Uberschall ที่วงเมทัลรุ่นใหม่มาแรงอย่าง Avenged Sevenfold / Funeral For A Friend / Stone Sour นำไปใช้อย่างกว้างขวางแพร่หลาย ทุกวันนี้ Bogner Amplification ก็ออกแอมป์มาหลากหลายรุ่น แต่ละรุ่นก็มีความน่าสนใจแตกต่างกัน ผมจะเลือกนำมาแนะนำกันในคราวต่อๆ ไปนะครับ