วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Mighty Red Revisited

หลังๆ ไปเจอคำถามยอดฮิตมาคำถามหนึ่ง ก็คือ Mad Professor นั้นผลิตก้อนเสียงแตกออกมาเป็นสอง Series นั่นก็คือ Handwired (HW) และ Factory (PCB) จึงเกิดคำถามว่า สอง Series นี้มันแตกต่างกันยังไงเพราะราคานั้นผิดกันแบบ 30%-40% เลย วันนี้ผมเลยจะหยิบประเด็นนี้มาเล่าให้ฟังกัน ตอนนี้ในมือผมมีรุ่น Mighty Red Distortion ซึ่งเป็นรุ่นยอดฮิตเลย และมีทั้งสองแบบคือ HW และ PCB 


เรามาว่ากันถึงความแตกต่างทางรูปลักษณ์กันก่อนครับ HW จะมากับกล่องขาว และติดสติ๊กเกอร์แบรนด์และรุ่น ดูมีความเป็น Boutique เต็มรูปแบบ เปิดกล่องออกมาจะมีแผ่นพับอธิบายการใช้งานอย่างละเอียด ตัวก้อนจะมีน้ำหนักมากกว่า มีการสกรีนเคลือบสีมี Texture และหนากว่า และมีช่องเสียบไฟเป็นลักษณะกลม ส่วน PCB จะมากับกล่องที่ดูเป็น Mass Production หน่อยครับ มีสกรีนรูปก้อนสวยงาม ตัวก้อนจะเบากว่า การลงสีบนก้อนจะดูบางกว่า และช่องเสียบไฟจะเป็นสี่เหลี่ยมเสมอกับตัวก้อน และน้ำหนักเบา


ผมเคยสอบถามทาง Harri เจ้าของ Mad Professor ก็ได้ความว่า HW นั้นจะเป็นการเชื่อมวงจรโดยการใช้มือทำ และใช้ Circuit Board ชนิดราคาสูง และ Components ต่างๆ ก็จะใช้แบบ Military Grade ทั้งสิ้น ส่วน PCB นั้นจะผลิตโดยใช้เครื่องจักร และลด Cost ลงมา เพื่อให้นักกีตาร์ที่สนใจอยากใช้งาน Mad Professor แต่ไม่มีงบไปซื้อหา HW จะสามารถได้ใช้งาน PCB ทดแทนกันได้ เพราะเขามั่นใจว่า Character นั่นเหมือนกัน 

ผมทดสอบ Mighty Red Distortion กับ Kiesel V6 ผ่าน MRD PCB/HW ไปออก Bogner ATMA / ATMA 1x12 พบว่า Character ของ MRD นั้น ยังคงไว้เนื้อเชื่อใจได้ ในแบบ British Distortion มีย่านเสียงเบสหนักแน่น เสียงกลาง Scoop นิดๆ และย่านแหลมฟังสดใส แต่ไม่บาดหู ส่วนที่แตกต่างที่ฟังออกได้คือ HW จะมีโลว์เอนด์ที่หนักหน่วงเป็นลูกๆ มากกว่า ในขณะที่ PCB มี Gain เยอะกว่าแต่เบสไม่แน่นเท่า ย่านเสียงกลางพอๆ กัน และ Texture ของ HW จะฟังสุภาพกว่า ในขณะที่ PCB ออกดิบๆ กว่าหน่อย ส่วนตัวแล้วสำหรับผม HW จะฟังดูเป็น British Distortion ที่ดุแต่ไม่ดิบ ในขณะที่ PCB อาจจะไม่ลุ่มลึก แต่เถื่อนสาดกว่าครับ ชอบแบบไหน ต้องไปลองเอาเองเลยครับ ดีทั้งคู่

** คลิปเปรียบเทียบจะทะยอยตามมาครับ ตอนนี้ชมคลิปทดสอบเสียงจาก Mad Professor ไปก่อน **


วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Bogner : La Grange

     ช่วงหลังๆ นี้กระแส Hi-End Multi-Effects มาแรงมากครับ หลายค่ายทำ Multi-Effects ดีๆ ออกมาให้เล่นกันเยอะเลย คนเล่นก้อนก็อาจจะดูหงอยๆ ไปบ้าง แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทผลิต Boutique Amp ที่มีชื่อเสียงคือ Bogner Amplifications ได้ออกก้อนใหม่ออกมา ที่จริงข่าวว่าจะออกก้อนนี้มาตั้งแต่ช่วง NAMM Show ปี 2014 โน่นแล้ว มีโปรโตไทป์ออกมาให้น้ำลายหกกัน แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่ออกมาซะที จนเนี่ยครับ เมษายนปีนี้เอง Bogner ได้ฤกษ์ออกก้อน Overdrive/Distortion/Boost ที่เรียกว่า La Grange มาจนได้


Bogner ตั้งคอนเซปท์ก้อนนี้ไว้ว่า Texas Meets British ครับ เท่าที่ตามข่าวดู ทางผู้ผลิตตั้งใจจะให้เป็นก้อน Overdrive/Distortion ที่มีความหลากหลาย และพยายามจะจับทางเสียงแอมป์ที่ตัว Reinhold Bogner เคยโมดิฟายด์ไว้ในช่วงต้นยุค 80s และจาก Helios ที่ Bogner เพิ่งออกเป็นแอมป์มาเมื่อสองปีก่อน

La Grange มากับกล่องดีไซน์ใหม่สวยงาม และตัวเอฟเฟคต์เป็นสีทองสวยงามเลยทีเดียวครับ มีปุ่มควบคุมทั้งหมดที่หน้าตัวก้อน 5 ปุ่ม และ 4 Toggle Switch และปุ่มเหยียบอีก 2 ปุ่ม การควบคุมเข้าใจไม่ยากครับ มี Volumn คุมความดังเบา / Gain คุมจำนวน Distortion ที่ต้องการ / Tone คุมความทุ้มแหลมของตัวเอฟเฟคต์ ส่วน Ch.Blend คือการจำลองการเจือเสียงของแชนแนลทุ้ม และแหลมจากตัวแอมป์เข้าด้วยกัน (นึกถึงพวก Marshall ปีเก่าๆ ที่แชนแนลทุ้มแหลมหล่ะครับ เหมือนกัน) 

ส่วน Toggle 4 ปุ่มแถวบน ถ้าใครคุ้นเคยกับ Series นี้ของ Bogner ก็พอจะทราบบ้างครับ Toggle Gain เอาไว้ปรับเป็น Low – Mid และ Hi Gain ทางด้าน Low จะเป็นเสียงแบบ Overdrive เลยครับแตกไม่มาก มีความ Brown (ขุ่น) ปรับเป็น Mid Gain จะได้เสียง Classic Rock Distortion ไดนามิกดีมาก เล่นหนักเบาได้ตามน้ำหนักมือเลย และสุดท้าย Hi Gain Mode ก็เป็นลักษณะแบบ Metal Sound ครับ เล่นได้กว้างมากก้อนนี้
ถัดมาเป็น Variac ก็จะเป็นการจำลองการลดวัตต์ของแอมป์ เพื่อที่จะให้แตกเยอะขึ้น มี Compression มากขึ้น มาถึง Presensce ก็จะเป็นเลือกเสียง Mid-Hi ให้คมขึ้นแล้วแต่ว่าใช้แอมป์แบบไหนอยู่ ถ้าแอมป์แหลมอยู่แล้ว ก็ปรับเป็น Low Presence เพื่อไม่ให้แหลมเกินไป หรือถ้าใช้แอมป์ที่เบสหนาแหลมน้อย ปรับไปเป็น Hi Presence ก็จะช่วยได้ครับ
สุดท้ายเป็น Structure Toggle ตรงนี้ผลอาจจะไม่ค่อยชัดเจน แต่ถ้าเล่นในวอลลุ่มที่ค่อนข้างดังจะฟังชัดว่าเป็นการปรับย่านเสียงเบสให้แน่นเต็ม (วงกลมเข้ม) หรือจะให้เบสฟังดูไม่แน่นมาก (กลมขาว) หรือคัทย่านเบสออกนิดหน่อย แต่เพิ่มความกระชับ (จุดดำเล็ก)

สุดท้ายก็จะมีปุ่ม On ไว้ใช้เปิดปิดตัวเอฟเฟคต์ และ Boost คือเปิดปิดบู๊ส โดยควบคุมที่ Knob สีขาว ซึ่งมาถึง La Grange นี้ ทาง Reinhold ดีไซน์ให้แยกใช้งานได้แล้วครับ สามารถใช้เป็น Clean Boost แยกต่างหากได้เลย


มาพูดถึงเสียงกันบ้าง ผมทดสอบ Bogner : La Grange กับ Stranberg Boden OS6 และ Komet K50 ร่วมด้วย Komet Cabitnet 2x12 บอกได้เลยว่านี่เป็นก้อนเสียงสไตล์ British Amp (หรือนิยมเรียกกันว่า Marshall Style) ที่น่าจะดีที่สุดในช่วง 3-4 ปีนี้เลย และคุ้มค่าการรอคอยอย่างมาก ด้วยเนื้อเสียงที่หน้าใหญ่  มีเสียงกลางที่เป็นเอกลักษณ์ ตามสไตล์ Brit Amp และไดนามิกที่กว้างไม่ว่าจะดีดเบา ดีดแรงเขาตอบสนองได้เยี่ยม ปรับเป็น Overdrive ก็ได้เสียงแนวๆ Classic Tube Screamer Overdrive ที่แตกไม่มาก แต่เนื้อแน่น เบสฟังชัด กลางไม่จม และในโหมด Hi Gain อาจจะต้องลด Gain ลงหน่อย และเร่ง Volume ขึ้นอีกจะฟังได้อารมณ์พวกสาย Metal  ได้ไม่ยากเลยครับ

ต้องซูฮกให้กับการออกแบบที่เนี๊ยบของ Reinhold Bogner ที่ผลิตก้อน La Grange ออกมาได้หลากหลาย และแทบจะไม่มีข้อเสียงใดๆ เลย ไม่ว่าคุณจะเล่นดนตรีสไตล์ไหนก็ตาม ผมเชื่อว่า La Grange จะเอาอยู่ครับ

Medium Gain Setting


Hi-Gain Setting

*** สนใจติดต่อสอบถามได้กับทาง Pedals’ Park Music Playground 0870126969 / 0818131595 ตัวแทนจำหน่าย Bogner Amplifications อย่างถูกต้องและเป็นทางการ ***

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

LaBella : Criterion

หลังจากที่ทดลองสาย LaBella Strings รุ่น Vapor Shield ไปแล้ว มีความประทับใจกับสายแบรนด์นี้อย่างมาก เพราะผมไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินซื้อสายกีตาร์ราคาแพงๆ เพื่อที่จะได้คุณภาพที่พอๆ กันแล้ว (ฮา) ช่วงนี้ผมเลยสนใจสายกีตาร์แบรนด์นี้เป็นพิเศษ

และเมื่อสักอาทิตย์ที่แล้ว ผมเริ่มทดสอบสายกีตาร์อีกรุ่นจาก LaBella Strings ชื่อว่า Criterion ซึ่งเป็นรุ่น Standard ของทาง LaBella หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นรุ่นราคามิตรภาพของเขานั่นหละ ผมลองใช้รุ่นนี้เป็นเบอร์ 10-46 มาตรฐาน


LaBella : Criterion มากับซองไนโตเจนกันชื้น กัน Oxide เกาะ และก็เป็นสายที่ผลิตจากเหล็กผสมอัลลอยด์คุณภาพสูงในอัตราส่วนเท่าๆ กัน แต่ Criterion จะไม่ได้ผ่านการ Treated ใดๆ เหมือนรุ่น Vapor Shiled จึงทำให้ราคาลดลงมาเป็นราคาที่จับต้องได้ และเปลี่ยนได้บ่อยหน่อย ที่สำคัญชุด Criterion ยังมีสาย E เล็กแถมมาเพิ่มให้อีกเส้นเผื่อขาดอีกด้วย หลังจากแกะซองออกมายังรู้สึกว่าสายสดมาก เงาใสกริ๊ง ผมเปลี่ยนใส่บน PRS Modern Eagle และลองใช้บันทึกเสียง และเล่นซ้อมมือวันละประมาณ 1-2 ชั่วโมง มาจนถึงวันนี้ ก็น่าจะราวๆ 9-10 วันแล้ว รู้สึกว่าสีของสายหม่นลงเล็กน้อย แต่ยังคงความเงาอยู่บ้าง ยังคงไม่มีสนิม หรือ Oxide เกาะ ในเรื่องของผิวสัมผัสของสายก็เรียบลื่น ไม่มีความสากมือ เล่นง่าย แรงตึงสายดี หยุ่นเหนียวไม่แข็ง เด้งๆ ดีครับ

ด้านของเสียง Criterion ให้เสียงไปทางสดใส แต่ไม่แหลมคมบาดหู เสียงย่านเบส กลางมาครบ หลังจากใช้งานมาประมาณ 10 วัน ยังคงมีความสดใสอยู่มากครับ เสียงย่าน High Frequency ยังไม่เสียหายมากนัก (ตรงนี้คงแล้วแต่ความเค็มของเหงื่อ และความชื้นของมือแต่ละท่านด้วยนะครับ ใครมีมาก สายก็ไปไวกว่าหน่อย) ผมประเมินดูว่า Criterion น่าจะใช้งานได้เต็มที่ประมาณ 15-18 วัน ก็น่าจะเริ่มเข้าข่ายควรเปลี่ยน (ถ้าต้องการความสดของสาย) ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ก็คุ้มค่ามากแล้วครับ สำหรับสายราคา 190 บาท อยากได้เพื่อนๆ ได้ลองกันครับ LaBella Strings : Criterion รุ่นนี้ ดีจริงๆ

ถ้าสนใจติดต่อสั่งซื้อ ติดตามไปที่เพจ www.facebook.com/labellathailand ตัวแทนจำหน่าย LaBella Strings ในประเทศไทยได้เลยครับ

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

LaBella : Vapor Shield

ไม่ได้เขียนอะไรในบล๊อกนี้มาร่วม 2 เดือน สัญญาว่าจะกลับมาเขียนให้ถี่ขึ้นเหมือนช่วงแรกๆ แล้วครับ (แฮ่) วันนี้ผมว่าจะเขียนถึงสายกีตาร์กันบ้าง ปรกติเราก็ใช้สายกีตาร์กันอยู่ไม่กี่ยี่ห้อหรอก ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง แต่ในความเป็นจริง ตลาดสายกีตาร์ของทางเมืองนอกเมืองนาเค้ามีการแข่งขันที่สูงมากๆ มีสายดีๆ ให้เลือกใช้กันหลากหลายจริงๆ 


เที่ยวนี้ผมได้ลองสายชื่อว่า LaBella Strings เป็นสายที่มีผลิตโดยครอบครัวเล็กๆ ในอเมริกา เค้าเองก็พยายามไม่ขยายโรงงานให้ใหญ่โตเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพให้มันดีได้มาตรฐานอยู่เสมอๆ ผมเองเคยใช้ LaBella มาบ้างแล้วบางรุ่นเช่น HRS Series และ Roller Wound Series คราวนี้ทาง LaBella ออกรุ่นใหม่มาลุยตลาดสายเคลือบ โดยใช้สโลแกนว่า "Stop Flaking It" ซึ่งแรงมาก กะเอาไว้ตีสายเคลือบที่ใช้เทคโนโลยี่เก่าแบบใช้ฟิล์มเคลือบ เพราะสายประเภทนั้นจะลอกเป็นขุยๆ เป็นที่น่ารำคาฐ เวลาเล่นไประยะหนึ่ง ซึ่ง LaBella ก็บอกเลยว่าของเค้าไม่มีอาการ Flake แน่นอน รุ่นนี้เรียกว่า "Vapor Shield"

ผมไปเสาะหาข้อมูลมาพบว่า "Vapor Shield" นี้ ทาง LaBella นั้นจ้างบริษัทที่ชื่อ Acoustic Science ทำให้ครับ บริษัทนี้ก็เป็นบริษัทผลิตสายกีตาร์เอง และคิดเทคโนโลยี่การ Treated สายแบบลึกถึงระดับโมเลกุล โดยทาง ACS ทำการปรับดัดแปลงผิวเคลือบของเนื้อเหล็กในระดับโมเลกุล (Surface Modification) ใช้วิธีนำสายผลิตใหม่เข้าไปสู้ระบบ Plasma และดึงเอาอากาศออกให้เป็นสุญญากาศ และนำเอาสารที่ใช้ดันแปลงโมเลกุลปล่อยเข้าไปให้ผิวเหล็กปรับสภาพผลที่ได้คือ ผิวของเนื้อสายจะถูกปรับให้ทนทานต่อการสัมผัสของมือ น้ำ น้ำมันและสิ่งอื่นๆ เช่นควันบุหรี่ เหงื่อต่างๆ ผลที่ได้คือการที่สายทนทาน นานกว่าเดิมอีกไม่น้อยกว่า 3-5 เท่า และที่ทำคัญ การ Treated ลักษณะนี้ ไม่มีการใช้ฟิล์ม หรือสารใดๆ มาเคลือบ เพราะฉะนั้นแล้วการลอกเป็นขุย (Flake) หรือเสียงเปลี่ยนไปในทางผิดธรรมชาติก็จะไม่เกิดขึ้น


ผมทดสอบ Labella Vapor Shield เบอร์ 10-46 กับกีตาร์ Gibson SG R61 มาเป็นเวลาราวๆ 5 สัปดาห์ โดยเล่นวันละ 1 ชั่วโมงทุกๆ วัน ผลที่ได้คือ ทางด้านสรีระของสายนั้นจะคงความเงางามเป็นสายใหม่ๆ อยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ และจะค่อยๆ หมองลงนิดหน่อย แต่ไม่มีอาการดำ ไม่เป็นขุย จนถึงสัปดาห์ที่ 5 นี้ก็ยังคงสภาพแบบนั้น ไม่มีสนิมแม้แต่จุดเดียว สายคงสภาพดีมาก / ในด้านเสียงจากสัปดาห์แรกที่เล่น ผมไม่พบว่าเสียงจะมีความแหลมคมขึ้นหรือหม่นๆ ในแบบที่สายเคลือบปรกติเค้าเป็นกัน เสียงที่ได้จะฟังบาลานซ์ดีมาก ชัดเป็นเม็ด โลว์นุ่มนวล สายล่างๆ ใสแต่ไม่แหลมคม หลังจากผ่านสัปดาห์ที่ 2-3 ย่านเสียงแหลมมีหายไปนิดหน่อย และคงสภาพนั้นมาถึงสัปดาห์ที่ 5 นี้ครับ / ในด้านผิวสัมผัส ผมไม่พบความประหลาดเท่าไหร่ สายนิ่มมือดีความตึงสายพอดีๆ ไม่หนัก ไม่เบา ดันสายสบายๆ ไม่ต้องบู๊ออกแรงมากนัก เรียกว่าทุกอย่างพอดีๆ สวยๆ ในแบบที่ควรจะเป็นครับ

ผมสนุกกับการใช้สาย LaBella รุ่น Vapor Shield มาก เนื่องด้วยเสียงและผิวสัมผัสเป็นไปตามต้องการ และก็ไม่ต้องเปลี่ยนสายบ่อยๆ เลย ทำให้ไม่ต้องเสียอารมณ์ถ้าต้องการเล่นกีตาร์ที่เก็บใส่กล่องไว้นานๆ เมื่อเอาออกมาเล่นใหม่ ก็ยังคงสดและเล่นได้ยาวนาน เข้าใจว่าผู้นำเข้าทำราคาไว้เพียงชุดละ 440 บาทเท่านั้น การจัดเก็บก็โปรฯ มาก มากับกล่องเหล็กสวยงามและซองสุญญากาศ ลองดูแล้วคุณจะชอบครับ

สนใจลองติดต่อไปที่: www.facebook.com/labellathailand ดูครับ