วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Strymon : OB1

ผมรู้จัก FX จากค่าย Strymon มานานมากแล้วครับ แต่ยังไม่เคยจับมาคุยให้ฟังเสียที ด้วยเพราะเขาเอฟเฟคต์ที่ส่วนใหญ่แล้วมีความซับซ้อนพอสมควร ต้องเขียนกันยาว (ขี้เกียจนั่นเองแหละ) แต่เมื่อได้ทดลองเล่นหลายๆ รุ่นของ Strymon แล้ว ก็รู้เลยว่าเขาเป็นอีกค่ายที่ไม่ธรรมดาเลย ทำ FX ออกมาได้ดีมากๆ ครับ บทนี้ ผมจะหยิบตัวเอาตัวใช้งานง่ายที่สุดมาคุยให้ฟังก่อน เป็น FX ที่เรียกว่า 2 in 1 คุ้มค่าน่าใช้ทีเดียว

Strymon : OB1 เป็นหนึ่งในหลายๆ รุ่นที่ออกมาสนองความต้องการของคนกีตาร์ โดยรุ่นนี้เป็น Booster และ Compressor ในก้อนเดียวกัน แบ่งฝั่งกันใช้งานอย่างชัดเจนครับ ถือว่าสะดวกมากสำหรับคนที่มองหา FX สองสิ่งนี้ และต้องการประหยัดพื้นที่บอร์ด การใช้งานปรับแต่งก็ง่ายทีเดียว ไม่ซับซ้อนมากมายนัก ปุ่มควบคุมก็มีเพียงแค่ 3 ปุ่ม กับ 1 Toggle Switch เท่านั้นครับ


OB1 แบ่งการทำงานเป็น 2 ฝั่งคือ ซ้ายคือ Clean Boost และขวาคือ Compressor ในฝั่ง Booster จะมีการควบคุมมากกว่าหน่อยคือใช้ 1 ปุ่ม (Boost Level) ไว้ควบคุมความดังของ Boost ว่าจะให้ดังกว่าเสียงปกติไปเท่าไหร่ ถ้าเปิดสุดจะมีการ Clip หรือแตกเล็กน้อย และ 1 Toggle Swtich ไว้ปรับว่าจะ Boost ในย่านไหน Treble หรือ Mid หรือจะปรับเป็น Overall Boost ก็ได้ ส่วนฝั่ง Compressor ก็มีปุ่ม Comp ไว้คุมว่าจะให้มีการบีบอัดมากน้อยแค่ไหน ใช้งานสะดวกมากๆ ส่วนปุ่ม Output นั้นไว้ควบคุมความดังเบาของตัวก้อนโดยรวมครับ นั่นหมายถึงว่าเราสามารถตั้งความสมดุลย์ระหว่างเสียงจากก้อน และเสียงกีตาร์ได้เลย

ผมทดสอบ OB1 ด้วย Kingbee T-Custom ผ่าน Strymon OB1 ไปเข้า Komet Concorde และ Komet 2x12 Cabinet พบว่า Compressor ของ OB1 นั้นจะออกทางใสๆ ไม่ขุ่นการบีบอัดสูงสุดไม่ได้มากมายจนฟังแล้วอึดอัด ที่สำคัญคือเสียงกีตาร์แทบจะไม่เปลี่ยนเลยครับ มาลองฝั่ง Clean Boost บ้าง ก็ใช้งานได้ครอบคลุมครับ ทำหน้าที่ในส่วน Boost ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้เสียงกีตาร์ดังขึ้นกว่าเดิมมากพอสมควร แต่ถ้าต้องการให้แตกเพิ่ม ต้องบิดสุด ซึ่งอาจจะทำให้ดังเกินกว่าที่ต้องการไปเล็กน้อยครับ คร่าวๆ นั้น ผมคิดว่า OB1 น่าสนใจมาก ในระดับราคาที่เป็นมิตรและได้เสียงที่จำเป็นต้องใช้งานถึงสองเสียงแบบนี้คุ้มครับ


วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Kinman : Big - Nine - O

เดือนที่แล้วเกเรไปหนึ่งเดือน ไม่ได้เขียนอะไรให้อ่านกันเลยครับ มาช่วงนี้มีอะไรใหม่ๆ ให้เล่นกันหลายอย่าง ได้ลองอะไรดีๆ หลายชิ้นเหมือนกัน ก็จะกลับมาเขียนให้อ่านกันเหมือนเดิมครับ เมื่อวันวานนี้เองสดๆ ร้อนๆ มีโอกาสได้ลองกีตาร์ Fender Stratocaster ตัวนึงที่ผลิตใน Mexico แต่ว่าใส่ปิ๊กอัพของแบรนด์ Kinman รุ่น Big - Nine - O ไว้ ได้ลองแล้วก็รู้เอ๊ะ มันเจ๋งอ่ะ เลยไปหาข้อมูลต่อว่ามันเป็นอะไรยังไง เลยมาเขียนเล่าให้ฟังครับ 

Kinman รุ่น Big-Nine-O จริงๆ ก็คือปิ๊กอัพที่ให้เอาท์พุทแรงเหมือนตระกูล P-90 ที่เป็นไซส์ Single Coil ปรกตินั่นเองครับ จะแรงไม่เท่าพวก Minihum แต่ให้ความดังพอๆ กับ Humbucker และยังมี Dynamic หนักเบาได้เหมือน Single Coil จุดเด่นๆ ของ Kinman แน่นอนคือความเงียบครับ เมื่อเทียบกับพวก P-90 True Coil ที่จี่กระจายแล้ว Big-Nine-O ถึงจะมีเสียงฮัมเล็กๆ แต่ถือว่าเงียบลงไปมากมายเลย

ผมทดสอบ Fender Stratocaster ตัวนี้ (ติด Big-Nine-O) กับแอมป์ Komet : Concorde ผ่าน Komet 2x12 Cabinet โดยใช้ Free The Tone : Gig Boson Overdrive และ OKKO : Dominator เสียงคลีนเสียงหนาอิ่ม และใหญ่มาก ย่านเบสเสียงลึกหนา แต่คงความนุ่มนวลครับ เล่น Blues, Jazz ได้สบายๆ เลย ใช้ตัวบริดจ์เล่นก็ยังคงความทแวงในแบบ Strato อยู่ ไม่ได้แข็งกระด้างเลย ตรงนี้ถือว่าผ่าน ผมเปิดเล่นกับ Overdrive ดูเสียงฮัมก็ยังไม่มีครับ เงียบดี ปิ๊กอัพเอาท์พุทเยอะกินเสียง Drive ได้ดีทีเดียว เล่นสนุก Dynamic แทบไม่ต่างกับพวก True Coil ดีดเบาแตกน้อย ดีดหนักแตกเยอะเล่นสนุกมือ แต่จุดที่ผมต้องการทดสอบคือเล่นกับ Hi Gain Distortion แบบ Dominator พอเปิดใช้งานพบว่ามีเสียงฮัมออกมาเล็กน้อย ซึ่งเมื่อเทียบกับ Single Coil แบบที่ไม่เป็น Zero Hum แล้วนับว่าเบาลงมากทีเดียว ตรงนี้ผมให้ผ่านฉลุยครับ เสียงออกมาแตกหนักหน่วงเล่น Metal ก็ยังได้ 

Kinman : Big-Nine-O ถือเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่น่าลองเล่นสำหรับเพื่อนๆ ที่ใช้ปิ๊กอัพที่มีเอาพุทค่อนไปทางแรง แต่ยังมี Dynamic แบบ Single Coil แต่ทว่าเงียบในแบบฉบับ Zero Hum น่าจะถูกใจขาร๊อคที่ชอบเล่น Single Coils แต่ไม่ชอบเสียงฮัม/จี่ครับ แนะนำให้ลองเลย แจ๋วมากๆ



วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

Keeley Red Dirt Ovd

เมื่อวานเพิ่งได้ลองเอฟเฟคต์ก้อนตัวใหม่ที่เพิ่งส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมา เป็นเอฟเฟคต์จากแบรนด์ดังอย่าง Keeley Electronics ที่เคยสร้างชื่อมาแล้วจากรุ่นอื่นๆ เช่น Katana Boost / C4 Compressor หรือ Boss Modified ที่เป็นทีต้องการของตลาดอย่างสูง มาคราวนี้ Keeley ออก Overdrive ตัวใหม่ในราคาที่มิตรภาพขึ้น เรียกว่า Red Dirt Overdrive 

Keeley Electronics : Red Dirt Overdrive มากับกล่องดีไซน์ใหม่ของ Keeley เอง และตัวถังสีแดงเพลิงสะดุดตา มาพร้อมกับปุ่มปรับ 3 ปุ่มง่ายๆ คือ Gain - Tone - Level และมี Lo - Hi Switch คือ Low gain หรือ Hi Gain นั่นเอง ผมทดสอบ Keeley Red Dirt Ovd ด้วยกีตาร์ Fender R60 Telecaster และ Gibson Les Paul Standard ไปออกแอมป์ Komet Concorde + Komet 2x12 Cabinet

Red Dirt ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของ Keeley อย่างเหนียวแน่นด้วย Overdrive ที่ให้ย่านเบสลึก กลางแน่น ย่านเสียงแหลมไม่บาดหู มีแคแรกเตอร์คล้ายๆ 80s TS-808 แต่ย่านเบสใหญ่กว่าพอสมควร ถ้าปรับลงมาที่ Low Gain และเปิด Gain น้อยๆ เปิด Level เยอะๆ จะได้ไดนามิกที่กว้างพอสมควร และจะมีอาการคลิป คล้ายๆ สไตล์ Dumble เหมือนกัน ส่วนตัวแล้วผมชอบใช้ Humbucker เล่นกับ Red Dirt เพราะจะแตกได้มากอีกหน่อย และเมื่อลดวอลลุ่มกีตาร์ลงเล็กน้อย มันจะคลีนขึ้นอีกนิด เล่นได้หลากหลายพอสมควรเลย ไฟก็ใช้ 9vDC ปรกติและกินไฟไม่มากครับ ถ้าหากใครหา Overdrive ดีๆ ราคามิตรภาพและเล่นได้หลากหลายหล่ะก็ Keeley : Red Dirt Overdrive น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอันดับต้นๆ ของคุณได้เลย


วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

BKP : Rebel Yell

ณ ตอนนี้ หนึ่งในปิ๊กอัพกีตาร์ที่นักดนตรีชาวสยามเริ่มรู้จักกันมากขึ้น และเป็นหนึ่งในปิ๊กอัพที่คนพูดถึงมากที่สุดก็เห็นจะไม่พ้น Bare Knuckle Pickups และรุ่นที่ผมจะนำมาแนะนำกันในบทนี้ ก็จะเป็นรุ่นที่เรียกว่าพิเศษหน่อย เพราะเป็น 1 ใน 2 รุ่นลายเซนต์ที่ทาง BKP ผลิตออกมา และเป็นรุ่นที่นักกีตาร์ระดับท๊อปของบ้านเรา นั่นคือพี่ป๊อป เดอะ​ ซันเลือกใช้ ผมกำลังพูดถึงรุ่น Rebel Yell - Steve Stevens Signature พี่ Steve เป็นใครมาจากไหน นักกีตาร์รุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่คุ้นหูนัก ต้องบอกว่าเค้าเป็นมือกีตาร์ฝีมือฉกาจคนหนึ่ง เล่นให้กับ Billy Idol มายาวนาน และเค้าเป็นคนเล่น Top Gun Theme ที่เราคุ้นหูกันมานาน (ไม่ใช่ Ed Van Halen อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจผิดกันมานาน)


ผมมีโอกาสได้ลองกีตาร์ที่ติดตั้ง Rebel Yell อยู่สองตัว และเป็นทั้งแบบ Covered และ Open Coils ผมทดสอบ Gibson Les Paul Custom ที่ติดตั้ง RY แบบ Covered (สีดำอย่างเท่ห์) เล่นผ่าน Bogner Shiva พบว่า เสียงของ RY จะโดดเด่นที่ย่านเสียงกลาง/แหลมค่อนข้างมา เล่นกับ Disotrtion ไม่แผดคมแหลมจัดๆ แต่ฟังชัดย่านเสียงกลาง/แหลมมาเต็มเล่น Rock/Hard Rock ได้สนุกดี การตอบสนองรวดเร็ว และมีความสมดุลย์ในแต่ละสายเท่ากันชัดเจน เบสไม่ล้น เสียงคลีนตัว Neck ฟังนุ่มนวลกลมกล่อมกว่าที่คิด เล่น Blues/Jazz ได้สบายๆ เอาท์พุทแรงพอสมควร แต่ไม่เยอะขนาดทำให้เสียงคลีนแข็งกระด้างซึ่งแจ๋วมากๆ ครับ


ส่วน RY แบบ Open Coils ที่ติดตั้งอยู่บน PRS Corvette Standard ฟังดุดันกว่า ถึงแม้ลำตัวกีตาร์จะบางกว่า LP Custom แต่ไม่ทำให้น้ำหนักเสียงบางลงไปเลย ผมเสียบ PRS ผ่าน Bogner Shiva ใช้ Setting เดียวกันกับ LP เป๊ะ เสียงย่านเบสอาจจะน้อยกว่า แต่เสียงกลาง/แหลม แผดสนั่นกว่ามาก น้ำเสียงฟังแล้วสามารถเล่นไปไกลถึงพวก Metal เลยครับ Covered ติดหรือไม่ติดมีผลมากพอสมควร จุดเด่นๆ ก็เช่นเดียวกับรุ่นอื่นๆ และเป็นเอกลักษณ์ของ BKP เลยคือบาล๊านซ์ระหว่างสายทำได้เทพมาก เสียงของสายแต่ละเส้นออกมาชัดเจนครบทุกสาย ไม่มีปัญหาการโดดของเสียงแต่ละสายทั้งสิ้น

Rebel Yell น่าเป็นการอัพเกรดกีตาร์ของคุณที่น่าจะคุ้มค่าอย่างมากๆ ถ้าคุณมองหา Humbucker ที่เล่นได้กว้างๆ แบบ Rock/Blues/Jazz/Hard Rock จริงๆ เล่น Pop ก็ยังน่าจะได้สบายๆ ลองดูครับแล้วคุณๆ จะไม่ผิดหวังกับ Bare Knuckle Pickups : Rebel Yell ที่พี่ป๊อป เดอะ ซันยังไว้วางใจ



วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

Cioks : Link Big John

REVIEW : CIOKS "LINK BIG JOHN"

หลังจาก Cioks ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย กับ Power Supply ที่เรียกได้ว่าท้าชนกับแบรนด์อื่นๆ ได้ชนิดเหลือเฟือจากรุ่น DC10 จากตรงนั้น Cioks ได้พยายามอย่างมากที่จะลบจุดอ่อนในการผลิต Power Supply ขนาดกลางและเล็ก โดยใช้วิธีการปรับปรุงรุ่น Standard ขึ้นมา 3 รุ่น มาเป็นรุ่นกลางที่เรียกว่า Link Series ผลิตออกมา 3 รุ่นคือ Schizophrenic - Big John - AC Rider โดยมีฟีเจอร์เด่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย ในราคาที่เรียกว่าคุ้มค่ามากหล่ะ มันเป็นยังไง เดี๋ยวผมจะแจงให้ฟังกันครับ


Cioks Link : Big John กลับมาในโฉมใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม จากเดิมที่ตัวถังเป็นพลาสติกแข็ง และมีสายไฟติดมาจากบอดี้เลย ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้ดีไซน์แบบ Professional Series คือเป็นเหล็กพับอย่างดี และแข็งแรงมากๆ มี Dimension อยู่ที่ 130mm x 88mm x 39mm และต่อสายไฟแยกต่างหาก ลดความเกะกะจากดีไซน์เดิมเป็นอย่างมาก และใน Link Series นี้ความพิเศษก็คือ Power Supply สามารถ Link หรือ เชื่อมต่อกันได้จริงครับ เช่นเอา Big John มาต่อกัน 2 ก้อน หรือ Big John ต่อกับ Schizophrenic เมื่อต้องการขยายภาคจ่ายไฟให้กับเอฟเฟคต์ที่อาจจะมีจำนวนมากขึ้น ถือเป็นคอนเซปท์ใหม่ของ Power Supply เลย และไม่มีใครทำมาก่อน


Big John มากับช่องเสียบ FX ได้ถึง 6 ช่อง และแบ่งเป็น Isolate 4 ส่วน คือช่อง 1-2 , 3-4 , 5 และ 6 ในส่วนช่อง 1-2 ที่แชร์ไฟร่วมกัน จะมีกำลังจ่าย 100 mA เช่นเดียวกันกับช่อง 3-4 ส่วนช่อง 5 และ 6 จะจ่ายไฟได้ช่องละถึง 400 mA รวมแล้วจ่ายไฟได้ถึง 1A เต็มๆ ไม่ง่ายครับที่จะหา Power Supply ขนาดนี้มีกำลังจ่ายไฟได้ขนาดนี้ นอกเหนือจากนั้น ช่องที่ 2,4,5,6 นั้นสามารถเปลี่ยนจากจ่ายไฟ 9vDC ไปเป็น 12vDC ได้ด้วยจากการปรับ dip switch ข้างตัวเครื่อง ผมลองทดสอบ Big John เปรียบเทียบกับตัวจ่ายไฟชนิดอื่น Big John จ่ายไฟได้นิ่งและทำให้ FX ทำงานเต็มที่ ได้เสียงที่ฟังแตกต่างอิ่มหนาขึ้นมาชัดเจน แนะนำให้ลองครับ สำหรับ Power Supply ซีรี่ส์ LINK ของ Cioks อ่อลืมบอกไปว่า ซีรี่ส์นี้เพิ่มจุดเด่นขึ้นมาอีก 1 จุดคือสามารถเปลี่ยนการรับไฟจาก 110v มาเป็น 230v ได้อีกด้วย สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลกเลยทีนี้ ถ้าคุณมองหา Power Supply ที่ทำงานได้เรียกว่ายอดเยี่ยมมากๆ แต่ไม่ต้องการขนาดใหญ่ อยากจะให้ลองพิจารณา Cioks Link Big John ตัวนี้ดูครับ




วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Kinman : AVn62 Pickups

ผมเคยเขียนถึง Kinman "Zero-Hum" Pickups ไปแล้วเมื่อคราวนำเอารุ่น Bridge Blaster มายัดใส่ Fender Customshop Esquire ของผม มาคราวนี้ด้วยความที่ผมจำเป็นต้องเอากีตาร์ H-S-S ไปเล่นกับวง ก็รู้สึกว่าจะต้องหาปิ๊กอัพมาติด James Tyler ของผมเนื่องจากซิงเกิ้ลคอยล์สองตัวบนมันช่างมีเสียงรบกวนค่อนข้างมาก ก็เลยนึกถึง Kinman อีกครั้ง หลังจากใช้เวลาเลือกดูว่ารุ่นไหนเป็นที่น่าสนใจ ผมก็ตัดสินใจเอารุ่นที่เรียกว่า AVn62 ตัว Neck และ Middle มาใช้กับ Tyler 

Kinman : AVn62 เป็นรุ่นที่่ทาง Kinman บอกว่าเป็นแนวๆ "Aged Tone" ก็คือพวกวินเทจซาวด์นั่นแหละ ซึ่งก็เป็นลักษณะเสียงที่ผมอยู่ในกลุ่มที่ผมต้องการ เมื่อไปอ่านข้อมูลก็พบว่า AVn62 นั้น ตั้งใจจะให้ใกล้เคียงกับพวกกลุ่ม 62' Strat Tone หรือเสียงในแบบ Stratocaster ยุค 60 หรือเทียบง่ายๆ ก็คงได้เสียงประมาณ SRV - Rory Gallagher - John Fruciente อะไรแถวๆ นั้น ส่วนข้อมูลทางเทคนิคเขาแจ้งไว้ว่าเป็น Medium Output : Increased Response 6k / Resonance 3.8 KHz / Inductance 2.5H


ผมติดตั้ง AVn62 ตัว Neck และ Middle ลงไปแทน JTS2500 เดิมๆ และเล่นต่อผ่าน Bogner Escstast Red เข้าตู้ Komet K60 - Komet 2x12 Custom Cab สิ่งที่สังเกตุได้ชัดเจนมากๆ คือเสียงจี่ เสียงฮัมหายไปจนเงียบสนิท จนผมแทบเข้าใจว่าผมปิดวอลลุ่มกีตาร์อยู่ และเมื่อสับสวิทช์ไปที่ Humbucker ตัวล่าง เสียงฮัมนิดๆ ก็เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า AVn62 นั้น เงียบกว่า Humbucker ด้วยซ้ำไปครับ มาว่ากันถึงเสียงบ้าง สิ่งแรกที่คำนึงถึงก็คือความเป็นธรรมชาติของเสียง เนื่องเพราะโดยปรกติปิ๊กอัพประเภท Hum-Canceling พวกนี้จะสูญเสียสัญญาณและความเป็นธรรมชาติบางอย่างไป แต่กับ Kinman สิ่งเหล่านี้ไม่มีครับ น้ำเสียงที่ได้จะฟังใกล้เคียงกับพวก True Coils แทบจะ 100% (ผมฟังไม่ออกว่าต่าง) น้ำเสียงที่ได้จะฟังดูกลมๆ บู๊ๆ หน่อยครับ ย่านเบสกับกลางมาเต็ม ย่านแหลมจะมาไม่มากซึ่งผมถือว่าดีมากเพราะจะฟังไม่คม ไม่แหลมจัด เมื่อนำไปเล่นที่ Hi Volume กับวงทั้งวง เมื่อเปิดกีตาร์ดัง และได้ Gain จาก Distortion ที่ดังขึ้นอีกระดับ ผมก็รู้สึกว่า AVn62 ยังคงเงียบและเป็นธรรมชาติอยู่มากๆ เมื่อเทียบกับพวก True Coils ดังนั้น จึงเป็นที่แน่ใจว่า AVn62 จะอยู่ใน James Tyler ตัวนี้ไปอีกนานๆ ครับ เนื่องด้วยใช้งานได้สะดวกและเงียบดีจริงๆ ดีมากจนอยากให้คุณๆ ได้ลองครับ




วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Fender BNS 50th


หากพูดถึงกีตาร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาเป็นเวลานานเป็นสิบๆ ปี เราๆ ท่านๆ คงจะนึกถึงกีตาร์แบรนด์ยักษ์ใหญ่สองแบรนด์คือ Fender และ Gibson ในขณะที่ Gibson เป็นแบรนด์ที่บ้านเรามีการเปลี่ยนมือผู้จัดจำหน่ายมาแล้ว Fender Guitars เป็นแบรนด์เดียวที่ไม่มีการเปลี่ยนมือเลยนับตั้งแต่กีตาร์ Fender Stratocaster ตัวแรกเข้ามาสู่สยามประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2505 (หรือ 1962) โดยร้านค้า (ของเก่าในขณะนั้น) คือ เบ๊ เงี๊ยบ เส็ง ที่เรารู้จักกันดี มาจนถึงปีที่แล้ว ก็ครบรอบ 50 ปี ที่ทาง Fender และ เบ๊ เงี๊ยบ เส็ง เป็นพาร์ทเนอร์กันมาแล้วนะครับ นับเเป็นเวลาที่ยาวนานมากสำหรับการที่องค์กรณ์สององค์กรณ์สามารถทำธุรกิจการค้าร่วมกันด้วยดี


และในการครบรอบ 50 ปีนี้เองครับ ทาง เบ๊ เงี๊ยบ เส็ง (และ Music Concept) ก็ได้ร่วมกันผลิตกีตาร์ Fender Stratocaster ขึ้นมารุ่นหนึ่ง เรียกว่า Fender Stratocaster BNS 50th Anniversary อยู่ในซีรี่ส์ที่เรียกว่า Dealer Select ที่ทาง Fender จะผลิตให้กับตัวแทนจำหน่ายที่ถูกคัดเลือกมาแล้วเท่านั้น และทาง เบ๊ เงี๊ยบ เส็ง ก็ได้ถูกเลือกให้ทำรุ่นนี้ขึ้นมา โดยผลิตออกมาจำกัดเพียง 30 ตัว โดยเป็น Jason Smith Master Built 18 ตัว และ Team Built อีก 12 ตัว


ผมมีโอกาสได้เป็นเจ้าของ 1 ตัวครับ ที่ได้มาเป็นหมายเลข 14 จากจำนวน 30 ตัว เป็นกีตาร์ Fender Stratocaster BNS 50th Anniversary สี Lake Placid Blue โดยมี Spec ที่เด่นๆ ก็คือ Light Weight Alder Body / Dark Indian Rosewood Fretboard / Abby Hand-wound : Fat 50 Pickups / Custom Crocodile Skin Case และมีใบ Certificate ที่บ่งบอกความเป็นไปของรุ่นนี้อีกด้วย งาน Relic ของ Jason Smith นั้นดูเนียนตามากๆ ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยการแตก การกระเทาะดูมีเรื่องราวความเป็นไปได้ หรือดีไซน์มาก่อนว่าร่องรอยมีความเป็นมาอย่างไร จุดน่ารักอีกจุดหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในตัวนี้คือในกล่องนอกจากจะมีพวกสายสะพาย คันโยก Ash-Tray ต่างๆ แล้ว ยังมีสิ่งแปลกใหม่เรียกว่า CruzTool ซึ่งรวมเอาเครื่องมือที่จำเป็นในการดูแลกีตาร์ของคุณมาใส่ไว้ให้ด้วย ผมลองใช้ดูแล้วครับ เวิร์คมากๆ  และเรื่องของเสียงบางทีก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องพูดถึงมากนักเมื่อเปรียบกับคุณค่าในการสะสมสำหรับนักสะสม แต่ส่วนตัวผมก็ต้องทำการทดสอบเสียงกันก่อน ด้วยเครื่องดนตรีจะมาจะน้อยก็ต้องเปล่งเสียงดีๆ ให้เราฟังกันใช่ไหมครับ



ผมทดสอบ Fender BNS 50th ตัวนี้ด้วย Komet : Songwriter 30 ผ่าน Tophat 2x12 Speaker (Alnico Blue ) พบว่าเสียงที่ได้อ้วนหนากลมใหญ่ แต่ว่านุ่มนวล ซัสเทนยาวฟังเพราะพริ้งดี่ ได้เสียงในแบบ Stratocaster ดีๆ เต็มเปี่ยม ด้วยปิ๊กอัพเป็น FAT 50 ผมรู้สึกว่า Output ค่อนข้างกระเดียดไปทางแรงนิดหน่อย ทำให้เล่นได้ครอบคลุมดีไม่ว่าคุณจะ Jazz/Blues/Rock ก็สามารถลุยได้ ง ผมอาจจะรู้สึกว่าคอใหญ่ไปนิดหน่อย ด้วยความที่ถนัด Modern C Shape มาก่อน แต่ตัวนี้มาเป็น 60s Oval C ทำให้ช่วงคอมันอวบไปสักนิด แต่พอจะ adjust มือตามได้ไม่ยากครับ คนที่มีกีตาร์รุ่นนี้อยู่ในครอบครองก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่โชคดีที่ได้กีตาร์ที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเรา และที่มากับประวัติศาสตร์ก็คือกีตาร์ระดับ Master Builder (Jason Smith) ที่เป็นกีตาร์คุณภาพสูงสุดเท่าที่เราจะได้รับจาก Fender แล้วครับ








วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Komet : Songwriter 30

จะว่าไปแล้ว ผมยังนึกเกริ่นถึงบทความนี้ยังไม่ถูก เนื่องจากตื่นเต้นมากๆ ที่จะมีโอกาสได้สัมผัสตัวเป็นๆ กับแอมป์พลิฟายด์ที่ผมเชื่อเหลือเกินว่าติดอันดับ 1 ใน 5 ของแอมป์ที่ดีที่สุดในโลก เมื่อเราพูดถึงแอมป์พลิฟายด์ที่เรียกได้ว่าดีที่สุด ดังที่สุด ในกลุ่มที่เรียกว่า Boutique Amps แล้วหล่ะก็ 2 แบรนด์ที่ยังไม่มีใครทาบรัศมีได้ ก็เห็นจะเป็น Dumble Amplifiers ซึ่งถ้าคุณๆ ไม่ได้เป็นศิลปินใหญ่ หรือไม่ได้ร่ำรวยเงินทองแล้วหล่ะก็ ยากถึงยากที่สุดที่จะมีโอกาสได้ครอบครอง (นึกถึงว่าคนที่มี Dumble ใช้งานก็จะเป็นแนวๆ Carlos Santana, Robben Ford หรือ Larry Carlton) และอีกแบรนด์หนึ่งที่เรียกว่าไม่แพ้ Dumble ก็เห็นจะเป็นแอมป์พลิฟายด์ที่ออกแบบและผลิตโดย Ken Fischer ภายใต้ชื่อแอมป์ที่เรียกว่า Trainwreck 

Ken Fischer เป็นเอนจิเนียร์ที่พยายามออกแบบแอมป์พลิฟายด์ของเขาภายใต้คอนเซปท์ว่า "ต้องได้เสียงและสัมผัสที่รวดเร็ว ว่องไวหนักแน่น และมีฮาร์โมนิคที่ฟังดูมีมิติมากๆ และหลายชั้น ที่สำคัญต้องได้เสียงคลีนที่ไม่มีคนทาบได้" และแอมป์ Trainwreck ที่ Ken ผลิตออกมา (มีไม่กี่ร้อยตัวตั้งแต่ปี 1981) ก็ได้เสียงแบบนั้นจริงๆ ปัจจุบันคนที่ใช้แอมป์ Trainwreck จนโด่งดังก็เห็นจะเป็น Billy Gibbons จากวง ZZ Top, Brad Paisley คันทรี่สตาร์เบอร์ 1 ของอเมริกา หรือจะเป็น Mark Knolfler จาก Dire Straits เป็นต้น ถ้าจะบอกว่า Dumble Amp เป็น Holy Grail ของคน Blues/Jazz แล้วหล่ะก็ ฟันธงอย่างไม่กลัวหน้าแหกได้เลยว่า Trainwreck ก็เป็น Holy Grail ของคน Rock อย่างไม่ต้องสงสัยครับ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า Ken Fischer นั้น ปัจจุบันนี้เสียชีวิตไปแล้ว (เมื่อปี 2006) ทิ้งไว้แต่เพียงมรดกที่คงเป็น Legacy ของเขาก็คือแอมป์พลิฟายด์ที่เรียกได้ว่าเป็นสุดยอดของสุดยอดแอมป์ของโลก ปัจจุบัน Trainwreck Amp ยังคงหาซื้อได้บ้าง ในราคาระหว่าง $30,000 - $40,000 (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 890,000 บาท - 1,200,000 บาท) ต่อ 1 หัวแอมป์

เปล่าครับ ผมยังไม่โชคดีขนาดที่จะได้สัมผัสกับ Trainwreck หรอกครับ แต่ว่าแอมป์ที่กำลังจะพูดถึงนี้ ก็ทำให้ตื่นเต้นมากสุดๆ แล้วครับ ย้อนกลับไปช่วงที่ Ken เริ่มที่จะป่วย และจำเป็นต้องหยุดการผลิตแอมป์  Trainwreck นั้น เขาก็ได้พบกับคนที่ซ่อมและขายวินเทจแอมป์ที่ร้านชื่อ Riverfront Music ใน LA. โดยมี Michael Kenedy และ Holger Notzel เป็นเจ้าของ และทั้ง 3 คน รวมทั้งตัว Ken Fischer ก็ได้สร้างแอมป์ใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อ Komet Amplifications ขึ้นมา นี่แหละครับเป็นพระเอกของเราในวันนี้



รุ่นที่ผมจะนำมาพูดถึงเป็นรุ่นแรก เรียกว่าน่าจะเป็นแอมป์รุ่นสุดท้ายที่ Ken Fischer ออกแบบและสร้างไว้ จากการที่เขาต้องการสร้างแอมป์ขึ้นมาเพื่อฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 60 ของตัวเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องร่างวงจรใดๆ ทั้งสิ้น Ken ได้เนรมิตหัวแอมป์รุ่น Songwriter 30 ขึ้นมาโดยให้ชื่อว่า "Inger" จากพาร์ทต่างๆ ที่เขามีอยู่ตรงหน้า โดยมีคอนเซปท์ที่ต้องการให้แอมป์รุ่นนี้มีเสียงคลีนที่สว่างสดใสและไปได้ดีกับกีตาร์ทุกแบบ (Ken ใช้ SG ที่มี P-90 ทดสอบ Inger และเขาบอกว่าบางทีเราสามารถได้ยินเสียง Fender ดีๆ ในเสียงนั้น) ทั้งหมดนี้ ก็เป็นที่มาของแอมป์ที่ผมกำลังจะทดสอบ Komet : Songwriter 30 นี่แหละครับ


Komet : Songwriter 30 เป็นเซอร์กิตเดียวกันกับ Trainwreck : Songwriter 30 และได้รับความเห็นชอบจาก Ken Fischer ให้ทาง Komet นำมาผลิต และ Songwriter 30 ก็เป็นแอมป์ที่ทาง Komet เพิ่งจะผลิตออกมาเป็นรุ่นล่าสุดต่อจาก Komet Concorde, Komet 60, Komet Constallation ที่โด่งดังนำมาก่อนแล้ว โดยใช้เพาเวอร์เป็น EL84/6BQ5 และ 12AX7 ในภาคพรีแอมป์ และแอมป์ทุกตัวรวมไปถึง Songwriter 30 นี้ ก็ผลิตในแบบ Handwired ตรงตามต้นฉบับที่ Ken ออกแบบไว้ 100% ผมทดสอบแอมป์ Komet : Songwriter โดยใช้ Fender R62 Stratocaster ต่อตรงๆ เข้ากับแอมป์ โดยไปออก Tophat 2x12 (ใช้ Celestion Alnico Blue และ Celestion G12 Herritage) ต้องสารภาพตามตรงว่าผมถึงกับตะลึงกับเสียงและสัมผัสที่ได้เล่นและฟัง สิ่งแรกที่ควรจะพูดถึงคือเรื่องของเรสปอนด์ การตอบสนองในการดีดนั้นรวดเร็วฉับไวมากกว่าแอมป์ในแบรนด์อื่นๆ ที่ผมเคยเล่น ไม่มีอาการเฉื่อยฉาใดๆ และเสียงคลีนที่ได้นั้นหนาก็จริง แต่มีความสดใสกรุ๊งกริ๊งอยู่ในโน๊ตเดียวกัน ฮาร์โมนิคที่ได้นั้นฉ่ำและเปิดมากๆ จุดที่สองคือความเซนซิทีฟของปุ่มปรับนั้นมีมาก คุณๆ สามารถหาเสียงต่างๆ จากการบิด Knobs เหล่านั้นได้เลย จุดด้อยข้อเดียวที่ผมพบก็คือ ถึงแม้เสียงแตกที่ได้จากการ Crank แอมป์จะดีมาก แต่แลกมาด้วยระดับเสียงที่จะดังมากๆ เช่นกัน ตรงนี้จริงๆ ก็สามารถแก้ไขด้วยการใช้  Attenuator ได้ ซึ่งทาง Komet ก็ผลิตออกมาเช่นกัน

Komet : Songwriter 30 เป็นแอมป์ที่ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า ผมยังไม่เคยได้สัมผัสแอมป์ที่ดีขนาดนี้มาก่อน และอยากจะแนะนำให้คุณๆ ได้มีโอกาสอย่างน้อยๆ มาสัมผัสแอมป์ที่ดีแบบนี้กันครับ ไหนๆ สยามประเทศเราก็มีตัวแทนจำหน่ายที่นำเข้าของดีๆ แบบนี้เข้ามาแล้ว อย่าได้พลาดโอกาสแบบนี้ครับ






วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

Free The Tone Cables

ผมได้รับสายสัญญาณสำหรับเครื่องดนตรี และที่ใช้บนบอร์ดเอฟเฟคต์มาลองอีกเซ็ตหนึ่ง เป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น คือ Free The Tone รุ่น 6550 สำหรับ Instrument และ 5050 สำหรับใช้บนเอฟเฟคต์บอร์ด ต้องบอกก่อนว่าก่อนหน้าที่จะทดสอบเจ้า Free The Tone ทั้ง 2 รุ่น บนบอร์ดของผมใช้สายสัญญาณของ Vovox รุ่น Protek Link A อยู่ ซึ่งเป็นสายเคเบิ้ลที่คุณภาพสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อค่าย Free The Tone ทำเคเบิ้ลออกมา ยังไงผมก็ต้องลองครับ

สำหรับสายเคเบิ้ลสำหรับบอร์ดเอฟเฟคต์ FTT ผลิตเป็นรุ่น 5050 ซึ่งเป็นสายที่ค่อนไปทางเส้นเล็กหน่อย ด้วยประโยชน์ในการงอตัวง่าย และทำออกมา 2 แบบคือ L/L คือหัวงอปรกติ และ Clank ที่จะเข้าหัวแบบหันหน้าไปคนละทางเพื่อประโยชน์ในการเชื่อมต่อเอฟเฟคต์จากข้าง (Side Jack) ไปหาด้านบน (Top Jack)  หรือกลับกัน (ดูรูปประกอบ) โดยมีขนาดหลากหลายเหมือนกัน ผมเลือกใช้ความยาว 15 cm , 20 cm และ 75 cm ในการต่อบอร์ดของผม หลังจากทดสอบมาหลายวัน พบว่าสาย FTT 5050 นั้นให้ย่านเสียงกลางที่ฟังหนาฉ่ำเสียงเบสมาพอประมาณ และย่านแหลมไม่เยอะบาดหู สัญญาณเต็มไม่พบว่าสูญเสียไปเท่าไหร่ ผมชอบทีเดียว สัญญาณออกมาเป็นธรรมชาติไม่มี Coloured ผมต่อผ่าน FX 8 ก้อน ผสมผสานกันทั้ง True Bypass และ Buffer นอกจากนั้นผมยังทำการทดสอบ A/B กับสาย Patch อีกสองสามแบรนด์ รวมทั้ง Vovox ด้วย พบว่าในราคา 900-1000 บาทนั้น FTT 5050 เอาชนะสายแบรนด์ดังๆ ได้เกือบหมด ยกเว้น Vovox ที่ยังให้สัญญาณเต็มกว่า 5050 เพียงรุ่นเดียวครับ

CLANK CABLE
L/L Cable
มาถึงสาย Instrument บ้าง ผมได้รุ่น 6550 ขนาดความยาว 4 เมตรมาลองครับ ผมต่อ Fender Rory Gallagher Stratocaster ตรงๆ เข้า Victoria 50212 แอมป์ พบว่า เสียงที่ได้จะออกมาเต็ม และน่าจะเป็นเอกลักษณ์ของ FTT Cable ที่ให้เสียงกลางหนาๆ ฉ่ำๆ ย่านเสียงเบสไม่หนักล้น และย่านเสียงแหลมก็ไม่กัดหู ผมเข้าใจว่าทาง FTT จะตั้งใจออกแบบให้เคเบิ้ลของเขาให้สัญญาณผ่านลักษณะนี้ครับ ซึ่งโอเคมากๆ สำหรับคนที่ไม่ชอบเสียงแหลมจัด หรือทุ้มเบสล้นเกินไป อยากให้ได้ลองกันครับ สำหรับสายเคเบิ้ลคุณภาพดีๆ แบบนี้ สนนราคาก็ไม่หนักหน่วงมากอีกด้วย หลังจากสายสองรุ่นนี้ออกมาไม่นาน Matt Schofield มือกีตาร์สายบลูส์ก็เอาไปใช้งานแล้วเรียบร้อยครับ :)

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

Vemuram : Jan Ray Ovd

กะไว้ว่าเมื่อมีโอกาสจะเขียนถึง Ovd ก้อนนี้ ที่มาแรงมากๆ ในกลุ่มคนเล่น Boutique FX บ้านเรา โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบเสียง Ovd ให้เสียงแบบ Blues/Jazz/Fusion บอกได้ว่า Ovd ตัวนี้โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็วเนื่องเพราะมี Session Musician คนดังของ LA ชื่อว่า Michael Landau นำไปใช้งานทั้ง Studio และ Live ทำให้เอฟเฟคต์ก้อนนี้เป็น 1 ในก้อนที่นักกีตาร์ทั่วโลกถามหากัน บริษัท Vemuram เรียกชื่อเจ้านี่ว่า Jan Ray 



Jan Ray มากับ Housing ที่เป็นเอกลักษณ์มากๆ ของค่าย Vemuram คือจะเป็น Housing ที่ใช้วัสดุทองเหลืองในการผลิต เนื่องเพราะทางเขาเชื่อว่าทองเหลืองจะเป็นฉนวนกันเสียงรบกวนที่เกิดจากเอฟเฟคต์ได้อย่างดี และจะทำให้เสียงจี่ เสียงฮัมเงียบลงกว่าวัสดุประเภทอัลลูมิเนี่ยมทั่วไป และกล่องทองเหลืองก็ถูกทำสีมาสวยงามมีการเคลือบเงาอีกชั้น ดูสวยงามน่าใช้ JR มี Knobs ควมคุม 4 ปุ่มคือ Volume - Gain - Bass - Treble และแถมด้วยมี Trimmer เอาไว้ควบคุม Saturation 



ผมทดสอบ Vemuram : Jan Ray กับ Fender R60 Telecaster ผ่าน JR ไปเข้า Bogner Barcelona และ Bogner Inter 1x12 Cabinet ได้ความว่า JR เป็นโอเวอร์ไดร์ฟที่อยู่ในกลุ่ม Light - Mid Gain ทางเสียงจะออกไปทางแอมป์ Fender ช่วงยุค 60s ย่านกลางแหลมจะฟังระยิบระยับแต่ย่านเบสจะฟังหนา ใหญ่ แต่นุ่มนวล Gain ปรับได้กว้างมากๆ ใช้เป็น Clean Booster ไปจนถึง Overdrive ที่ฟังฉ่ำๆ เลยครับ จุดเด่นที่ผมชอบมากๆ ของ JR คือย่านเสียงเบสที่ฟังอิ่มหนา แต่ฟังไม่อึดอัดเลย ย่านเสียงกลาง/แหลม เมื่อปรับให้บาลานซ์กับเสียงเบสแล้ว JR จะเป็น Ovd ที่เล่นสนุกฟังไม่เบื่อเลยครับ ข้อด้อยนิดหน่อยที่ผมพบจาก JR ก็น่าจะเป็นเรื่องของการที่ไม่มีสกรีนบอกว่า ปุ่มไหนควบคุมอะไร มันทำให้แรกๆ งงๆ เหมือนกันนะ แต่หลังจากจำได้แล้ว ก็ใช้งานสบายครับ อีกจุดหนึ่งที่ต้องพูดถึงและน่าจะเป็นจุดเด่นของ Vemuram ทุกรุ่นคือการที่เมื่อเราเปิดใช้งาน FX และบาลานซ์ระหว่าง Volume ของ FX และ Amp แล้วนั้น ก้อนของ Vemuram จะทำให้เสียงกีตาร์เราฟังเด่นชัดและ Hi Fi ขึ้นเล็กน้อย ช่วยได้มากในกรณีที่เราเจอแอมป์ที่คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่นั้นฟังชัดเจนขึ้น JR ยังสามารถใช้ไฟได้ถึง 18v จะทำให้เสียง Ovd ฟังมีไดนามิกมากกว่าเดิม ถึงแม้จะแตกน้อยลง และฟังเคลียร์ขึ้นอีกมาก



น่าจะเป็น Ovd ในแนวๆ 60s Blackface ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยได้สัมผัสมา และเอาจริงๆ ก็สามารถปรับให้ใกล้ๆ กับก้อน Ovd แนวๆ Dumble Sound ได้ไม่ยากนักครับ เนื้อเสียงหนา ใหญ่ นุ่ม Clipping ช่วงเสียงกำลังจะแตก ก็ฟังดูดี ไม่คอมเพรส ถึงราคาจะไต่เกือบหมื่นกลางๆ แต่คุ้มค่าครับ ยากและไม่ค่อยเจอนัก ที่เราจะมี Ovd ในแนวๆ นี้ ดีแบบนี้มาให้เล่นกัน ไม่เชื่อลองฟังซาวด์กีตาร์ของ Michael Landau , Matt Schofield ดูคับ


วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Kinman : Woodstock Set

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมเขียนถึงปิ๊กอัพกีตาร์แบรนด์หนึ่งซึ่งเรียกว่ายังใหม่มากในบ้านเรา แต่ปัจจุบันนี้ปิ๊กอัพแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับกันในวงกว้างแล้วในบ้านเรา ด้วยความที่ตัวปิ๊กอัพมีความโดดเด่นมากๆ ในเรื่องของการลดเสียงจี่ หรือฮัมลงไปแทบจะเป็นศูนย์ (ถึงแม้เค้าจะบอกว่าเป็น Zero Hum แต่ในความเป็นจริง การลด Noise เหล่านี้ ลดได้สัก 80%-90% ก็เจ๋งมากแล้ว) เซ็ตที่ผมจะนำมาพูดถึงในวันนี้เป็นเซ็ตที่ได้รับความนิยมสูงกว่าชาวบ้าน เนื่องจากมันมีความเกี่ยวเนื่องกับซาวด์ของมือกีตาร์ท่านนึงที่ล่วงลับไปแล้ว เซ็ตนี้เรียกว่า Woodstock Set ได้ยินชื่อแล้วหลายท่านคงจะต้องร้องอ๋อ ใช่แล้วครับ Kinman เซ็ตนี้มี sound reference จาก Jimi Hendrix นั่นเอง




Woodstock Set ประกอบด้วยซิงเกิ้ลคอยล์สามตัวคือ AVn-69 - AVn-69 - Hx85 ซึ่งปิ๊กอัพในตระกูล AVn-69 ของ Kinman นั้น เป็นปิ๊กอัพที่พยายามจะจับเอาเสียงในแบบปลาย 60 ของกีตาร์สแตรทดีๆ ในยุคนั้น เสียงที่ได้จึงฟังเต็ม ฟังใหญ่ ฟังกลมและเด้ง แต่ไม่อั้น (compressed) และด้วย AVn-69 พันโดยใช้แม่เหล็ก Alnico V ที่ชาร์จแบบไม่แรงมาก จึงทำให้แม่เหล็กไม่ได้ทำงานแบบหนักหน่วงมากนักมีผลให้ความ Muddy หรือความเบลอที่ปรกติจะเกิดขึ้นกับปิ๊กอัพแรงๆ นั้น ไม่มี ส่วนตัว Bridge ของ Set ที่เป็น Woodstock Plus จะเป็นรุ่น Hx85 ที่ต่างจากชุด Woodstock นิดหน่อย เพราะ Hx85 จะมี Output ที่แรงขึ้นอีกหน่อย ไว้สำหรับคุณๆ ที่ชอบตัว Bridge แรงหน่อย



ผมมีโอกาสทดสอบ Kinman : Woodstock Plus Set บนกีตาร์ 2 ตัว คือ Fender John Mayer Stratocaster และ Fender American Standard โดยผ่านแอมป์ Bogner Shiva Head - Shiva 2x12 โดยใช้โอเวอร์ไดร์ฟ Providence Flame Drive และ Mad Professor : Stone Grey Distortion พบว่า เสียงของ Woodstock Plus นั้นมีความหนา และเด้ง ภาษาคนกีตาร์เรียกว่าเสียง "ป๊อง" มาก ความเป็นธรรมชาติมีสูงและบาลานซ์ระหว่างสายทั้ง 6 เส้น ชัดเจนไม่มีสายไหนดร๊อป หรือเบา โทนสายบนหนาเด้งมากแต่ไม่เบลอ ถึงแม้จะใช้ Overdrive/Distortion ร่วมด้วย ก็ไม่ได้ทำให้เสียงฟังเบลอครับ ตรงนี้ถือว่าทำได้ดีมากๆ ในกรณีที่เป็น Single Coil ที่เป็น Hi Output แบบนี้ Kinman : Woodstock Set (Standard Set & Plus Set) เป็นปิ๊กอัพกีตาร์ที่น่าจะเหมาะสมกับคุณๆ ที่มีกีตาร์แบบ S-S-S / H-S-S แล้วต้องการอัพเกรดให้เสียงฟังดูดีขึ้นและที่สำคัญคือไม่จี่ ไม่ฮัมในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะนักดนตรีอาชีพครับ เพราะคุณๆ ไม่รู้เลยว่าคุณจะไปเจอระบบไฟแบบไหนใช่ไหมครับ?




วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Vemuram : KAREN


เสียง Overdrive/Distortion เป็นเสียงหนึ่งที่คนเล่นก้อนจะถวิลหาก่อนเป็นตัวแรกๆ และมักจะเป็นก้อนที่มีจำนวนมากที่สุดในบ้าน (ฮา) ตามที่ผมมีโอกาสได้จับก้อนเสียงแตกมาเป็นจำนวนพอสมควร เสียงหนึ่งที่ชาวกีตาร์เล่นก้อนตามหามากที่สุด คือเสียงแตกในแบบ Marshall ซึ่งก็อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มพวก Vintage Marshall เช่นเสียงแบบ JTM45 หรือ Plexi และกลุ่ม Marshall Hi Gain อย่าง JCM800/900 เสียงเหล่านี้จะถูกจำลองลงมาในรูปแบบก้อนมากที่สุดเสียงหนึ่ง


Vemuram เป็นค่ายใหม่ที่ผลิตเอฟเฟคในกลุ่ม Boutique ที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดมาจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นกลุ่มคนทำเอฟเฟคต์ก้อนที่มีไอเดียใหม่ๆ ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ค่อนข้างจะชัดเจน ก้อนที่ผมจะนำมาพูดถึงในบทนี้ เรียกว่า KAREN ซึ่งเป็นเสียงแตก Overdrive/Distortion ที่เป็นกลุ่มเสียง Marshall Vintage (แต่แอบ Hi Gain)

                                           

เกริ่นไว้เมื่อสักครู่ครับ ว่า Vemuram มีไอเดียที่แตกต่างจากแบรนด์อ่ืนๆ อย่างชัดเจน ข้อที่เด่นชัดสุด ก็คือเรื่อง Housing ของ Vemuram ทุกรุ่นนั้น จะเป็น Brass หรือทองเหลือง เขาเหตุผลว่าทำไมจึงใช้เคสทองเหลืองที่หนักกว่าและราคาสูงกว่า ก็เพราะว่าเคสทองเหลืองจะช่วยกำจัด Noise ที่ไม่ต้องการออกไปมากพอสมควรเมื่อเทียบกับ Aluminum Case ซึ่งตรงนี้น่าสนใจครับ เพราะว่าคนเล่นก้อนที่แตกเยอะๆ สิ่งที่เราพบเจอกันบ่อยๆ ก็คือเรื่องของเสียงจี่ หรือ Noise ที่ไม่ต้องการ เดี๋ยวทดสอบกันก็จะได้รู้ว่ามีผลมากน้อยอย่างไร

                                           

Vemuram : KAREN เป็น Overdrive/Distortion ที่ซื่อๆ ตรงๆ ง่ายๆ ครับ มีปุ่มปรับแค่ 3 ปุ่ม คือ Volume - Tone - Gain แต่มีอาวุธลับอยู่ที่ด้านบนของตัวเอฟเฟคต์จะมีช่องเล็กๆ เป็น Trim Pot ไว้สำหรับปรับสิ่งที่เขาเรียกว่า Gain Width มันคืออะไรเดี๋ยวเราค่อยไปคุยกันหลังจากได้ลองแล้ว ผมทำการทดสอบ KAREN ด้วย Gibson Les Paul Std R9VOS ผ่าน KAREN ไปออก Marshall 2061 - 2061cx Cabinet พบว่า เจ้าก้อนทองเหลืองก้อนนี้ให้อะไรมากกว่าความเป็น​​ "อีกก้อนที่เสียงเหมือน Marshall" เพราะหลังจากปรับเล่นดูหลายๆ แบบ และเมื่อปิด Gain เหลือ 0 เจ้า KAREN สามารถทำหน้าที่เป็น Overdrive ที่ไม่มีอาการคอมเพรส ฟังดูโปร่งดี จากนั้นปรับ Gain ขึ้นไปที่ราวๆ 10 โมง เสียงที่ได้จะคล้ายคลึงกับเสียงไดร์ฟจากตู้แอมป์มาร์แชลพวก JCM800 จะฟัง Crunchy มากๆ ย่าน Hi Frequency ฟังระยิบระยับสว่างมาก แต่ไม่แหลม และถ้าจะออกแหลมเล็กน้อย แค่หมุนปุ่มโทนลงมาเล็กน้อยก็จะฟังพอดีๆ ทันที่ ปุ่มโทนนี้ ค่อนข้าง Effective มากๆ ปรับแต่งเสียงได้ละเอียดดีทีเดียว และเมื่อใช้ Gain หลังเที่ยงเป็นต้นไป เสียงแตกจะฟังหนักหน่วงเกินกว่าจะเรียกว่า Overdrive แล้วครับ แต่จะเป็น Distortion สไตล์มาร์แชลที่หนักหน่วงและกลางไม่จมเลย เสียงเล่นมันส์และสนุกมือมากๆ การตอบรับของเสียงกระชับ ไว และไม่มีอาการหน่วงเลย ส่วน Trim Pot ด้านบนจะมีผลกับ Gain ครับ จะไม่ได้เพิ่มให้มันไปแตกไปมากกว่าเดิมเท่าไหร่ แต่จะทำให้เสียง Distortion ฟังดูหนาใหญ่ อิ่มขึ้นอีก ทีนี้ ต้องดูแล้วครับว่าเราต้องการให้มันหนาใหญ่ขนาดไหน ปรับจูนกันได้ตามใจเลย ก้อนเสียงแตกสไตล์ Hard Rock / Hair Band หรือ Marshall สไตล์นั้นมีเยอะแยะมากในตลาด แต่มีไม่กี่ก้อนหรอกครับ ที่ทำได้ใกล้เคียงแอมป์แท้ๆ มากขนาดนี้ Vemuram : KAREN เป็นหนึ่งในไม่กี่ตัวที่เรียกได้ว่าใกล้สุดๆ จริงๆ


วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Free The Tone : MS SOV

Free The Tone : Matt Schofield SOV Overdrive
















ช่วงนี้มี Overdrive ดีๆ เยี่ยมๆ ผ่านมือหลากหลายก้อนมากครับ เมื่อวานเพิ่งจะลงบทความเกี่ยวกับก้อนขึ้นหิ้ง KLON Centaur วันนี้ต่อกันเลยด้วยก้อน Overdrive ที่เรียกว่ากำลังมาแรงเลยทีเดียว ด้วยความที่ Free The Tone เป็นแบรนด์ที่ผลิตเอฟเฟคต์กีตาร์ได้โดนใจมาก และคราวนี้ยังออก SOV2 Overdrive ที่มีการปรับจูนโดย Matt Schofield จนออกมาเป็นรุ่น Signature ของ Matt เรียกว่า MS SOV Overdrive ยิ่งเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก

เล่ากันสั้นๆ ก่อนครับว่า Matt Schofield เป็นใคร หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่รู้จักนักกีตาร์หนุ่ม Blues, Rock, Funk ชาวอังกฤษคนนี้ (เกิดใน Manchester ไม่รู้ว่าเป็น United หรือ City แฮะ) Matt เป็นมือกีตาร์ที่เรียกว่ากำลังมาแรงมากๆ ในยุโรป ด้วยความที่มีสไตล์การเล่นเพลง Blues ที่มีความละเมียดละไมในการเลือกใช้โน๊ตละม้ายสไตล์ของ Robben Ford, Larry Carlton, Carl Verheyen ประมาณนั้น ถ้าเป็นคนที่ติดตามงานและ Gears ของ Matt มาตลอดจะสังเกตุว่าเขาน่าจะเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องอุปกรณ์มาก


มาว่ากันถึง MS SOV กันต่อครับ เจ้าก้อนนี้มากับแพกเกจสวยงามตามสไตล์ของญี่ปุ่นที่เนี๊ยบไปซะทุกส่วน เปิดกล่องมาก็เจอก้อนสีแดง (แต่แดงต่างเฉดจาก SOV2 นะครับ) และมีลายเซ็นต์ของ Matt สกรีนอยู่ท้ายก่อน เท่ห์มากๆ บริษัท Free The Tone โดย Mr.Yuki Hayashi ออกแบบ SOV Overdrive มาโดยเอาโจทย์ที่ต้องการให้ Overdrive มีเสียงในแบบของ Robben Ford และ Larry Carlton มาเป็นโจทย์และในรุ่นของ Matt ก็ได้ต่อยอดโดยการนำเอาความต้องการของ Matt มาเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไป ซึ่งเท่าที่ผมทดสอบเปรียบเทียบกัน ผมใช้ Fender 1974 Stratocaster ต่อผ่าน MS SOV และ Mad Professor Silver Spring Reverb ไปเข้า Bogner New Yorker ออกแคบบิเนต Bogner Shiva 2x12 พบว่าเสียงที่ได้จาก MS SOV มีความแตกต่างจาก SOV2 อยู่ตรงที่ว่าย่าน Low Freq ของ MS SOV จะฟังหนาและลึกกว่า รวมทั้ง Gain ก็เยอะขึ้นกว่าตัวปรกติเล็กน้อย ส่วนตัวแล้วผมชอบเซ็ตติ้งเวลาเล่น Gain น้อยๆ เสียง Clipping ในจุดที่เสียงกำลังเกือบๆ จะแตก ฟังดูหนาใหญ่ และปิ๊กแอทแทคชัดเจน ถึงแม้จะโลว์ใหญ่แต่ย่านเสียงกลางและแหลมก็ยังมาและไม่แหลมเกิน เรียกว่าฟังกลมกล่อมก็แล้วกัน ถ้าเร่ง Gain ขึ้นอีกก็จะไปอยู่ในกลุ่ม Brown Sound เสียง Overdrive จะฟังหนา Gain ฟังมีเนื้อเสียงละเอียดและหนา FTT ได้ผลิตรุ่นนี้มาพร้อมทั้งเซอร์กิตที่เรียกว่า HTS Circuit ซึ่งเป็น System ที่ชดเชยเสียงเมื่อ Off เอฟเฟคต์ทำให้เสียงกีตาร์ที่วิ่งผ่านตัวเอฟเฟคต์ (ถึงจะไม่ได้เปิดใช้) ไม่มีการสูญเสียของสัญญาณเลย น่าจะเป็นข้อดีมากๆ สำหรับคนกีตาร์ที่ซีเรียสเรื่อง Tone Loss ครับ



จุดที่เห็นว่าอาจจะด้อยหน่อยของ Overdrive ตัวนี้ มีเพียงว่าเค้าค่อนข้างกินไฟมากครับ คือกินไฟถึง 90mA ซึ่งเยอะมากสำหรับ Overdrive หนึ่งตัว ถ้าคุณใช้ถ่าน Alkaline ก็จะหมดภายใน 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว ทาง FTT แนะนำให้ใช้ Power Supply จะดีที่สุด และ FTT MS SOV นี้ เป็น Limited Edition ครับ จะวางจำหน่ายตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ไปจนถึงหมดปี 2556 เท่านั้นอีกด้วย



ว่ากันตามตรงแล้วผมประทับใจ SOV มาตั้งแต่ Mr.Hayashi ยังผลิตให้กับ Providence อยู่จนมาถึงวันที่เขาออกมาเปิดแบรนด์ของตัวเอง คือ Free The Tone นี้ เอฟเฟคต์ของเขาก็ยังได้รับการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบ Housing หรือเรื่องของ Tone จนมาถึงตัวนี้ ผมก็ยังรู้สึกว่า Mr.Hayashi ไม่เคยพอใจและหยุดพัฒนาเลย และ Overdrive ตัวนี้ MS SOV จาก Free The Tone ก็เป็น Overdrive อีกตัวที่อยู่ในระดับ 5 ดาว และแนะนำว่าต้องลองครับ 

เปรียบเทียบ SOV ทั้งสามเวอร์ชั่น

Klon : Centaur

Holy Grail Of Overdrive? Most Overpriced Overdriver Pedal?

เป็นคำถามที่ตอบยากและเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างสำหรับผู้รักการเล่นก้อนทั่วโลกว่า KLON Centaur เป็นสุดยอดของสุดยอดก้อน Overdrive? หรือเป็นก้อนที่ปั่นราคากันสูงกว่าความเป็นจริง? ตั้งใจจะเขียนถึงก้อนนี้อยู่ หลังจากที่ผมเพิ่งได้มาใหม่ๆ เนื่องเพราะว่ารู้สึกว่าเจ้า Overdrive ก้อนนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากหน่อยในอุตสาหกรรมเอฟเฟคต์ ที่ว่าเป็นปรากฏการณ์ก็เพราะว่าเมื่อคราวที่ยังผลิตอยู่ Centaur เมื่อปี 1995 ราคาน่าจะราวๆ $300-$400 (9,000-12,000) ต่อ 1 ยูนิต แต่ปัจจุบันนี้ Klon : Centaur รุ่นดั้งเดิมวางขายอยู่บน www.ebay.com อยู่ราวๆ $1,500 - $2,000 (45,000-60,000 บาท ส่วนตัวที่ผมได้มาราคาจบที่ $1,543 ถ้วน)

Centaur ที่เห็นๆ อยู่ในตลาดจะมีกันหลากสีครับ แต่เซอร์กิตจะเหมือนกันหมด ยกเว้น 300 ตัวแรกที่จะใช้เซอร์กิตบอร์ดที่ต่างจากตัวหลักๆ และที่ว่าหลากสีนั้นผมหมายถึงเท่าที่ผมเคยเห็นนั้น Centaur ที่คุ้นๆ ตากันก็จะเป็นบ๊อกซ์สีทองด้านและมีโลโก้คนครึ่งม้าสกรีนอยู่ รุ่นที่หายากหน่อยขึ้นมาอีกหน่อย ก็จะเป็นบ๊อกซ์เงินเงาและมีโลโก้คนครึ่งม้าสกรีนอยู่ ปัจจุบันเห็นว่ากันอยู่ที่ราคาประมาณ $2,000-$2,500 (ราว 60,000-75,000 บาท) และรุ่นที่ราคาย่อมเยาลงมาหน่อยก็จะเป็นบ๊อกซ์ที่เป็นทองด้าน หรือ เงินด้าน และเงินเงา แต่ไม่มีโลโก้ใดๆ มีสกรีนว่า KLON เฉยๆ จะเห็นซื้อขายกันอยู่ที่ $800-$1,000 (24,000-30,000 บาท) เท่าที่เคยคุยกับเพื่อนๆ ที่นิยม KLON เป็นพิเศษ ได้รับข้อมูลว่าเนื่องเพราะ KLON มีอัตราการผลิตที่ช้า และมีจำนวนน้อยมาก รวมไปถึงสุ้มเสียงของ Overdrive ก็ดีเยี่ยมเป็นที่ยอมรับกันในหมู่คนเล่นกีตาร์ดังๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น Matt Schofield, Joe Perry, Brad Witford และปัจจุบันบ๊อกซ์แบบนั้นก็ไม่ได้ผลิตอีกแล้ว ที่มีอยู่ในตลาดก็มีราวๆ สี่พันกว่ายูนิตเท่านั้น รวมปัจจัยทั้งหมดก็ทำให้เกินปรากฏการณ์ KLON Centaur ขึ้นมา



หลังจากที่ผมได้มาก็มีโอกาสได้เล่นจริงๆ จังๆ อยู่หลายวัน ใช้ทั้งกีตาร์ที่ติด Humbuckers และ Single Coils ทดสอบดู พบว่า KLON เป็น Overdrive ที่ค่อนข้างจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง จุดเด่นๆ ของเขาอยู่ที่เสียงที่หนาใหญ่มาก โดยเฉพาะเวลาเล่น Solo เนื้อเสียงและโน๊ตแต่ละตัวจะมีความหนามาก อีกจุดที่เด่นๆ คือการคลายตัวของเสียงแตกนั้นค่อนข้างช้า จึงทำให้เสียงหนานั้นค้างนาน การใช้งานก็สามารถปรับแต่ได้หลากหลายพอสมควร ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า Centaur เหมาะกับกีตาร์ประเภท Single Coils มากกว่า ไม่ว่าจะใช้เป็น Clean Boost หรือใช้เป็น Overdrive พวก Light Gain หรือ Medium ก็จะอยู่ในกลุ่ม Brown Sound ในแบบ TS Style แต่หนาใหญ่กว่า (มาก) จุดที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องด้อยหน่อย ก็เห็นจะเป็นเรื่อง Compression ที่มีมากไปสักหน่อย คนที่ชอบ Overdrive เสียงโปร่งๆ ไม่น่าจะชอบครับ หากถามว่าจำนวนเงินที่จ่ายไปสำหรับ "ม้าทอง" (ภาษาคนเล่นก้อนเค้าเรียกกัน) $1,543 นั้นคุ้มหรือไม่กับเสียงและก้อนที่ได้มา? ผมตอบไม่ได้และไม่ขอตอบก็แล้วกันครับ (ฮา) แต่บอกได้ว่าเป็น Overdrive อีกก้อนที่เสียงไม่ธรรมดาครับ


วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

Clean Boost Shoot-Out

ในบทความเก่าๆ ผมมีพูดถึงเรื่องของ Booster ไว้บางส่วนว่า เป็นหนึ่งในก้อนที่คนเล่นกีตาร์จำเป็นจะต้องใช้ วันนี้ผมจะเขียนถึงในกรณีที่ต้องการความแตกต่างของความดังระหว่างภาค Rhythm ไป Solo และเราไม่ต้องการให้โทนเสียงเราเปลี่ยน หรือไม่ต้องการเพิ่ม Gain/Distortion ให้มากขึ้น สิ่งที่เราต้องการในกรณีนี้ก็คือ Clean Boost ครับ ส่วนตัวแล้วจากที่เคยได้ลอง Clean Boost มาหลากหลายแบรนด์ ผมคิดว่าสิ่งที่จะทำให้เจ้าตัวนี้เป็น Clean Boost ที่มีคุณภาพนั้น ต้องมีคุณสมบัติหลักๆ คือ ไม่เปลี่ยนโทนเสียง และ ไม่เพิ่ม Noise ให้กับ Signal 

ผมทำการ Shoot-Out ก้อน Clean Boost 3 ตัว ที่ผมเห็นว่าดีที่สุดเท่าที่เคยผ่านมือมา คือ :

- Keeley Katana Clean Booster : ตัวนี้คงไม่ต้องแนะนำเยอะ เพราะโด่งดังเป็นเต้ยมาตั้งแต่ปี 1996 ถ้าไม่ดีจริง คนกีตาร์ดังๆ อย่าง Neil ZaZa / John Mayer คงจะไม่ใช้เป็นแน่



- Providence: Final Booster : เป็น Clean Booster จากค่าย Boutique FX จากญี่ปุ่น เป็นอีกตัวที่กำลังมาแรงเลยทีเดียว



- Free The Tone : Final Booster : อาจจะสงสัยว่าทำไมชื่อเดียวกันกับตัวบน นั่นเป็นเพราะว่า Cheif Engineer ของ Providence ออกมาตั้งบริษัทเอง ชื่อว่า Free The Tone เป็นค่ายที่ทำเอฟเฟคแบบ Hand/Custom Made โดยใช้อุปกรณ์ชนิดคุณภาพสูงสุด



ผมทดสอบ Booster ทั้งสามก้อนโดยใช้ Fender Telecaster R60 กับแอมป์ Marshall Super Lead ร่วมกับ Bogner Uberkab 4x12 โดยทดสอบโดยใช้ Boost ทั้งอยู่ก่อน Overdrive และอยู่หลัง Overdrive ส่วน Overdrive ที่ใช้คือ Mad Professor : Little Green Wonder ผมเริ่มทดสอบจากการเอา Booster ทั้งสามตัววางไว้หน้า Overdrive และเซ็ต Booster ไว้ที่เที่ยงทั้งหมด พบว่าเสียงที่ได้จะคล้ายๆ กับการ Push ให้แตกมากขึ้นโดยเพิ่มความดังเล็กน้อย โดย Keeley Katana จะมีเสียงกลางเพิ่มขึ้นนิดๆ คอมเพรสนิดหน่อย และได้เกนท์เพิ่มขึ้น ทำให้เหมือนว่าเล่นติดมือขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ Providence: Final Booster จะได้เสียงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ และติดคอมเพรสเล็กน้อย เกนท์เพิ่มขึ้น สุดท้ายเป็น FTT : Final Booster ตัวนี้คลีนที่สุด ไม่เปลี่ยนแปลงโทนกีตาร์ และไม่ติดคอมเพรส เกนท์ที่เพิ่มขึ้นมาก็ฟังสะอาด

ผมทดสอบอีกแบบโดยวาง Booster ทั้งสามตัวไว้หลัง Overdrive ฟังดู Level ดังขึ้นในระดับใกล้เคียงกันมาก โดย Keeley Katana ยังได้โทนกีตาร์ใกล้เคียงเดิม และได้เสียงกลางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คอมเพรสน้อยลงกว่าวางไว้หน้า ส่วน Providence : Final Booster จะฟังสะอาดและโทนเสียงกีตาร์แทบจะไม่เปลี่ยน ยังมีคอมเพรสเล็กน้อย และ FTT : Final Booster จะฟังดูคลีนที่สุด เนื้อกีตาร์ไม่เปลี่ยน โดยเฉพาะย่าน Hi Frequency ฟังดูสดใสมาก ผมคงไม่บอกว่าตัวไหนดีที่สุด เพราะทั้งสามตัวมีของเค้าเองทั้งสิ้นครับ นักกีตาร์ที่ชอบ Clean Boost ที่ฟังคลีน แต่ขอคอมเพรสนิดๆ เพื่อความเหนียว ก็อาจจะต้องมุ่งไปลอง Keeley Katana หรือ Providence : Final Booster ถ้าคนที่ชอบแบบคลีนและเคลียร์ 100% ก็ต้องเล่น FTT : Final Booster อะไรแบบนี้ครับ ขอให้สนุกกับการเล่นก้อนครับ