วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Bogner Ecstasy Red

หลังจากทดสอบ Uberschall Pedal กับ Ecstasy Blue Pedal ไปแล้ว ผมก็เกิดอาการคันเหลือหลาย อยากทดสอบตัวสุดท้ายในไลน์ผลิตก้อนของ Bogner นั่นก็คือ Ecstasy Red ที่ตอนนี้มาอยู่ในมือผมพร้อมที่จะให้ทดสอบดูแล้วครับ Bogner Ecstasy Red เป็นเอฟเฟคต์ที่จับเอาแชนแนลสีแดงของแอมป์ Bogner Ecstasy มาเป็นต้นแบบในการผลิต ซึ่งเจ้าแชนแนลสีแดงนี้ก็เป็น Hi Gain แชนแนลของแอมป์ Ecstasy ครับ

เช่นเคย Bogner Ecstasy Red มากับแพคเกจจิ้งที่สวยงามน่าจับต้อง เป็นกล่องออกมาก็จะเจอต้องเอฟเฟคต์สีแดงสดใส แผงวงจรถูกห่อหุ้มด้วยกล่องเหล็กแข็งแรงทนทานตามแบบฉบับเยอรมัน (Bogner Products นี่ดีไซน์โดยชาวเยอรมัน แต่ผลิตในอเมริกา) แผงหน้าตามีความใกล้เคียงกับ Ecstasy Blue แทบจะทั้งหมดคือ มีปุ่ม Volume - Treble - Mid - Bass - Gain เป็นหลัก และสามารถจูนจุดอื่นๆ ได้จาก Toggle ที่คอนโทรล Variac - Mode - Pre EQ - Structure และมี Trim Pot เล็กๆ ที่ควบคุม Volume และ Gain ในส่วนของ Boost ด้วย
ผมทดสอบ Ecstasy Red ด้วย Warmoth/Zith Guitar ผ่านตัวเอฟเฟคต์ไปเข้าแอมป์ Top Hat : Vanderbilt 33 พบว่าเจ้า Ecstasy Red นี่ถือเป็นก้อนที่ให้จำนวน Distortion มามากที่สุดในจำนวนทั้งสามรุ่นของ Bogner Pedals เปิดเกนท์ประมาณ 50% ก็ถือว่าแตกมากแล้ว และเสียงแตกที่ได้นี้ค่อนข้างใกล้เคียงเสียงที่ได้จากแอมป์พลิฟายด์ อาการคอมเพรสมีให้ได้ยินน้อยมาก เสียงแตกฟังดูเปิด (แต่ไม่แหลม) ปุ่ม EQ ทั้งสามปุ่มมีผลต่อการปรับมากๆ ครับ การหมุน EQ ปรับดูทำให้เกิดความแตกต่างและแคแรกเตอร์เสียงต่างๆ ออกไปกว้างมาก บวกกับเมื่อคุณปรับผสมเสียงร่วมกับ Mode Toggle และ Structure Toggle ทำให้ Ecstasy Red น่าจะเป็น Distortion ที่ให้ซาวด์ที่่คุณต้องการในหลายๆ แบบเลย 
Toggle ที่ผมพูดถึงเมื่อสักครู่ ก็เป็นการไฟน์จูนแคแรกเตอร์ของเสียงได้อีกหลายแบบ เช่นในส่วนของ Mode คุณสามารถควบคุมย่าน Low Frequency ให้ได้ซาวด์แบบแน่นกระชับ (Tight) หรือจะให้ฟังแบบหลวมๆ นุ่มๆ หน่อย (Mellow) หรือให้เสียงออกมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยใหญ่ๆ ก็ได้ (Full) หรือ Pre EQ ที่จริงๆ ก็คือ Bright Switch ที่ช่วยปรับย่าน Presense นิดหน่อย ในกรณีที่เราเจอแอมป์พลิฟายด์ต่างแบบกัน ก็พอจะช่วยให้เสียงมันเข้าท่าเข้าทางขึ้นมาอีกได้มากอยู่ และจุดที่ผมชอบคือ Structure ครับ การปรับ Structure ช่วยมากเรื่องแคแรกเตอร์ของการแตก 101 จะจำลอง Ecstasy 101B คือเป็น Vintage Sound ที่ออกไปทาง Hi Gain หน่อยๆ 100 คือ Classic Mod คิดง่ายๆ ว่า 101B คือ Steve Vai ซาวด์ และ 100 คือ Gary Moore ซาวด์ดีกว่า มันเห็นภาพขึ้นอีกนิด ส่วน 20th เป็นแคแรกเตอร์ของหลอด KT88 ที่ย่าน Low จะหนาขึ้นแตกเสียงแตกจะมันส์ขึ้นอีก


ต้องบอกว่า Bogner Ecstasy Red เป็นก้อนเสียงแตกที่เยี่ยมสุดตัวหนึ่งที่ผมเคยสัมผัสมา แคแรกเตอร์เสียงปรับได้กว้าง มี Boost ในตัวครบเครื่อง ปรับได้ตั้งแต่เป็น Overdrive จนถึง Hi Gain เหมาะกับกีตาร์ทั้งแบบ Single coils และ Humbuckers ถ้าตอนนี้คุณมองหา Distortion ที่จะเอาไปใช้งานได้กว้างๆ หล่ะก็ Bogner Ecstasy Red เป็นตัวนึงที่คุณไม่ควรมองข้าม และควรค่าแก่การทดสอบครับ แน่นอนว่าตอนนี้เจ้า Red นี่ก็มาลงบอร์ดผมแบบถาวรไปแล้ว ได้ฟังว่ามือกีตาร์แจ๋วๆ ในบ้านเราก็ให้ความไว้วางใจ Ecstasy Red ตัวนี้ด้วย ก็อย่างเช่นคุณยอด แห่งคณะบอดี้สแลม จึงอยากให้คุณๆ มีโอกาสได้ลองครับ




วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

BKP : Blackdog

ครั้งนี้ตั้งใจเอาเรื่องปิ๊กอัพแบรนด์ Bare Knuckle Pickups มาเขียนอีกครั้ง เนื่องด้วยผมเพิ่งเปลี่ยนปิ๊กกีตาร์ของตัวเอง จะว่าไปก็อาจจะเป็นเรื่องงงๆ หน่อย คือผมเปลี่ยนจากรุ่น Blackdog ไปเป็นรุ่น Blackdog ครับ คุณอ่านไม่ผิดหรอก ผมเปลี่ยนใส่รุ่นเดิมนั่นแหละครับ เพียงแต่ผมเปลี่ยนจากแบบ Covered (มีฝาครอบ) ไปเป็น Open Coil (หน้าตาเป็นแบบหนอนสองตัวประกบกัน) ด้วยความที่ผมอยากทราบว่าเสียงมันต่างกันอย่างไร และมันดูเท่ห์ดีเมื่อใส่ลงบน Les Paul (อย่างน้อยผมก็มองแบบนั้นนะ)

กีตาร์ที่ผมจะเปลี่ยนปิ๊กอัพลงคือ Gibson Les Paul Standard R59 VOS ปี 2006 ของเดิมที่ติดมาตั้งแต่ทีแรก เข้าใจว่าเป็นปิ๊กอัพ Gibson Burst Bucker Pro ซึ่งมีความแรงระดับนึง และมีย่าน Low Frequency ที่หนักหน่วงมากๆ ในกรณีของผมแล้ว เรียกว่าล้นเกินไป จึงมีความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนปิ๊กอัพเพื่อให้ได้ซาวด์ออกมาใกล้ๆ Vintage PAF (Patent Applied For) ซึ่งเป็นปิ๊กอัพที่ถูกผลิตไว้ใส่ 59 Les Paul รุ่นดั้งเดิมแท้ๆ ผมใช้เวลาหาข้อมูลพบว่ามีหลากหลายแบรนด์ที่พยายามจะ Capture เสียงในแบบ PAF ออกมาและหนึ่งในผู้ผลิตที่ทำได้ดีจนผู้คนกล่าวถึงมากๆ ก็คือ Bare Knuckle Pickups จากประเทศอังกฤษ ซึ่งออกมาในรุ่น The Mule ผมลองศึกษาข้อมูลพร้อมหาคลิปมาฟังประกอบก็รู้สึกว่า Mule นั้นดีจริง แต่ยังตอบสนองความต้องการของผมไม่หมด จึงตัดสินใจอีเมลล์หามิสเตอร์ Tim Mills เจ้าของและผู้ออกแบบปิ๊กอัพของ Bare Knuckle Pickups บ่งบอกถึงความต้องการของผม โจทย์ผมก็คือต้องการปิ๊กอัพที่มีความบาลานซ์ระหว่างสายสูง ความดังเบาไม่มีโดด และต้องการเสียงกลางเยอะหน่อย ย่านเบสไม่ต้องมากนัก และที่สำคัญผมต้องการเสียงใกล้ๆ PAF แต่มีความแรงพอที่จะเล่น Blues/Hard Rock ได้แบบไม่ต้องเค้นมาก ทาง Tim จึงแนะนำให้ผมเอารุ่น Blackdog Humbuckers มาใช้ 



ผมทดสอบ Gibson Les Paul R9VOS ที่ติด Bare Knuckle : Blackdog (Covered) กับแอมป์ Bogner Shiva + Bogner Shiva 2x12 Cab ตรงๆ โดยไม่ผ่านเอฟเฟคต์ใดๆ พบว่าเสียงที่แตกต่างจากของเดิมเลยคือเรื่องการบาลานซ์สายทำได้ดีมากๆ สาย 1 ถึง 6 เสียงดังเท่าๆ กันไม่มีสายไหนเบา สายไหนดังกว่ากัน ข้อนี้ถือว่าผ่านมากๆ เพราะเวลาเล่นเราได้ยินเสียงทุกสายชัดเจนจริงๆ ย่าน Low Frequency ก็ไม่หนาใหญ่จนเกินไป กำลังพอดีๆ หนาแต่ไม่ล้นนั่นแหละครับ เสียงกลางโดดเด่นอย่างที่ผมชอบเลย ย่าน Treble ก็คมและจิกๆ ซาวด์กระเดียดไปทางจิ๊กโก๋ๆ แบบที่ผมต้องการครับ โดยรวมนั้น ปิ๊กอัพตัว Neck จะกลมๆ หนาๆ เป็นเม็ดๆ ส่วนตัว Bridge จะแผดๆ กัดๆ เสียงกลางเด่นๆ ความดังระหว่างปิ๊กอัพสองตัวก็ Calibrated มาดีทำให้เมื่อสลับหน้าหลังแล้วไม่ดังโดดเลย


มาถึงเมื่อไม่นานมานี้ ผมก็ทำการเปลี่ยนปิ๊กอัพตัว Bridge อีกครั้ง เลือกเอารุ่นเดิม คือ Blackdog Humbucker แต่คราวนี้เป็น Open Coil มาใส่แทนตัวเก่า พบว่าเสียงยังมีแคแรกเตอร์แบบเดิม แต่กิน Distortion ได้มากขึ้น ย่านเสียง Mid กับ Treble คมใสขึ้นกว่าเก่านิดหน่อย และย่าน Low Frequency น้อยกว่าแบบ Covered เล็กน้อย แต่ต้องบอกว่า ถ้าชอบเสียงที่ Rock สะใจ แบบ Open Coil น่าจะโดนใจมากกว่าเยอะครับ ผมอยากให้คุณๆ ที่มองหาปิ๊กอัพคุณภาพดี ได้ลอง Bare Knuckle Pickups กันครับ หลังจากได้ลองมาหลายรุ่น รวมถึง Blackdog นี้แล้ว ผมยังคิดว่าบริษัททำปิ๊กอัพได้ดีกว่า และดูใส่ใจในการผลิตอย่างมากเพื่อตอบสนองความต้องการของคุณๆ ถ้าสนใจยังไงลองเช็คดูได้ที่ 

www.bareknucklepickups.co.uk 

คุณก็อาจจะเจอสิ่งที่คุณต้องการไม่ว่าคุณจะใช้ Les Paul / Stratocaster / Telecaster เค้าก็มีผลิตปิ๊กอัพหลายๆ แบบมาให้คุณได้เลือกใช้ครับ


วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Cioks : DC10


สิ่งหนึ่งที่ผมได้สัมผัสหลังจากได้สังเกตุความเป็นไปในหมู่คนเล่นก้อน คนรักก้อน หรือคนที่จำเป็นต้องใข้ก้อนก็คือการที่อุปกรณ์สำคัญมากๆ ชิ้นหนึ่ง ถูกมองข้ามกันอยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้สำคัญอย่างยิ่งยวดไม่แพ้เอฟเฟคต์ก้อนโปรดของคุณๆ เลย ผมกำลังหมายถึงตัวจ่ายไฟ หรือที่เราเรียกกันจนคุ้นหูว่า Power Supply และเจ้าตัวจ่ายไฟนี้ ถือว่าเป็นอุปกรณ์หลักที่น่าจะมีติดบอร์ดไว้เพื่อเป็นขุมพลังงานให้กับเอฟเฟคต์ของนักกีตาร์แทบจะทุกบอร์ด ถ้าถามว่า Power Supply มีประโยชน์เพียงแค่จ่ายไฟหรือ? คำตอบก็คือไม่ใช่ครับ Power Supply คุณภาพดีๆ นั้น นอกจากจะจ่ายกำลังไฟให้กับเอฟเฟคต์ของคุณแล้ว ยังช่วยลดอาการจี่/ฮัม จากตัวเอฟเฟคต์ ลดอาการไฟไม่นิ่งและทำให้เอฟเฟคต์ของคุณทำงานได้เต็มที่ และแน่นอนว่าเสียงดีขึ้นด้วย

วันนี้ผมจะแนะนำแบรนด์ใหม่ที่เป็นน้องใหม่มาแรง เรียกว่า CIOKS เป็น Power Supply สัญชาติเดนมาร์กภายใต้การออกแบบของ Poul Cioks ที่ผลิต Power Supply ออกมามากมายหลากหลายรุ่น โดยแบ่งเป็นกลุ่ม Standard Series และ Professional Series ผลิตครอบคลุมทั้งไฟชนิด AC แหละ DC เลยทีเดียว ผมจะพูดถึงรุ่นที่เรียกว่าท๊อปฮิตของพวกเขากันก่อนครับ เป็นรุ่นที่อยู่ใน Professional Series เรียกว่า DC10 เจ้าตัวนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างหลากหลายและครอบคลุม สำหรับมือกีตาร์/มือเบสที่เรียกว่าเป็นคนขี้เบื่อ (ฮา) ชอบเปลี่ยนเซ็ตอัพของตัวเองอยู่บ่อยๆ ที่ว่าเหมาะก็เพราะว่า เจ้า DC10 นี้มี ช่องเสียงไฟ (Outlet) ให้ใช้ถึง 10 ช่อง มีการจ่ายไฟที่หลากหลายเหมาะสมกับหลายสถานการณ์



จ่ายไฟอย่างไรบ้าง?

Cioks DC10 มีภาคการจ่ายไฟที่มีหัวจ่ายแบบ 9vDc จ่ายที่หัวละ 100mA อยู่ 4 ช่อง / มีหัวจ่ายแบบ 9 หรือ 12vDC ที่หัวละ 200mA อยู่สองช่อง (ที่สามารถรวมกำลังไฟกันได้) และ 9 และ 12vDC ที่หัวละ 400mA อยู่ 1 ช่อง (ชุดนี้จะคำนวนรวมกันไม่เกิน 400mA) และสุดท้ายมีช่องจ่าย 9 และ 12 หรือ 15vDC ที่หัวละ 400mA (ใช้คำนวนไฟรวมกันเช่นกัน) เห็นความหลากหลายแล้วใช่ไหมครับ? เพราะงั้นกลุ่มนักกีตาร์/คนเบส ที่ใช้เอฟเฟคต์หลากหลายชนิดของไฟ ก็หมดปัญหาไปครับ

แล้วมันเหนือกว่าแบรนด์อื่นๆ ตรงไหน?

ต้องบอกว่ามีที่เห็นๆ เลย 3 จุดใหญ่ๆ คือการที่ Cioks กล้าๆ ใช้ Transformer ชนิด Toroidal Transformer ที่มีคุณภาพสูงและคุณประโยชน์เหนือกว่าชนิด Standard Laminated ซึ่งไอ่เจ้า Torodial นี่แหละที่ทำให้ก้อนๆ ของคุณมีเสียงรบกวนน้อยลงมากๆ ครับ ในจุดที่ 2 ก็คือ Cioks ใส่ Short Circuit Protection ไว้ในทุกๆ ช่องจ่ายไฟ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ถือว่าเป็นการดีไซน์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับ Users มากๆ ในกรณีที่ถ้าคุณๆ ใช้เอฟเฟคต์ก้อนราคาสูงๆ ถ้ามีการลัดวงจรขึ้นมา คงจะไม่คุ้มเลยใช่ไหมครับ ในส่วนสุดท้ายที่ผมเห็นว่าเป็นข้อดีมากๆ ของ DC10 (หรือรุ่นอื่นๆ ของ Cioks) ก็คือการมีสายเคเบิ้ลให้ใช้แบบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบ Split คือเรียกง่ายๆ ว่าจ่ายไฟได้ 2 ก้อนจาก 1 outlet หรือ Stacked คือการจ่ายไฟชนิดรวมกระแส (เนื่องจาก DC10 เป็น Isolated)

การใช้งาน

การใช้งานก็ง่ายดายนะครับ เปิดกล่อง เลือกสายเคเบิ้ลให้ถูกต้อง เสียบเข้ากับเอฟเฟคต์ก้อนของคุณ เท่านี้ ก็เรียบร้อย เจ้า DC10 นี้ติดมากับแผ่นเหล็ก 2-3 ชิ้น ที่ใช้ติดมันเข้ากับ Pedalboard ของคุณได้อย่างแน่นหนา ถ้าหากใช้ PedalTrain ก็สามารถเจาะข้างใต้แล้วเอาน๊อตยึดแบบถาวรไปเลยได้ สายเคเบิ้ลที่ให้มา ก็มีหลากหลายหัวที่เป็นแบบปรกติทั่วไป หรือเป็นแบบหางหนู (ใช้กับพวก DOD บางรุ่น หรือ TS808) หรือว่าจะเป็นชนิด Reverse Polirity ก็มี และมีความยาวหลากหลายครับ ติดข้ามไปมาในบอร์ดได้สบาย 


โดยสรุป หลังจากได้ลองแล้ว DC10 เป็น Professional Power Supply ที่น่าจะครอบคลุมที่สุดแล้วในตลาดตอนนี้ และเรียกว่าใช้คอมโพเนนท์หลักที่คุณภาพสูงสุด่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ Toroidal Transformer ที่คุณภาพดีที่สุด ทำให้เรื่องของ Noise และความนิ่งในการจ่ายไฟทำได้ดีเยี่ยมจริง ไม่อยากให้มองข้าม และเป็นเรื่องคุ้มค่าที่จะลงทุนกับ Power Supply ดีๆ เพื่อประโยชน์ที่สำคัญอย่างน้อยๆ 1. รักษาไม่ให้ก้อนๆ ของคุณเป็นอันตราย และ 2. ทำให้ก้อนๆ ของคุณเปล่งประสิทธิภาพได้เต็มที่ครับ

Bogner Ecstacy Blue


คราวที่แล้ว ผมเขียนทดสอบก้อน Bogner Uberschall ไปแล้ว ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ฮือฮาดีมากเลยครับ นักกีตาร์พี่ๆ น้องๆ ชาวเมตัลคงจะชอบใจ คราวนี้ ผมอยากเขียนถึงอีกรุ่นหนึ่งที่ออกมาพร้อมๆ กันบ้าง เป็นก้อนฟ้าที่เรียกว่าจำลองแชนแนล Blue มาจากแอมป์ที่เรียกว่าเป็นตำนานของ Bogner ไปแล้ว คือรุ่น Ecstasy นั่นเอง เจ้า Ecstasy Blue เป็นแชนแนลที่ให้เสียงแนวๆ Crunch หรือเสียงแตกที่เริ่มๆ จะ Break Up ของแอมป์ หรือจะเรียกว่าเป็น Overdrive ก็ยังได้ จาก Ecstasy Amp ครับ ส่วนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เพิ่งจะได้อ่านตอนนี้เป็นตอนแรก และสงสัยว่า Bogner Amplifications มันดังอะไรยังไง รบกวนตามลิ๊งไปลองอ่านประวัติพอสังเขปของ Reinhold Bogner ดู :

http://aplayboysreturn.blogspot.com/2012/07/bogner-history.html

ก้อน Ecstasy Blue นี้ มากับแพ๊คเกจสวยงามคล้ายๆ กับตัว Uber เว้นแต่ว่าตรงมุมของกล่องจะพิมพ์คำว่า Ecstasy Blue แทน เปิดกล่องออกมาก็จะพบกับก้อนสีฟ้าสวยงาม ขนาดเดียวกันกับ Uber เช่นกัน แต่ตรงหน้าปัทม์จะต่างกันอยู่ ถึงแม้จะมี Volume - Treble - Mid - Bass - Gain เหมือนกัน แต่ด้านบนเหนือนปุ่มหมุ่นจะเป็น Toggle Switch อยู่ถึง 4 อัน ไล่ไปจากซ้ายไปขวาคือ Variac - Mode - Pre EQ - Structure อะไรเป็นอะไรผมจะเล่าให้ฟังกันตามลำดับครับ และแน่นอนว่าต้องมีปุ่ม Boost ด้วย แต่ Ecstasy จะมี Boost ทั้ง Volume และ Gain ด้วยเลย ควบคุมได้จาก Trim Pot เล็กๆ ที่วางอยู่ใต้ Volume และ Gain หลัก สองปุ่มนี้มีผลมากกับเสียงขอเจ้า Ecstasy Blue นี้ เดี๋ยวผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังเช่นกัน


เรื่อง panel ปรกติคือ Volume หรือ EQ คงจะไม่ต้องอธิบายอะไรมากคงจะคุ้นเคยกันมาอยู่แล้ว ผมจะพูดถึง Toggle Switch ที่เพิ่มเติมเข้ามาว่ามีอะไรบ้าง เริ่มจาก:

- Variac: เมื่อ On จะเสมือนเป็นการลด Voltage จะทำให้เสียงเบาลง มีคอมเพรสมากขึ้น (บางกรณีใช้สำหรับการเล่นในบ้าน เมื่อต้องการให้เสียงแตกเต็ม ในวอลลุ่มที่เบาลงได้ด้วย)
- Mode: Plexi จะเป็นโหมดที่แทบจะไม่แตกจะได้เสียง Crunchy แบบแอมป์ยุค 70 ส่วน Blue จะเป็นโหมดสีฟ้าของแอมป์ Ecstasy จะแตกกลางๆ ค่อนไปทางโอเวอร์ไดร์ฟ แต่จะไม่มี compression ทำให้เสียงเปิดมาก
- Pre EQ: ว่ากันง่ายๆ บ้านๆ ก็คือ Bright Switch นั่นเองครับ จะมี B1/B2 เป็นลักษณะการ Bright คนละแบบ ส่วน N จะเป็น Natural คือเป็นเสียงปรกติ
- Structure: เรียกว่าเป็น Character เสียงของแอมป์ Ecstasy ที่ผลิตมาสามรุ่น คือ 101 = 101B จะฟังวินเทจแต่ยังมีเกนท์มาก 100 = Classic Mod เป็นวินเทจและเกนท์น้อย และเสียงกลางจะเด่นกว่า 101 สุดท้าย 20th คือเสียงแบบหลอด KT88 จะแตกเยอะสุด เสียงจะโมเดิร์นสุด


ผมทดสอบ Bogner Ecstasy Blue ด้วย Gibson Les Paul Standard R9VOS (ติด Bare Knuckle: Blackdog) เล่นกับ Bogner Shiva 6L6 + Bogner Shiva 2x12 Cabinet ผมเริ่มเล่นจาก Plexi Mode ก่อน บิดเกนท์ไปสุดแล้วยังไม่ค่อยแตกเท่าไหร่ เมื่อเปิด Boost ช่วย เสียงแตกที่ได้จะมันส์มากๆ เสียงจะละม้ายกับเสียง Classic Rock Guitar ที่เราได้ยินกันในแผ่นเพลงยุค 70s เลย เสียงเพราะมากๆ การ Boost ของ Ecstasy นี้ก็แจ๋วนะครับ สามารถคอนโทรลได้ทั้ง Boost Volume และ Boost Gain คุณๆ สามารถเลือกเปิดมาน้อยได้ตามใจชอบ ผมใช้วิธีปิด Boost Volume แต่เปิด Boost Gain ไว้ประมาณ 11 โมง เล่นสนุกมาก ถึงแม้จะ Boost แล้วก็ยังไม่มี Compression ให้ได้ยิน เมื่อสวิทช์ไปที่ Blue Mode ได้เกนท์เพิ่มอีกพอสมควร เป็นกึ่ง Cruch กึ่ง Overdrive ที่เสียงเปิดมาก (ฝรั่งเค้าเรียก Open) จุดเด่นของ Blue Pedal น่าจะอยู่ที่ตรงนี้ครับ คือเสียงฟังไม่รุนแรงมาก เนื้อเสียงฉ่ำ เต็มและฟังเป็น Overdrive/Crunch ที่เพราะโขอยู่ เมื่อ Boost เข้าไป ก็ได้เสียงเป็นพวก Hi Gain ได้เหมือนกันครับ พอเพียงที่จะเล่น Pop/Blues/Rock/Hard Rock ได้สบายๆ เลย โดยสรุป Bogner Ecstast Blue เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่มีคุณภาพสูงจริงๆ สำหรับก้อน Overdrive หรือคนที่ต้องการเสียงแตกขนาดกลางๆ เสียงแตกฟังฉ่ำและเนื้อเสียงแน่นละเอียด ถ้าสนใจอยากลองเจ้า Bogner Pedals ก็ติดต่อตรงไปที่ Pedals' Park Music Playground ได้เลยครับ




วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Bogner Uberschall Pedal


ต้องบอกว่าเป็น Talk Of The World (เพราะมันดังไปทั่วโลกจริงๆ) กันเลย เมื่อบริษัทที่ผลิตแอมป์บูติกที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใครมาตั้งแต่ทศวรรตที่ 90 อย่าง Bogner Amplifications (ผู้ผลิตแอมป์รุ่น Ecstacy / Uberschall / Shiva ที่โด่งดังจนศิลปินเช่น Steve Vai, Avenged Sevenfold และ Jerry Cantrell แห่ง Alice In Chain ยังต้องใช้)  จะหันมาผลิตก้อนเสียงแตกให้ชาวกีตาร์อย่างเราๆ ได้เล่นกัน จึงเป็นสิ่งที่เราๆ ท่านๆ ไม่ควรพลาดกันอย่างรุนแรง

ทางบริษัท Bogner ได้ประกาศข่าวนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2012 และมี Prototype ให้ชาวกีตาร์ได้ไปลองเล่น ลองเสียงกันในงาน Musik Messe ที่ Frankfurt ข่าวนะตอนนั้นยังไม่มีกำหนดออก และทาง Reinhold Bogner ดีไซเนอร์ และเจ้าของบริษัทก็ได้แจ้งให้ฟังไว้แล้วว่า ตัว Prototype ยังไม่สมบูรณ์นักและยังต้องการปรับปรุงส่วนต่างๆ อยู่นิดๆ หน่อยๆ จนเวลาล่วงเลยมาถึงปลายๆ ปีนี่แหละครับ ทาง Bogner ก็ประกาศตูมออกมาว่า ก้อนเสียงแตกรุ่น Ecstacy Blue - Ecstacy Red และ Uberschall จะออกวางจำหน่ายกันในเดือนพฤศจิกายน 2012 นี้ ตอนนี้ทั้งสามรุ่นก็ตกมาถึงมือผมแล้วหล่ะครับ วันนี้ผมจะนำเอารุ่นที่เรียกว่า Uberschall มาแนะนำกันก่อนเป็นรุ่นแรก


Uberschall เป็นชื่อของแอมป์พลิฟายด์รุ่นหนึ่งที่โด่งดังมากๆ ของ Bogner Amplifications เป็นแอมป์ที่ให้สำเนียงเสียงแบบ Hi Gain โลว์หนักแน่นทรงพลัง เจ้าก้อนแตก Uberschall ก็แทบจะถอดแบบออกมาเหมือนกับตัวแอมป์เลยทีเดียว เมื่อได้มาเจ้าก้อนนี้ก็ถูกบรรจุอยู่ในแพคเกจดูสวยงามทีเดียว ด้านหลังมีสกรีนประวัติคร่าวๆ ของ Bogner เมื่อแกะกล่องออกมา ก็จะเจอเจ้าก้อน Uber นี่ กับใบรับประกันที่มีซีเรียลนัมเบอร์ และแมนนวล ตรงแพคเกจนี้ดูดีครับ สอบผ่าน


ตัวก้อนทำจากเหล็กพับอย่างดี ทำสีดำขรึม หน้าตาถอดแบบมาจากดีไซน์เดียวกับตัวแอมป์ น๊อพหมุนดูสวยมีสง่าราศีมาก ปุ่มควบคุมก็ง่ายๆ ตรงๆ Volume - Treble - Mid - Bass - Gain และมีสวิทช์ On และ Boost ใต้น๊อพวอลลุ่ม จะสังเกตุเห็นน๊อพเล็กๆ ใสๆ นั่นคือเอาไว้คุมวอลลุ่มของสวิทช์บู๊ส ใช้ง่ายไม่ยุ่งยากเลย ผมทดสอบก้อน Uberschall ด้วยกีตาร์ Gibson Les Paul Standard ผ่านก้อน Uber ไปออก Bogner Shiva + Shiva 2x12 และผมใช้วิธีเดียวกับการปรับแอมป์ Uberschall ก็คือให้หมุนทุกปุ่ม (ยกเว้นวอลลุ่ม) ไปที่ Maximum ก่อนแล้วจึงถอยย่านความถี่ที่ไม่ต้องการ ลงตามสมควร เช่นเดียวกันกับน๊อพเกนท์ ก็ใช้วิธีเดียวกัน พบว่าเจ้าก้อน Uberschall ให้ความหนักแน่นของเสียงแตกในลักษณะใกล้เคียงกับแอมป์มากๆ ย่านโลว์เอนด์หนักแน่น ย่านเสียงกลางมากพอที่จะไม่ทำให้เสียงกีตาร์จม ถึงแม้จะปรับให้เป็นแบบ Scooped-mid แล้ว ก็ยังคงฟังดูไม่จม ยังหนาใหญ่พอสมควร จุดเด่นมากๆ ที่ผมชอบก็คือ เสียงแตกของ Uberschall ถึงแม้จะฟังแตกเยอะ แต่ฟังเคลียร์มากๆ ไม่เบลอ เล่นโซโลติดนิ้ว และให้เสียงเหมือนเรากำลังเล่นจากหัวแอมป์ครับ ตรงนี้โดนเลย

เจ้า Uberschall นี้ยังมีความลับอยู่หน่อยครับ คือกรณีที่ต้องให้เกนท์เยอะขึ้นกว่าปรกติ ให้ปิดวอลลุ่มหลัก และเปิด Boost ใช้วอลลุ่มจาก Boost แทน ก็จะได้เสียงแตกหนักๆ ขึ้นมาอีกน่าจะ 30%-40% ทำให้เสียงของเจ้า Uber นี้หนักหน่วงขึ้นอีกเยอะเลยครับ ถือว่าเจ้า Boost นี้เป็นปุ่ม Secret Weapon (อาวุธลับ) อย่างแท้จริง !!

หลังจากลองเล่นดูพักใหญ่เจ้าก้อน Uberschall นี้ หน้าที่หลักๆ ก็คงจะเป็นก้อน Hi-Gain ที่เอาไว้ตอบสนองคนรัก Hard-Rock หรือ Metal แน่นอน คนที่ชอบเสียงแตกที่ใกล้เสียงแอมป์แบบย่านโลว์หนักๆ กลางเด่นๆ คงจะถูกใจกับเจ้าก้อนนี้มากๆ และจะทำงานได้ผลดีที่สุดกับกีตาร์ที่ติดปิ๊กอัพที่เป็น Hi Output หน่อยครับ ผมทดลองลดเกนท์ดูเหลือน้อยๆ เจ้า Uber ก็ทำหน้าที่เป็น Overdrive ได้อย่างไม่ขัดเขินเช่นกัน อยากให้ลองดูครับ ก้อนดีๆ แบบนี้ และโดยเฉพาะออกแบบและผลิตโดยบริษัทที่โด่งดังอย่าง Bogner Amplifications แล้ว คุณๆ ไม่น่าพลาดเลย








วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

WET Reverb

เอฟเฟคต์ประเภทหนึ่งที่นักกีตาร์ส่วนใหญ่จะขาดไม่ได้เลย คงจะเป็นเอฟเฟคต์ประเภท Time Based หรือกลุ่มพวก Delay หรือ Reverb ที่จะช่วยสร้าง หรือจำลองเสียงสะท้อนเพื่อเพิ่มมิติให้กับเสียงกีตาร์ ทำให้ได้เสียงที่ฟังดูมิติความลึกฟังเพราะในทุกสถานการณ์ วันนี้ผมจะพาคุณๆ ไปทำความรู้จักกับเอฟเฟคต์ประเภท Reverb ก้อนหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาในกลุ่มคนเล่นก้อน ชื่อว่า Neunaber: WET Reverb 


ปัจจุบัน WET Reverb ได้ถูกพัฒนามาจนเป็นเวอร์ชั่นที่ 3 เข้าไปแล้ว และยังเพิ่มรุ่นที่เป็น Stereo ออกมาด้วย เนื่องเพราะไม่เห็นความแตกต่างของ V2 และ V3 ผมจึงลองเอา Stereo Version มาลองใช้งานดู เมื่อแกะกล่องออกมา ผมเทียบ WET V2 กับ WET Stereo แล้วพบว่าเวอร์ชั่น Stereo นั้น มีอีกปุ่มโผล่ขึ้นมา ลองอ่านคู่มือดูได้ความว่าเป็นปุ่ม Tone ใช้ควบคุมความทุ้มแหลมของเสียงตาม (Decay) และอีกจุดที่น่าสนใจก็คือมี USB Port ไว้ให้อัพเดทเจ้า Reverb ตัวนี้ด้วยซอฟท์แวร์ของทาง Neunaber เอง เรียกว่า Pedal Customizer อีกด้วย อีกจุดที่เพิ่มมาคือช่องต่อ Expression Pedal สำหรับ Mix/Depth ทำให้คุณสามารถควบคุมสองฟังก์ชั่นนี้ด้วยเท้า (เมื่อใช้ Exp Pedal)

ผมทดสอบ WET Stereo Reverb นี้กับกีตาร์ Fender '51 Nocaster ต่อตรงเข้า Reverb และไปออกแอมป์ Victoria 50212 ในส่วน Mono และลอง 50212 กับ Bogner Shiva ในส่วน Stereo พบว่า เสียงที่ได้จาก WET Stereo นั้นเทียบจะเหมือนกับ WETV2 ไม่ผิดเพี้ยน แต่ปุ่ม Tone ที่เพิ่มมานั้นก็ช่วยให้เราควบคุมความทุ้มแหลมของเสียงตามได้ดีขึ้น เนื่องจาก WET V2 (หรือ 3 ในปัจจุบัน) มีความใสมาก อาจจะไม่ค่อยถูกหูสำหรับคนที่ชอบ Reverb แบบหม่นๆ นัก เมื่อมีปุ่ม Tone เพิ่มเข้ามาทำให้ใช้งานได้หลากขึ้นอีกมากทีเดียวครับ ยอดมากๆ


ผมทดสอบ Stereo ด้วยการเสียบต่อสองแอมป์ โดยให้สองแอมป์อยู่คนละมุมห้อง ถ้าใครไม่เคยเล่นกีตาร์โดยใช้สองแอมป์หล่ะก็ แนะนำให้ลองด่วนครับ ได้เสียงที่ฟังฉ่ำและอลังการมากๆ พูดถึงเจ้า WET นี่ จะให้เสียง Reverb ในแบบ Plate นะครับ จะไม่ใช่แบบ Spring อย่างที่เข้าใจกัน จะฟังเนียนๆ ฉ่ำๆ ไม่มีการสั่นๆ เป็นก้อนที่ต้องบอกว่าติดมากครับ เปิดแล้วไม่ค่อยอยากปิด เพราะมันฟังเพราะจริงๆ ใครที่มองหา Reverb เจ๋งๆ ที่ซื้อทีเดียวจบ ใช้งานง่าย Neunaber: WET Reverb ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอนครับ


วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Vovox: Sonorus Cable


สายเคเบิ้ลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักดนตรีหลายๆ คนมักมองข้ามกัน จริงๆ ผมเข้าใจว่าเจ้าเคเบิ้ลเนี่ย มันมีความสำคัญไม่ต่ำว่า 30-40% เลยทีเดียว เพราะเป็นส่วนที่จะนำพาสัญญาณเครื่องดนตรีของคุณๆ ผ่านไปยังแอมป์พลิฟายด์ให้เราได้ยินได้ฟังกัน เพราะฉะนั้นแล้วสัญญาณจะถูกลดทอนลงมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่คุณภาพของสายนี่แหละ

ผมได้ยินชื่อ Vovox Sound Conductor เป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีมาแล้วครับ จากการได้ที่ได้เห็นบอร์ดเอฟเฟคต์ของพี่กอล์ฟ แห่งวง T-Bone วงยอดฝีมือวงหนึ่งของเมืองไทยเรา พี่กอล์ฟนี่ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนเล่นของระดับต้นๆ ของบ้านเรา ครั้งแรกที่ผมเห็นบอร์ดพี่เขา ผมสนใจเรื่องพวกสายเคเบิ้ลนี่มาก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ฟังว่าเป็นสายที่ให้สัญญาณเสียงที่เก็บรายละเอียดได้ครบ แต่ไม่ทำลายเนื้อเสียงและย่านความถี่ ผมไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า Kurt Rosenwinkle มือกีตาร์แจ๊สชื่อดังก็เป็นอีกท่านที่ไว้วางในสายเคเบิ้ลแบรนด์นี้มากๆ เช่นกัน

สายสัญญาณ Vovox Sonorus ที่ผมได้มา เป็นขนาดความยาว 3.5 เมตร พบกว่า สายมีน้ำหนักเบามากๆ เมื่อเทียบกับสายสัญญาณแบรนด์อื่นๆ ในตลาด ตัว Core หรือแกนของสายเหมือนว่าเป็นสายสัญญาณสองเส้นพันกันเป็นรูปเกลียวและหุ้มด้วย Natural Fibre Net เพื่อเป็นฉนวนกันพวก Noise ต่างๆ เนื่องจากตัวสายมีการ Twisted อยู่แล้ว จึงทำให้การบิดงอ โค้งไป โค้งมาได้ตามสถานการณ์ นับว่าสะดวกทีเดียว และด้วยตัวสายมีน้ำหนักเบามา จึงไม่รู้สึกว่าเกะกะเวลาเดินไป เดินมา


ผมทำการทดสอบ Vovox: Sonorus ความยาว 3.5 เมตร จากกีตาร์ Fender Stratocaster เข้าตู้แอมป์ Victoria 50212 ตรงๆ โดยไม่ผ่าน FX ใดๆ อย่างแรกที่ผมพบว่า Sonorus แตกต่างจากเคเบิ้ลชนิดอื่นๆ คือความชัดเจนของย่าน High Frequency ออกมาชัดเจน ที่ว่าชัดเจนในความหมายของผมนั้น คือไม่แหลมนะครับ แต่ฟังเคลียร์และชัดทุกโน๊ต และย่านเสียงกลางและเบสนั้นฟังธรรมชาติ ไม่มีอาการถูกบีบอัด (Compressed) ใดๆ ทั้งสิ้น ซาวด์ที่ได้จึงฟังโปร่งสบายหูครับ สมราคามากทีเดียว เพื่อนๆ ท่านไหนที่สนใจอยากจะอัพเกรดสายเคเบิ้ลให้กับกีตาร์/เบส ของตัวเอง และอัพเกรดสายเคเบิ้ลในบอร์ดเอฟเฟคต์หล่ะก็ Vovox: Sonorus เป็นสายอีกแบรนด์ที่คุณๆ "ต้องลอง" เลยครับ ลองติดต่อตัวแทนจำหน่ายในบ้านเราดูครับ เป็น Pedals' Park Music Playground 


วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Kinman: Bridge Blaster


มีบทความหนึ่งที่ผมเคยเขียนไว้เรื่องของการตัดเสียงรบกวน หรือที่เราเรียกกันว่า Noise นอกจากการใช้เครื่องมือบางชนิดช่วยแล้ว การแก้ไขจากตัวกีตาร์เองก็มีผลอย่างมาก จึงมีหลายบริษัท หลายโรงงาน ทำการผลิตเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า Guitar Pickups ที่เป็นชนิด Noiseless แต่ปัญหาหลักๆ ของปิ๊กอัพชนิด Noiseless ในอดีต ก็คือการที่เสียงย่านแหลม ถูกตัดออกไป ย่าน presense ก็จะฟังเหมือนถูกบีบอัดเยอะ ผลคือเสียงจะฟังดูห้วนๆ กุดๆ แต่นั่นคือปัญหาของ Pickups ของสมัยก่อน

ผมมี Fender Esquire อยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งมีปิ๊กอัพเดียว แต่เดิมเค้าใส่ Seymour: BG1400 ที่เรียกว่า Stacked Single Coil หมายถึงว่ามี Coil 2 อันวางซ้อนกัน เท่ากับว่าเป็น Humbucker นั่นแหละ ผมรู้สึกอยู่ว่าความ Twangy แบบ Tele แท้ๆ มันมีน้อย แต่ได้ความแรงและเงียบกว่า Single Coil ถึงกระนั้นผมก็ต้องการ Output ที่ค่อนข้างแรง แต่มีความเหน่อ และ Twang ในสไตล์ Single Coil และที่สำคัญ ต้องมี Noise น้อย จนถึงไม่มีเลย เมื่อโจทย์ผมเป็นแบบนี้ ความยากมันก็เลยอยู่ที่เรื่องของ Noise เพราะ Pickups ประเภท Single Coils ที่ Noise น้อยๆ ก็เห็นจะมีแต่พวก Noiseless ซึ่งจะมีปัญหาที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้น ถึงกระนั้นผมก็ยังโชคดี ที่มีเพื่อนแนะนำให้ไปลองสั่ง Pickups แบรนด์นึง ชื่อว่า Kinman Pickups เค้ามีผลิตปิ๊กอัพสำหรับ Telecaster ที่ให้เสียงและ Output กระเดียดไปทาง P-90 เรียกว่ารุ่น "Bridge Blaster" ผมลองอ่านข้อมูลจากทาง Kinman แล้วก็ไม่ลังเลที่จะสั่งมาลองเลย

หลังจากเปลี่ยนจากของเดิมมาเป็น Kinman: Bridge Blaster แล้ว ผมทดสอบผ่าน Bogner Shiva 6L6 พบว่า Bridge Blaster ถึงแม้จะยังมีเสียงรบกวนอยุ่ แต่ก็มีเพียงนิดหน่อย และมี Noise ต่ำกว่าพวก Single Coil ธรรมดาด้วยซ้ำ ผมต้องขอบอกว่า ยังไม่เคยเจอ P-90 แบบไหนที่เงียบขนาดนี้ แต่ให้ความหนักหน่วงของเสียงในแบบ Twang และ Punky มากๆ เสียงจะออกย่านกลาง-ทุ้มเยอะ และย่านแหลมดีแต่ไม่บาดหู เมื่อเล่นกับ Overdrive/Distortion แล้วเสียงที่ได้ ก็จะออกจี๊ดจ๊าด คม และกลางเด่น ไม่จม เสียงแต่ละสายออกครบ และชัดเจน บาลานซ์ดี ปัญหาสองสายล่างเบาไม่มีเลย ซึ่งผมชอบมาก ไดนามิกที่เล่นตามน้ำหนักมืออกมาดีมากๆ 

ผมแนะนำครับ สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนปิ๊กอัพกีตาร์ และอยากได้ Single Coil ที่จี๊ดจ๊าด สำหรับ Telecaster และต้องการพวก Noiseless สำหรับคนที่รำคาญเสียงจี่ Kinman: Bridge Blaster เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่คุณๆ น่าจะพอใจ ถ้าหาสนใจ Kinman ลองสอบถามไปทาง Pedals' Park Music Playground ตัวแทนจำหน่าย Kinman Pickups ได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ISP: Decimator

"จี่ ................​" / "หึ่ง ................" เสียงจี่ เสียงฮัมเหล่านี้ น่าจะเป็นเสียงที่ทำให้คนกีตาร์ที่พิศมัยในซาวด์แบบ Single Coils ปวดตับกันพอสมควร เพราะเป็นอันรู้กันว่า กีตาร์ที่ติดปิ๊กอัพชนิด Single Coils นี้มักจะให้ Dynamic ที่ฟังกว้างกว่า Humbuckers และเล่นเด้งสนุกมือกว่า ถ้าเล่นเสียงคลีนล้วนๆ ก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเล่นกับ Overdrive/Distortion Box หรือเป็นแอมป์พลิฟายด์ที่มี Gain เสียงจี่ๆ ฮัมๆ หึ่งๆ ก็จะเริ่มตามมากวนในให้รำคาญ สำหรับคนรัก Single Coils บางท่านอาจจะทนพอได้กับ Noise รบกวนเหล่านี้ ส่วนคนกีตาร์ที่ทนไม่ไหว และต้องการจะขจัดเสียง Noise เหล่านี้ ในกรณีที่เราเลือกไม่ได้ว่าเราต้องไปเล่นที่ไหน ไฟมีกราวน์หรือไม่ หรือมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ กวนหรือไม่ ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ช่วยดับทุกข์กันไปก่อน ผมกำลังจะพูดถึงก้อนก้อนนึงที่เป็นที่นิยมกันแบบซึมลึกในบ้านเรา เป็นก้อน Noise Gate ชื่อ ISP Decimator จากค่าย ISP Technologies

ISP Decimator นี้ก็เป็นผลผลิตจากเอ็นจิเนียร์ที่ชื่อ Mr.Buck Waller ที่เคยออกแบบ Rocktron รุ่น Hush ครับ หลังจากแกออกจาก บ. Rocktron แล้ว ก็มาตั้งบริษัทเองชื่อ ISP Technologies ออกผลิตภัณท์ออกมาหลากหลายชนิด ทั้งแอมป์ ลำโพง และที่โด่งดังที่มีศิลปินพูดถึงและใช้มากที่สุด ก็คือ Decimator นี่แหละ แล้วไอ่เจ้า Decimator มันดีอย่างไร? เดี๋ยวผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังครับ

ผมมีโอกาสได้คุยกับ Mr.Buck Waller ตอนที่ไป Namm Show 2012 เมื่อต้นปี และได้สอบถามถึง Decimator ตัวนี้ว่ามันต่างจาก Hush อย่างไร คำตอบก็ถอดความมาได้ประมาณนี้ ว่า Decimator นั้นได้ถูกพัฒนามาจาก Hush นี่แหละครับ เพียงแต่ว่าทาง ISP ได้คิดต้น System ที่เรียกว่า TVP ย่อมาจาก Time Vector Processing ซึ่งเป็นระบบที่ทาง Mr.Buck ภาคภูมิใจมากๆ เนื่องจากเป็นระบบที่มีใน Decimator ตัวเดียวเท่านั้น และเขามั่นใจว่ามันจะเหนือกว่า Noise Gate ตัวอื่นๆ ในตลาด เนื่องเพราะ เจ้าระบบ TVP นี้เป็นระบบที่ช่วยคำนวนการทิ้งหางเสียงของกีตาร์เมื่อเล่นโน๊ตยาวๆ ทิ้งหางเสียง เจ้า TVP นี่ก็จะคำนวนและทำการปล่อยให้หางเสียงยาวไม่กุดสั้น (เหมือนกับ Noise Gate ตัวอื่นๆ) และระบบ Buffer Switch ของตัว Decimator นั้น ขึ้นชื่อว่าไม่เปลี่ยนเสียงกีตาร์แม้แต่น้อย ถ้าหากคุณหลับตาฟังแล้วกดสวิทช์ คุณไม่มีทางแยกออกว่า Decimator นั้น On หรือ Off อยู่ (คุณ Buck เค้ามั่นใจขนาดนั้น)

ผมได้ทดสอบด้วยตัวเองโดยใช้กีตาร์ที่จี่ที่สุดที่ผมมี นั่นคือ Fender 1974 Stratocaster และพ่วงด้วย Cornell: Overdrive Special ที่มี Gain มากและแซ่บจริงๆ ไปผ่านตู้แอมป์ Bogner Shiva และลำโพง Bogner Shiva 2x12 เมื่อเล่นโดยไม่ใช้ Decimator ก็มี Noise รบกวนได้โล่ห์อยู่ครับ เมื่อใช้ Decimator และเปิดขึ้นถึงระดับเกิน -40db ไปหน่อยๆ เสี่ยงจี่/ฮัมที่บังเกิด ก็ถูกตัดหายเป็นปลิดทิ้งครับ เมื่อเล่นโน๊ตสั้นๆ จะยังไม่พบความแตกต่าง แต่เมื่อเล่นโน๊ตที่ทิ้งหางเสียงยาวๆ ก็เป็นอย่างที่ Mr.Buck เค้าว่าไว้จริงๆ ว่าหางเสียงจะถูกทิ้งให้ยาวพอสมควรก่อนที่จะถูก Gate ตัดออกไป ซึ่งต่างกันชัดจาก Noise Gate อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะกุดก่อนหางเสียงจะ Released หมด

หลังจากทดสอบแล้ว ผมชอบเจ้า Decimator นี่มากโขอยู่ ถึงแม้ว่าจะผลิต Overseas แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพของ Noise Reduction ตัวนี้ด้อยลงไปเลย ถ้าคุณเป็นคนกีตาร์อีกคนที่ต้องประสบพบเจอกับเสียงรบกวนที่ไม่น่าพิศมัยเหล่านี้หล่ะก็ ISP Decimator น่าจะช่วยคุณได้อย่างแน่นอน และผมก็มีคลิปทดสอบเจ้า ISP Decimator ที่ทาง Pedals' Park Music Playground ตัวแทนจำหน่าย ISP Products ทำไว้มาให้ชมเป็นตัวอย่างกันด้วย



วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

Cleartone: Electric Set


เพิ่งจะได้ฤกษ์การเขียนทดสอบสายกีตาร์แบรนด์ Cleartone รุ่น Electric เบอร์ .010 - .042 วันนี้เอง ที่จริงแล้วผมได้เริ่มทดสอบสายตัวนี้มาตั้งแต่ประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้แล้วครับ แต่อยากจะบันทึกความเป็นไปของสายว่ามันจะเป็นอย่างไรหลังการใช้งานจริงๆ จังๆ ก่อนอื่น มาพูดถึงสายกีตาร์แบรนด์นี้กันสักเล็กน้อยก่อน 

เจ้า Cleartone Strings นี้ ก็เป็นหนึ่งในสายกีตาร์ชนิดเคลือบ ที่ว่ากันว่ายืดอายุการใช้งานได้ราวๆ 3-5 เท่าของอายุการใช้งานปรกติ (ของสายชนิดไม่เคลือบ) ทาง Joe Iacobellis ผู้เป็น CEO ของบริษัทเล่าให้ผมฟังว่า สาย CTS นี้ เป็นนวตกรรมการเคลือบแบบใหม่ ที่ทาง Cleartone ได้ใช้เวลาพัฒนามาเป็นระยะเวลาพอสมควร เพื่อให้สายกีตาร์มีความคงทน แต่ไม่เสียงโทนที่ควรจะเป็น และที่สำคัญไม่ทำให้ผิวสัมผัสเปลี่ยนไปมากเกิน ทาง Cleartone จึงใช้วิธีละลายสารเคลือบลงไปในเนื้อสาย โดยไม่ใช้วิธีเคลือบไปเฉยๆ  เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องของ Frequency Change และความเป็นขุยของสายเมื่อใช้ไปนานๆ

ผมทดสอบสาย Cleartone Strings Electric ที่มีการเก็บรักษาด้วยการซีลอย่างดีมาจากโรงงาน โดยเปลี่ยนใส่ลงไปในกีตาร์ Fender Telecaster Re68 "Paisley" และใช้งานต่อเนื่องมาเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน โดยแต่ละวันจะใช้เวลาเล่นประมาณ 1-2 ชั่วโมง ความแตกต่างที่ผมพบเจอทันทีเมื่อเทียบกับสายกีตาร์เคลือบชนิดอื่นๆ ที่เคยใช้ ก็คือเรื่องผิวสัมผัสเป็นเรื่องแรก คือเจ้า Cleartone นี้ จะมีผิวสัมผัสใกล้เคียงกับสายชนิดไม่เคลือบอยู่มากครับ เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปสำหรับคนที่ไม่ชอบความลื่นเกินไปของสายชนิดเคลือบ และเมื่อเสียบแอมป์พลิฟายด์เล่น ความแตกต่างของเสียงมีอยู่เล็กน้อยครับ สายชนิดเคลือบจะฟังคมกว่าสายชนิดไม่เคลือบอยู่เล็กน้อย แต่ไม่ถือว่าต่างกันมาก (ยกเว้นคนที่ซีเรียสมากๆ จริงๆ) หลังจากใช้ไปแล้วราวๆ สัปดาห์กว่าๆ ผมจึงพบว่าสีของสายเริ่มหม่นๆ ลงไม่ใสปิ๊งเหมือนตอนแรก แต่ด้านเสียงยังคงใกล้เดิมมาก แทบไม่มีอาการดร๊อปของเสียงเลย อีกจุดที่ชอบใจคือเรื่องของสภาพสาย ไม่เป็นขุยๆ เหมือนสายเคลือบอื่นๆ ที่เมื่อใช้ไปสักระยะ สายจะลอกเป็นขุยๆ

และเสียงและสภาพสายจะมาดร๊อปจริงๆ เมื่อเข้าปลายๆ สัปดาห์ที่สาม ต้นสัปดาห์ที่สี่ครับ ย่านเสียงแหลมจะทึบลงไปบ้างแล้ว ส่วนย่านอื่นๆ ยังคงพอใช้ได้ และสภาพสายจะไม่เงาแล้ว แต่ยังคงไม่มีสนิม และไม่เป็นขุย ส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกพอใจกับสาย Cleartone มากทีเดียวครับ ด้วยจำนวนเงินที่จ่ายไป 420 บาท ได้อายุการใช้งานโดยไม่ต้องเปลี่ยนสายบ่อยๆ ประมาณ 1 เดือน (หรือจริงๆ จะใช้อีกหน่อยก็ยังพอได้ครับ) น้ำเสียงฟังธรรมชาติ ผิวสัมผัสธรรมชาติ อยากจะแนะนำให้คุณๆ ที่ต้องใช้งานกีตาร์บ่อยๆ ก็น่าลองมากๆ ลองติดต่อซื้อหาทดสอบดูได้จากร้าน Pedals' Park 0818131595 / 0870126969 ครับ

**การเสื่อมสภาพของสาย บางทีก็ขึ้นอยู่กับอัตราความเป็นกรดของเหงื่อของแต่ละท่านด้วยนะครับ**


วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

OKKO Dominator

ถ้าพูดกันถึงแบรนด์ OKKO ก็ยังไม่ถึงกับเป็นที่โด่งดังเท่าไหร่ในบ้านเรา ผมมีตัวนี้ครอบครองอยู่บนบอร์ดของตัวเองมาราวๆ เกือบๆ จะปีนึงแล้ว เพิ่งจะสบโอกาสนำเอามาเขียนเล่าให้คุณๆ ฟัง กันว่าเป็นอย่างไร เจ้า OKKO นี่ มีพื้นเพเป็นเอฟเฟคต์มาจากประเทศ Germany ผลิตแบบแฮนด์บิล์ท ซึ่งผู้ผลิตมีเพียงคนเดียว สรุปง่ายๆ ว่าทั้งบริษัท มีคนเดียว และดันเป็นนักกีตาร์ที่เล่นอาชีพออกทัวร์เสียด้วยครับ เพราะงั้นจึงมั่นใจว่าเป็นเอฟเฟคต์ก้อนที่ผลิตและดีไซน์โดยนักกีตาร์จริงๆ

ตัวที่ผมได้มาไว้ใช้งานเป็นรุ่น Dominator ซึ่งเป็นเสียงแตกแบบ Hi Gain และเป็น Hi Gain ชนิดแตกระห่ำๆ ไม่มีกั๊กเลยด้วย น่าจะเป็น Hi Gain ที่เล่นมันส์ที่สุดเท่าที่เคยเล่นมา บนตัว Dominator เองก็มีปุ่มปรับแบบสามัญๆ คือ Gain - Level และ EQ แบบแยก Bass-Mid-Treble เลย ซึ่ง EQ ชุดนี้แหละที่ทำให้เจ้า Dominator แตกต่างไปจาก Distortion box หลายๆ รุ่น เพราะปรับได้กว้างและสามารถหาจุดที่เสียงเหมาะกับที่คุณๆ เล่นได้ง่ายขึ้น (มาก) แถมคุณยังสามารถปรับย่าน Mid ให้ไปเน้นที่ Mid-Low / Mid / Mid-Hi ได้อีกด้วยที่สวิทช์ที่อยู่ด้านบนของตัวก้อน ที่ผมชอบก็คือการดีไซน์ LED ที่ใหญ่โตโอราฬประหนึ่งลูกดราก้อนบอลล์เลยทีเดียว

มาว่าถึงเสียงกันบ้าง ผมทดสอบเจ้า Dominator ด้วย Suhr RBM ผ่าน Dominator ออกตู้ Bogner Barcelona Head + Shiva 2x12 Cabinet ก็ได้เสียง Distortion ที่มันส์มากๆ เจ้า Dominator ให้เกนท์มากมายเหลือเฟือสำหรับทั้งคนที่เล่นสไตล์ Rock/Hard Rock/Heavy Metal หรือหนักหน่วงกว่านั้นก็ย่อมได้ การปรับเสียงก็ทำได้กว้างมากๆ เจ้า EQ ชุดที่ผมพูดถึงแต่แรกช่วยทำให้เสียง Distortion จากเจ้าก้อนนี้ ได้เสียงที่หลากหลายมากๆ จุดหนึ่งที่ผมสังเกตุได้ชัดเจนมากก็คือย่าน Mid Frequency ที่ทาง OKKO พยายามเน้นให้มีความหลากหลายมากกว่าย่านอื่นๆ อาจจะเป็นเพราะเป็นย่านที่เมื่อเล่นกับ Band แล้วฟังดูมีความโดดเด่นกว่าเพื่อน ดังนั้นสวิทช์ Mid Control ที่อยู่ด้านบนของตัวก้อน จึงมีบทบาทมากพอสมควรเมื่อใช้งานร่วมกับ Mid Range Switch ด้วยแล้วก็จะทำให้คุณปรับเสียงได้มากขึ้น และเจ้านี่เป็นก้อนแรก ที่ผมรู้สึกว่าเค้าสามารถเปลี่ยนจาก American Distortion ไปเป็น British Drive ได้ไม่ยากนัก จึงเป็นก้อนที่เหมาะมากสำหรับคนชอบอะไรแรงๆ กว้างๆ 

นอกเหนือจากการเป็น Distortion โหดๆ แล้ว ถ้าลด Gain ลงไป เจ้า Dominator ยังทำหน้าที่เป็น Overdrive ดีๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก สำหรับก้อนที่มีอาชีพหลักเป็น Distortion แต่เจ้า Dominator ทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้า Domi ก็ยังคงพอมีข้อด้อยให้เห็นอยู่เล็กๆ น้อยๆ ครับ เพราะด้วยขนาดก้อนที่ค่อนข้างใหญ่ บางคนที่ใช้บอร์ดเล็กๆ ก็ไม่น่าจะชอบใจนัก และสนนราคาก็ไม่ถูก จึงอาจจะทำให้ตัดสินใจยากอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณมองหา Distortion ที่จะให้คุณลุยเล่นไปได้ทั่วโดยการหยิบไปแค่ตัวเดียว เจ้า Dominator นี้ก็เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่อยากให้คุณได้ทดลองเลยหล่ะ



วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Strymon El Capistan

Strymon เรียกว่าเป็นแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเข้ามาให้เราเห็นในตลาดได้ไม่นานนัก แต่ได้รับการยอมรับและเติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ ในตลาดเอฟเฟคก้อน ด้วยความที่ทาง Strymon ได้นำเสนอคอนเซปท์ใหม่ๆ ในการดีไซน์เอฟเฟคต์ของเขา ผมเพิ่งได้มีโอกาสทดสอบ Strymon รุ่น El Capistan เร็วๆ นี้ รู้สึกมีอะไรดีๆ หลายๆ อย่างกับเจ้าก้อนนี้ เลยนำเอามาเขียนให้ได้อ่านกัน

El Capistan เป็นเอฟเฟคต์ประเภท Time Based ที่ให้เสียงดีเลย์ หรือ เอคโค่ ในแบบ Tape Echo ก่อนอื่น ต้องขออธิบายเป็นพื้นฐานเสียก่อน เพราะบางท่านอาจจะไม่รู้จักว่าอะไรคือ Tape Echo เจ้า TE นี้ ที่จริงก็คือดีเลย์ชนิดหนึ่ง ที่มีใช้กันแพร่หลายในยุค 50s-70s จะแต่จะยุ่งยากเสียหน่อย คือเป็นดีเลย์ที่ใช้เทปจริงๆ บันทึกเสียงที่ถูกเล่น และเล่นเสียงเหล่านั้นผ่านหัวเทปหลายๆ หัว และจะถูกบันทึกใหม่ตามเสียงที่เราเล่น วนกันอย่างนั้น ข้อดีคือมันให้เสียงที่ค่อนไปทางอุ่น และหนามาก แต่ข้อด้อยมากๆ ก็คือปัจจุบัน เทปที่ใช้บันทึกมีราคาแพงใช้ได้ และขนาดของมันก็ใหญ่โตโอราฬทีเดียว เจ้า Tape Echo นี้ ในปัจจุบันก็ใช้กันน้อยลงมากๆ (จนแทบไม่มีเลย) ถูกทดแทนด้วย Analog และ Digital Delay ตามระเบียบ แต่เนื่องเพราะความนิยมในลักษณะเสียงแบบ Tape Echo ยังคงมีมนต์ขลังอยู่ ทางบริษัทที่ผลิตเอฟเฟคต์ต่างๆ ก็ยังพยายามจะจำลองความเป็น Tape Echo ออกมาให้ใกล้ที่สุด

Strymon เป็นอีกหนึ่งเจ้าที่พยายามนำเสนอความเป็น vintage tape echo ในก้อนเดียว จึงดีไซน์เจ้าก้อนเทาๆ นี้ออกมา ก็คือ El Capistan นี่แหละครับ เจ้า El Capistan นี่เป็น 100% Digital และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่อยู่ในเกรดชั้นสูง ที่สำคัญทาง Strymon เลือกใช้ชิพที่มีความแรงสูง เพื่อให้ใช้งานได้อย่างลื่นๆ (SHARC DSP) ฟังก์ชั่นการใช้งานก็สุดละเอียด เพื่อให้ได้อารมณ์ของ Tape Echo มากที่สุด ดูคร่าวๆ บนหน้าปัทม์ของตัวเอฟเฟคต์แล้ว ก็มีการจำลองหลากหลายรูปแบบเช่นฟังก์ชั่น Fixed Head - Multi Head - Single Head แถมยังมี Mode ให้เลือกใช้เป็น A-B-C ในแต่ละแบบอีก แถมด้วยปุ่ม wow & flutter ที่ใช้จำลองความผิดเพี้ยนของแกนหมุนของมอร์เตอร์ เสียงที่ได้จะวูบๆ วาบๆ ในอารมณ์แบบ TE จริงๆ (มันจะละเอียดเกินไปไหม?) และมีปุ่ม Tape Age ซึ่งตรงนี้จะจำลองความเสื่อมสภาพของเทปที่จะได้เสียงขุ่มมัวลงเรื่อยๆ ตามอายุการใช้งานของเทป และแต่ละ Knob จะมีการควบคุมอื่นๆ อืกเป็น Secondary Function วิธี access ก็ไม่ยากแค่กดปุ่ม Tap กับ Bypass พร้อมๆ กัน แค่นั้นเอง ฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่ผมชอบก็เห็นจะมี Reverb มาให้ในตัวและปุ่ม +- 3db ที่จะให้คุณๆ ได้แก้ปัญหาเรื่องของความดัง/เบาในการใช้งาน เพื่อไม่ให้เสียงโดด หรือ เบาเกินไป เรียกว่าครบถ้วนทุกกระบวนกันเลย

ผมทดสอบ El Capistan ร่วมกับกีตาร์ Fender Stratocaster EJ Signature ร่วมกับ Providence Flamedrive ไปออก Bogner Shiva 6L6 + Bogner Shiva Cab 2x12 พบว่าเจ้า El Capistan เป็น Delay/Echo ที่ให้เสียงอิ่ม นวล และเนื้อเสียงใหญ่ในแบบ Vintage Tape Echo จริงๆ การใช้งานก็ปรับไม่ยาก ถึงแม้ว่าแรกๆ จะต้องพึ่งพา Manual บ้าง (แต่ Manual เขาเขียนมาละเอียดและเข้าใจง่ายดีจริงๆ) แต่เมื่อรู้ว่าปุ่มไหนใช้ทำอะไรแล้ว ก็ไม่ยากแล้วครับ ข้อดีที่ผมชอบมากๆ สำหรับ El Capistan คือเรื่องของเนื้อเสียงที่อิ่ม อุ่น หนา ใกล้มากๆ และฟังก์ชั่นต่างๆ ที่มีความละเอียดเสมือนเราได้ใช้งาน Tape Echo จริงๆ แต่คุณไม่ต้องไปสต๊อกหรือกังวลว่าจะต้องตุนเทปไว้มากๆ และที่สำคัญคือ El Capistan จะฟังไม่เป็น Digital เลย ถ้าหลับตาเล่น หรือทำ Blind Test กันจริงๆ คุณแทบแยกไม่ออกว่าเสียงดีเลย์แบบนี้ คือเสียงที่มาจาก Digital Unit ครับ ผมแนะนำให้ลองอย่างจริงจัง ถ้า Analog Delay/Echo เป็นสิ่งที่คุณมองหาอยู่



วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Namm Show 2012 Pt.2


     เมื่อฉบับที่แล้ว ผมก็พูดถึงเรื่องการเตรียมตัวมุ่งหน้าสู่ Namm Show ที่ประเทศอเมริกาแล้ว เอาเป็นว่าถ้าตอนนี้ขั้นตอนต่างๆ เช่นการจองตั๋วเครื่องบิน บัตรเข้าสู่งาน และคุณมีวีซ่าครบถ้วนแล้ว สิ่งที่คุณจะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการเดินทางภายในอเมริกา ถ้าคุณสามารถขับรถได้ และมีใบขับขี่สากล ผมแนะนำให้เช่ารถ ด้วยว่าจะเป็นวิธีการเดินทางที่สะดวกที่สุด หรือถ้าไม่มีใบขับขี่ แล้วจำเป็นจะต้องเดินทางด้วยตัวเอง ผมก็จะแนะนำให้ใช้ Airport Bus ครับ จะมีบริการในสนามบินนั่นแหละ สนนราคาการเดินทางจาก LAX ไป Anaheim ก็จะราวๆ $15-$20 ก็คือราวๆ ไม่เกิน 600 บาท 
     
     และการเดินทางภายใน Anaheim ถ้าไม่มีรถเอง ก็อาจจะใช้บริการแท๊กซี่ที่มีอยู่เยอะแยะภายในเมืองเอง ถ้าเดินทางจากโรงแรมไปสู่ Convention Centre ก็อาจจะให้ทางโรงแรมเรียกให้ (หรือปรกติ โรงแรมแถวนั้นเค้าก็จะมี Shuttle Bus คอยบริการฟรี แต่รอบของการเดินรถอาจจะไม่ถี่) และเดินทางกลับจาก Convention Centre ก็แท๊กซี่เช่นเดียวกันครับ อาจจะต้องคอยคิวนานหน่อย แต่มีเรื่อยๆ แน่นอน 

     ข้อเสียเปรียบของการที่ไม่มีพาหนะใช้เองแบบนี้ ก็คือคุณๆ อาจจะไม่สามารถออกไปเที่ยวนอกเส้นทางได้เลย เพราะการเดินทางแต่ละที่ค่อนข้างไกล จำเป็นมากๆ ที่จะต้องใช้รถเป็นพาหนะพาไปในแต่ละที่ แต่ทั้งนี่ทั้งนั้น ในละแวกเมือง Anaheim ก็มีร้านอาหาร มีแหล่งช๊อปปิ้ง มี Disneyland มีหลากหลายแหล่งให้คุณได้เดินเล่น ชมวิวอะไรต่ออะไรอยู่พอสมควรอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าไม่มีรถไปไหนมาไหน วนเวียนอยู่แถวๆ นั้นก็ไม่เลวครับ

     มาสมมติกันต่อครับ ตอนนี้เอาเป็นว่าคุณก็มาพักอย่างสบายในโรงแรมที่พักเพื่อที่จะรอไปตลุยงานแสดงสินค้าเครื่องดนตรีที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในโลกงานหนึ่ง สิ่งที่ผมแนะนำให้เตรียมตัวในวันแรกที่คุณๆ ไปถึงงานก็คือตระเตรียมของขบเคี้ยว หรือแซนวิชอะไรง่ายๆ ที่หาซื้อได้ใกล้ๆ โรงแรม ไปกับคุณด้วย เพราะการซื้ออาหารในงาน เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่าสาหัสจริงๆ คิวยาว คนเยอะ เร่งรีบสุดๆ การมีอาหารติดกระเป๋าไปเอง ประหยัดเวลาและไม่ต้องต่อคิวแน่ๆ และผมก็แนะนำให้ไปเช้านิดหนึ่งครับ เพื่อไปเข้าแถวรับสิ่งที่เรียกว่า Badge ก็คือบัตรเข้างานนั่นเอง หลังจากที่คุณได้อีเมลล์ตอบรับเรื่องการสมัครขอ
บัตรไปแล้ว (อ่านในตอนแรก) ทาง Namm จะให้เลขมาชุดหนึ่งทางอีเมลล์ แนะนำให้คุณปริ๊นมาเก็บไว้ และยื่นในเจ้าหน้าที่เพื่อเขาจะทำการปริ๊นเจ้า Badge นี่ให้คุณ นำไปแขวนคอเอาไว้ตลอดงาน ข้อดีของเจ้า Badge นี้ก็คือเป็นบัตรผ่านประตู และ เป็นสิ่งที่ใช้แนะนำตัวคุณด้วย เพราะฝรั่งและคนในงานจะมองป้ายของคุณก่อน ถ้ารู้จักกัน หรือเคยตกลงธุรกิจกัน เค้าจะรีบทักทายกับเราเลยครับ 

     อย่างที่ผมบอกครับ ว่างาน Namm Show นี้ ใหญ่มากๆ จริงๆ ถ้าคุณเดินเสปะสปะไปเรื่อยๆ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดี และอาจจะเดินไม่ครบ ไม่หมดอย่างที่ใจคุณอยาก ส่วนตัวแล้วผมใช้วิธีกำหนดการเดินในวันแรก ไล่ไปทีละ Hall โดยจะดิ่งไปพบกับกลุ่มซัพพลายเออร์ของผมก่อน เมื่อหมดแล้ว ก็เดินย้อนกลับขึ้นมา โดยจะมุ่งประเด็นไปยังการหาซัพพลายเออร์เจ้าใหม่ๆ (ที่ผมทำการติดต่อไว้เบื้องต้นแล้ว) การเดินแบบนี้ ผมมีผู้ช่วยครับ คือถ้าหากคุณเป็นคนที่ใช้งาน iPhone หล่ะก็ง่ายเลย เพราะทาง Namm เขาได้ทำ App สำหรับ iPhone เอาไว้ ชื่อว่า NAMM 2012 (เข้าใจว่าปีหน้า คงเป็น 2013) ใน app ที่ว่าจะช่วยคุณได้อย่างมากๆ เลยครับ ว่าแต่ละแบรนด์ แต่ละบู๊ทเค้าตั้งกันอยู่ตรงไหน เรียงตาม Hall ไปเลย ด้วยวิธีนี้ ทำให้คุณๆ เดินในงานอย่างตามเป้าประสงค์ได้เลย

   สำหรับผมแล้ว Namm 2012 ตื่นตาตื่นใจมากๆ ด้วยอาจจะเป็นเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้ไปและที่ผมตั้งใจเก็บมาฝากพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ชาวกีตาร์แมค ก็คงจะเป็นเรื่องของกีตาร์แบบล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นแอมป์ กีตาร์ หรือ เอฟเฟคต์ 

Ritter Guitars: 

กีตาร์แบรนด์นี้ เป็น Handcraft จากเยอรมันนีเป็นงานกีตาร์ที่ ดูแล้วแปลกตามากๆ ผมไปแอบดูตามสเปกส์แล้ว ก็เป็น ไม้ที่ปรกติเราๆ ได้เห็นกันครับ คือบอ ดี้ เป็น Alder / Ash อะไรแบบนี้ แต่ดีไซน์ออกแบบได้สวยมากๆ จริงๆ สนนราคาก็ราวๆ ตัวละ 10,000 ยูโร หรือราวๆ ห้าแสนบาทไทย (เท่านั้น!!)



Analysis Plus Cables:

1. Gold Oval เป็นครั้งแรกของผมเหมือนกันที่เคยเห็นสายเคเบิ้ลสำหรับเครื่องดนตรีที่ถักด้วยทอง 99% ทั้งเส้น ผมเองก็ไม่รู้ว่ามันนำสัญญาณได้ดีมากขนาดไหนแต่ที่แน่ๆ สนนราคาเส้นนี้ขนาดความยาว 3 เมตร มันอยู่ที่ราวๆ 150,000 บาท

2. Green Bullet Cable ฟังพี่ Mark Makel เค้าเล่าว่าเป็นสายสัญญาณของกีตาร์ที่เขาได้ออกแบบมาใหม่เพื่อคนที่ชื่นชอบในสายกลุ่ม Yellow Flex เดิม ที่ใช้งานแบบสมบุกสมบัน จุดเด่นคือการนำสัญญาณเสียงได้แบบไม่ผิดเพี้ยน และเติมความเท่ห์ด้วยการใช้หัวแจ๊คหน้าตาคล้ายกระสุนปืน


Martin Guitars

1. D-100 กีตาร์มาร์ตินรุ่น D-100 ผมได้เห็นตัวเป็นๆ ซักทีครับ เป็นกีตาร์ทรง D ที่มีการฝังมุกอย่างอลังการมากๆ สวยงามมากๆ ตัวนี้ สี่ล้านบาท

2. OO45SC-John Mayer ทุกๆ ปีผมจะต้องเห็นชื่อของนายจอห์นนี่โผล่ขึ้นมากับกีตาร์ดีๆ ดังๆ ไม่ว่าจะเป็น Fender เมื่อคราวออก Black One มาปีนี้ เขามาออกกีตาร์โปร่งให้กับ Martin และเป็น Limited Edition เสียด้วย สาวกจอห์น เมเยอร์ ก็ไม่น่าพลาดนะครับ (สนนราคาประมาณสามแสนบาท)

 


Gig FX: ผมผ่านมาที่ซุ้มของ Gig FX มีคุณน้องลูกสาวเจ้าของเค้าชวนผมคุยอยู่พักใหญ่ก่อนที่คุณน้องเขาจะบอกว่าอีกราวๆ 5 นาที มือกีตาร์สาย Country/Fusion ที่ชื่อ Johnny Hiland จะแวะมาเล่นที่ Booth ของเธอ ผมเลยได้ดูมือกีตาร์คนนี้เล่นด้วย เก่งมากๆ และประทับใจมากๆ

 


     ในฉบับนี้ เนื้อที่หมดซะแล้วครับ เดือนหน้ายังมาต่อภาคสามกัน และผมจะนำคุณๆ ไปชมบู๊ทที่น่าสนใจอีกหลายๆ บู๊ท พร้อมทั้งไปดูกันว่า ไปเที่ยวงานนี้ ผมได้เจอคนดังๆระดับโลก มีใครกันบ้าง เจอกันฉบับหน้าครับ 

(ตีพิมพ์บนนิตยสาร The Guitar MAG เดือนพฤษภาคม 2555)

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Bogner: New Yorker


เร็วๆ นี้ เพิ่งจะได้มีโอกาสทดสอบแอมป์บูติกระดับโลกภายใต้แบรนด์ Bogner Amplifications ไป แต่เป็นรุ่นสุดโหดที่เรียกว่า Uberschall วันนี้ได้มีโอกาสสัมผัสอีกรุ่นนึง ที่มีขนาดเล็กแต่เต็มไปด้วยคุณภาพ Bogner ทำการนำเอารุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในซีรี่ส์ International เข้าสู่ตลาดเมื่อสักสองปีก่อน โดยเริ่มต้นที่รุ่น Barcelona (แต่เรายังจะไม่พูดถึง Barcelona กันนะครับ) ช่วงสองปีที่ผ่านมา Reinhold Bogner ก็ทำการดีไซน์แอมป์ในซีรี่ส์นี้ออกมาอีกหลายรุ่นเช่น Palermo - New Yorker - Panama - Lafayette ผมจะนำเอารุ่นที่เรียกว่า New Yorker มาพูดกันก่อน 

New Yorker เป็นแอมป์ที่ Reinhold Bogner ตั้งใจจะดีไซน์ออกมาเพื่อนำเอาเสียงในแบบ American Tweed Style ที่เป็นพวกแอมป์ขนาดเล็ก ซึ่งมีสเน่ห์ในยุคช่วง 50s กลับมาและเพิ่มเอารสชาติในแบบสมัยใหม่ผสมลงไป (อย่างลงตัวเสียด้วย) เจ้าแอมป์ New Yorker จึงเรียกได้ว่าเป็นแอมป์ที่มีขนาดเล็ก เหมาะกับ Bedroom Scale หรือจะไปแบบ Small Pub ก็ยังไหว เพราะมีขนาดกำลังขับ 12 วัตต์ และ 24 วัตต์ การดีไซน์ก็ดูสวยงามลงตัวครับ ด้วยแผงหน้าปัทม์ที่เป็น Gold Anodized สวยงาม มี On/Off Switch และ Standby Switch อยู่ฝั่งขวา ซึ่ง Standby นี่จะมี Low/Hi - Low จะทำงานที่ 12 วัตต์ และ Hi จะทำงานที่  24 วัตต์ ส่วน Panel อีกฝั่งจะมี Volume - Tone และ Schizo ซึ่งเป็นเสมือนจากปรับ Texture ของเสียงให้ทำงานเป็นแอมป์ 4 ชนิด (ใน 1 ตัว)

ผมทดสอบ New Yorker ด้วยกีตาร์ PRS Hollowbody II และ Fender Eric Johnson Stratocaster ผ่าน New Yorker เพียวๆ ไปออก Bogner International 1x12 Cabinet พบว่า NY ให้เสียงที่อิ่ม และค่อนไปทางสว่างสดใส ฟังแล้วนึกถึพวกวินเทจแอมป์ประเภท Fender Champ เก่าๆ แต่มีความโมเดิร์นอยู่ในตัวด้วยเหมือนกัน ปุ่ม Schizo ทั้ง 4 ทำให้แอมป์มีทางเลือกเพิ่มขึ้นเป็น 4 เสียงในตัวเดียว ก็เพิ่มความหลากหลายให้กับผู้เล่นได้หาเสียงใหม่ๆ เล่นได้มากโขอยู่ P.1 จะให้เสียงเหมือนพวก Blackface ขนาดเล็ก (ลองหลับตานึกถึงพวก Princeton นะครับ) จะฟัง scoop mid นิดๆ ฟังสดใสๆ หน่อย P.2 จะเป็นให้โทนที่อ้วนหน้ากว่าโพสิชั่นแรกและฟังออกขุ่นๆ แบบ brown sound (นึกภาพเราบู๊สด้วย TS808 แบบปิด Gain) P.3 ที่โพสิชั่นนี้จะได้อารมณ์แบบเราเปิดแอมป์เล็กๆ ให้ได้วอลลุ่มสูงๆ แล้วแตกนิดๆ ย่าน Low-Mid มาอิ่มเต็ม แตกหน่อยๆ แจ่มมาก ที่ P.4 จะเป็นซาวด์แบบ Tweed เปิดเต็มสูบ เสียงจะมาเต็มๆ โน๊ตลูกใหญ่ๆ แต่ฟังนิ่มและเนียนๆ (ถ้าเล่นกับ Humbucker จะแตกหน่อยๆ เช่นกัน) 


จริงๆ เจ้า New Yorker นี่ เป็นแอมป์ขนาดเล็กที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เสียงคลีนฟังเพราะและเด้งมากๆ ผมลองเติม Overdrive กับ Reverb เข้าไป ก็ได้เสียงแบบที่เรียกว่าเล่นเพลินไปทั้งวันหล่ะครับ ต้องบอกว่า ถึงแม้จะเป็น Class A และ Single Channel แต่ถ้ามี Pedal ที่คุณชอบเติมเข้าไป คิดว่าก็เป็นแอมป์ให้เสียงที่ดีมากๆ และยิ่งถ้าคุณชอบแนว Fender Tweed/Blackface ขนาดเล็ก ในราคาที่กลางๆ หล่ะก็ New Yorker  เป็นแอมป์ที่คุณน่าจะยินดีที่จองไว้เป็นตัวเลือกอีกตัวเลยหล่ะครับ


วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Kingbee T-Std TVJones


นี่เป็นครั้งแรกบนบล๊อกของผม ที่นำเอากีตาร์แบรนด์ Custom จาก USA มาเขียน (ในนิตยสาร The Guitar MAG ผมเคยเขียนแนะนำกันไปบ้างแล้ว) หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับกีตาร์แบรนด์นี้ แต่ทางฝั่ง US แล้ว ในกลุ่มคนเล่นกีตาร์ Custom แบบนี้ Kingbee Guitars กำลังเป็นอีกแบรนด์ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการทำกีตาร์ที่มีความหลากหลาย ถึงแม้ว่าจะอยู่ในทรงของกลุ่ม F Guitars เป็นหลัก แต่เนื่องด้วยวิธีการทำ Finishing ที่หลากหลาย ก็ทำให้ Kingbee Guitars เป็นกีตาร์ที่มาแรงขึ้น



Kingbee Guitars นี้เป็นกีตาร์ที่ผ่านการทำจาก Mr.Andy Louis Vargadoz จาก Texas, USA โดยเริ่มต้นจากคอนเซปท์กีตาร์แบบ Relic หรือทำให้เก่า ผ่านการเล่นมากหนักๆ เทรนด์กีตาร์ลักษณะนี้มาแรงมากในปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ เสียด้วย ผมได้รับกีตาร์ Kingbee ที่เพิ่งมาใหม่เอี่ยมๆ เพิ่งถึงเมืองไทยสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2555 นี้เอง ก็นำมาทดสอบกันเลยครับ



เจ้า Kingbee ตัวนี้ เรียกว่า T-Standard with TV Jones Pickups ก็คือเป็นรุ่นสแตนดาร์ต และติดปิ๊กอัพที่เรียกว่า TV Jones มา หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินปิ๊กอัพแบรนด์นี้ จริงๆ TV Jones เป็นปิ๊กอัพที่มีชื่อเสียงมากอยู่แล้ว ด้วยทำปิ๊กอัพที่ให้เสียงฟังแปลกหูกว่าทั่วๆ ไป ถ้าเคยได้ยินเพลงประเภท Rockabilly หรือได้ยินเสียงจากกีตาร์ Gretch มาบ้าง ก็คงพอนึกออก หน้าตาของเจ้า T-Standard ตัวนี้ก็เป็น T-Style ที่ทำสี Sea Foam Green พร้อมทั้งมี Relic และ Closet Classic มาพร้อมๆ กัน ดูสวยงามมากทีเดียว ปิ๊กอัพก็เป็น TV Jones รุ่น Supra'Tron ตัว Neck และ Filtertron ตัว Bridge ดูแปลกตา และ สวยงามมาก น้ำหนักของกีตาร์ก็อยู่ในระดับกลางๆ ไม่เบา แต่ไม่หนัก สเปกส์ก็เป็น Alder Body และ Maple "Quater-Sawn" Neck


ผมทดสอบ Kingbee ตัวนี้ผ่าน Bogner Shiva 6L6 + Bogner Shiva 2x12 Cabinet และผ่าน FX Providence: Silky Drive และ Mad Professor: Deep Blue Delay พบว่าเสียงของ Kingbee ตัวนี้ฟังแปลกประหนึ่งเหมือนเรากำลังเล่นกีตาร์แบบ Hollowbody อยู่เลย น้ำเสียงฟังโปร่งๆ โดยเฉพาะปิ๊คอัพหน้า Supra'Tron น้ำเสียงฟังอวบอิ่มมีน้ำมีนวล ไม่หนาใหญ่ตัน แต่อวบกำลังดี (ผมกำลังพูดถึงเสียงกีตาร์นะครับ !!) ส่วน Filtertron ตัว Bridge นั้น จะออกแนวแซ่บๆ จี๊ดๆ จ๊าดๆ เสียงกลางค่อนข้างก้าวร้าว ย่านเบสน้อยกว่าเล็กน้อยและมีย่านแหลมที่คมจิก เหมาะกับการใช้งานที่ค่อนข้างหลากหลายสไตล์


Kingbee เป็นกีตาร์คัสตอมเมดจาก US อีกแบรนด์หนึ่งที่น่าหาโอกาสมาทดสอบให้ได้ครับ ด้วยความแปลกและกล้าแตกต่างในการใช้ component ต่างๆ ที่ ได้ผลลัพท์ที่แตกต่างแต่ไปทางที่ดีมากๆ ทั้งงาน Relic ที่สวยจริงๆ การคัดไม้ที่นำมาใช้ทำกีตาร์ก็มีความรู้จริงและมี know how อย่างจริงจัง ในราคาแบบนี้ ได้กีตาร์คุณภาพนี้ ถือว่าเหมาะสมครับ


วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Bogner Uberschall



Avenged Sevenfold, Jim Root, Anthrax, Disturbed, Mark Tremonti ชื่อเหล่านี้ คนรักเพลงหนักกระโหลกแบบ Metal คงจะรู้จักกันดี ชื่อเหล่านี้มีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งครับ คือทั้งหมดนี้ใช้แอมป์พลิฟายด์แบรนด์และรุ่นเดียวกันในการบันทึกเสียงหรือแสดงสด ผมกำลังหมายถึงแอมป์พลิฟายด์ที่เป็น Super Hi Gain อย่าง Uberschall จากค่าย Bogner Amplification

Uberschall เป็นภาษาเยอรมันที่หมายถึงคำว่า Supersonic ในภาษาอังกฤษ และในภาษาไทยก็หมายความว่า "เหนือเสียง" ผมเข้าใจว่ามิสเตอร์ Reinhold Bogner พยายามจะตั้งชื่อให้มันดูทรงพลังเข้ากับแอมป์พลิฟายด์รุ่นที่ให้เสียงหนักหน่วงที่สุดในไลน์ผลิตของ Bogner นั่นเอง

มาว่ากันถึงตัวแอมป์พลิฟายด์กันดีกว่า ต้องบอกก่อนว่า ถ้าคุณมีโอกาสได้เล่นแอมป์มาจำนวนหนึ่ง คุณอาจจะพบว่า Bogner Amps นี้มีน้ำหนักที่มากกว่าชาวบ้านอยู่บ้าง ถึงแม้จะเป็นแค่หัวแอมป์ แบบไม่รวมแคบบิเนต (ลำโพง) ก็เถอะ นั่นเป็นเพราะว่า Bogner ใช้เหล็กที่ค่อนข้างหนาพับทำส่วน Chasis ของแอมป์ เพื่อความทนทาน เรียกว่าหล่นลงพื้น ก็ยังยกกลับมาเล่นได้แบบไม่สะทกสะท้าน เจ้า Uberschall นี่ก็เหมือนกัน เฉพาะหัวก็มีน้ำหนักราวๆ 25 กิโลกรัม

ผมลองทดสอบ Bogner Uberschall เพียวๆ กับกีตาร์ 2 ชนิด คือติดปิ๊กอัพคนละแบบทั้ง Passive และ Active โดยใช้ทั้ง Suhr Reb Beach Model และ Ibanez J-Custom (EMG และ Dimarzio) มาดูที่แผงหน้าของแอมป์แบ่งฝั่งชัดเจนระหว่างเสียงแชนแนลคลีน และ แชนแนลไดร์ฟ ทุกๆ ปุ่มปรับมีผลไว และมีช่วงเสียงที่กว้างมากอยู่ ทำให้ปรับได้หลากหลายมาก การควมคุมการเปลี่ยนแชนแนล ทาง Bogner ก็มี Footswitch มาให้ใช้หนึ่งอัน และหลังจากทดสอบแล้ว ก็พบว่าเจ้า Uberschall นั้นเรียกว่าเป็นแอมป์ชนิด Gain Monster จริงๆ จุดเด่นๆ ของเขาอยู่ที่เสียงดิสทรอชั่นที่มากมายมหาศาล ย่านโลว์เอนด์ที่กระชับ แน่น คนที่เล่นดนตรีแนว Metal น่าจะพบว่า เสียงที่ได้มาจากกีตาร์ของคุณๆ นั้นชัดครบทุกเม็ด ฮาร์โมนิคกำเนิดง่าย และปรกติถ้าได้เล่นแอมป์ประเภท Gain เยอะๆ จะรู้สึกเสียงคลีนไม่ค่อยเพราะนัก แต่ไม่เกิดขึ้นกับเจ้า Uberschall เพราะว่าเสียงคลีนของ Uber นั้น ยังถือว่าอยู่ในเกณท์แจ๋วมาก สำหรับแอมป์แบบ Hi Gain เยี่ยงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวกีตาร์ที่เลือกมาซบอก Uberschall ก็ไม่น่าจะสนใจไยดีกับเสียงคลีนนัก เพราะว่าเล่นแชนแนลเสียงแตกมันมันส์สะใจกว่า จุดเด่นอีกจุดสำหรับ Uberschall ก็เห็นจะไม่พ้นเจ้าแคบบิเนตที่มาคู่กัน ทาง Bogner เรียกเจ้า 4x12 ตัวนี้ว่า Uber Kab (Uberschall Cabinet) ซึ่งเป็นแคบบิเนตลำโพงที่ถูกออกแบบมาให้เข้ากับเจ้า Uber ด้วยดีไซน์ที่ดูลึกกว่ารุ่นทั่วไป เพื่อตอบสนองย่านเสียงเบสได้ลึกกว่าปรกติ


สำหรับนักกีตาร์สายโหด สายหนัก Uberschall น่าจะตอบสนองความโหด ดิบ เถื่อนได้อย่างเหลือเฟือครับ สำหรับหนึ่งในบูติกแอมป์พลิฟายด์ที่เจ๋งที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก อยากให้ได้ลองกันครับ :)

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Instrument Cables

จะว่าไป สิ่งที่นักกีตาร์อย่างเราๆ สนใจกันมากๆ ก็เห็นจะไม่พ้นเรื่องของเสียง และ โทนเสียงกีตาร์ที่เราเล่นออกผ่านแอมป์สุดเลิฟ หรือบางกรณีก็อาจจะเป็นแอมป์ ณ ที่ทำงาน ส่วนสำคัญมากๆ ส่วนหนึ่งที่เราจำต้องคำนึงถึง ก็ได้แต่สิ่งยาวๆ (หรือสั้นๆ ในบางกรณี) ที่เรียกว่าสายสัญญาณ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Instrument Cable นั่นเอง มองผ่านๆ เข้าไปในตลาดสายเคเบิ้ล หลายคนคงงงว่าไอ่เคเบิ้ลราคา 400 กับ 4000 มันมีความต่างกันจริงๆ หรือ? แล้วถ้าต่าง มันต่างกันอย่างไร? ผมจะมาเล่าเรื่องพรรค์นี้ให้ฟังกันครับ แต่จะว่ากันตามประสบการณ์ที่ได้เล่น ได้ลองมานะครับ

สายสัญญาณเนี่ย มีหน้าที่หลักๆ ก็คือใช้ในการนำสัญญาณกีตาร์ของเราที่รับแรงสั่นจากปิ๊กอัพ ผ่านทางวงจรกีตาร์แล้วผ่านเข้าสายสัญญาณก่อนจะผ่านไปสู่แอมป์พลิฟายด์​ (บางกรณีก็ผ่านบอร์ดเอฟเฟคต์ก่อน) ดังนั้นเจ้าสายสัญญาณจึงเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มีผลต่อเรื่องเสียงโดยตรง (จริงๆ สายอะไรที่มีส่วนผสมของทองแดง ในความยาวเท่าๆ กัน จะนำสัญญาณได้เหมือนกันแหละครับ) แล้วทำไมราคาสายสัญญาณแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นมันจึงถูกหรือแพงไม่เท่ากันมันเป็นเพราะอะไร? คำตอบนั้นมีได้หลายจุดครับ ยกตัวอย่างเช่น

Connector Plug: หรือหัวแจ๊คนั่นเอง จุดนี้ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นจุดสัมผัสระหว่างตัวส่งสัญญาณจุดแรกไปจนถึงจุดท้ายสุด ปรกติเราจะได้ยินว่าหัวทอง หัวเงินดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว ทองแดงนี่แหละครับที่นำสัญญาณได้ดีกว่าชาวบ้าน บางบริษัทจึงทำหัวทอง/เงินออกมาเพื่อความสวยงาม แต่มีจุดสัมผัสเป็นทองแดง หรือเรียกแบบฝรั่งๆ ว่า Copper Core นั่นเอง

Copper Quality: คุณภาพของทองแดงที่นำสัญญาณก็เป็นอีกจุดที่ผมเห็นว่าผู้ใช้มองข้าม จริงๆ ถ้าเราสังเกตุอุปกรณ์ที่เกี่ยวการนำสื่อสัญญาณหลายๆ ชนิด จะเห็นว่าส่วนผสมที่เป็นทองแดงส่วนใหญ่จะใช้คุณภาพต่างๆ กัน (เช่นทองแดงที่ใช้พันปิ๊กอัพกีตาร์​ / สายสัญญาณคอมพิวเตอร์ และที่ฟังกันชัดที่สุดก็คือสายสัญญาณนำเสียงนี่แหละครับ)

Insulation: หรือฉนวนนั่นเอง เจ้าฉนวนนี้ ก็มีหน้าที่หลักๆ ที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเล็กๆ ที่น่ารำคาญที่เรียกว่า Noise หรือเสียงรบกวน เนื่องเพราะทองแดงที่ถูกนำสัญญาณนั้นเป็นสิ่งที่ถูกรบกวนได้ง่ายจากคลื่นแม่เหล็ก หรือ คลื่นไฟฟ้าอื่นๆ จากภายนอก การห่อหุ้มด้วยฉนวนจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสายสัญญาณ การที่เราเสียบกีตาร์เข้ากับแอมป์ แล้วเจอเสียงรบกวนน้อยลง การใช้สายดีๆ ที่มีการสร้างฉนวนหุ้มดีๆ ก็มีผลอย่างมากครับ ที่ทำให้สัญญาณกีตาร์ของเราคลีนขึ้น เคลียร์ขึ้น และลดเสียงรบกวนได้มากโข


ต้องทำความเข้าใจกันนิดหนึ่งก่อนครับ ในเรื่องเสียงที่ผ่านสายสัญญาณ ที่เราๆ ท่านๆ มักจะบอกว่ายี่ห้อนี้แหลม ยี่ห้อนี้บวมเบสเยอะ หรือยี่ห้อนี้เสียงกลางหนา จริงๆ การนำสัญญาณจากต้นทางไปปลายทางในทางทฤษฎีจะได้ 100% ทุกๆ ย่านนั่นแหละครับ เพียงแต่สายสัญญาณที่เราใช้ จะตอบสนองย่านไหนได้เร็วกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เราได้ย่านเสียงแหลมมากเกิน นั่นหมายถึง สายสัญญาณนั้น นำสัญญาณย่านเบส หรือ Low Frequency ได้ไม่ดีนัก และในทางกลับกันถ้าเสียงเบสมาหนักกว่า เสียงออกขุ่น แสดงว่าสายสัญญาณนั้นๆ นำสัญญาณด้านแหลม หรือ Hi Frequency ได้ไม่ดีนัก แต่ที่แน่ๆ สายสัญญาณที่คุณภาพดีๆ (ส่วนใหญ่ราคาจะไม่น่ารักนัก) จะแทบไม่มีปัญหาแบบนี้ คือนำสัญญาณได้ครบทุกๆ ย่าน ฟังโปร่ง สบายหู และไม่รู้สึกอึดอัด จริงๆ การทดสอบทำได้ง่ายๆ และวัดกันได้ที่ความยาวเพียง 20 cm ก็ฟังรู้เรื่องแล้วครับ

อ่านมาทั้งหมดแล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อผมนะครับ ผมอยากจะแนะนำให้คุณไปลองให้รู้แจ้งเห็นจริงก่อน เพราะเรื่องของสายสัญญาณนั้น เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ตอบสนองการดีดของคุณ และการฟังของคุณเอง ถ้าคุณฟังไม่ออก ผมก็แนะนำง่ายๆ ว่าอย่าไปซื้อมันครับ เพียงแค่อยากให้เปิดใจทดสอบสายสัญญาณหลายๆ ยี่ห้อ หลายๆ ระดับ คุณจะรู้แจ้งเห็นจริงเองนั่นหละ ว่ามันมีผลกับซาวด์ กับ โทนของคุณขนาดไหน :)