วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Kiesel Guitars : SCB6

ก่อนจะปิดปี 2015 ผมมีบทความสุดท้ายของปีนี้มาฝาก เป็นการทดสอบกีตาร์ที่เรียกว่าเป็นแบรนด์ที่กลับมาเกิดใหม่ได้อย่างสวยงาม ชื่อว่า Kiesel Guitars ในสมัยก่อนอาจจะคุ้นกันในชื่อ Carvin Guitars แต่การกลับมาใช้ชื่อ Kiesel และมีดีไซน์กีตาร์รุ่นใหม่ๆ ออกมาหลากหลายรุ่น ก็ทำให้แบรนด์นี้กลับมายืนเด่นเป็นสง่าอีกครั้งในตลาด 

วันนี้ผมได้รุ่นที่ชื่อว่า SCB6 มาทดสอบครับ SCB เป็นกีตาร์ทรง Single Cut และเป็น Flat-Top จะว่าไปมันก็มีส่วนผสมในแบบ Les Paul และ Telecaster อย่างละนิดละหน่อย ตัวที่ผมได้จับทดสอบนั้นมีสเปกค์ไม่ธรรมดาทีเดียว คือ Black Limba Body / Spalted Maple Top ทำสี Moss Green / คอเป็น Maple Neck Thru Body และที่เด็ดคือ Ebony Fingerboard 


มาว่ากันถึงเสียง ผมทดสอบ Kiesel SCB6 กับแอมป์ Bogner ATMA และ ATMA Cab 1x12 ไม่มี FX ใดๆ ทั้งสิ้น เสียงคลีนฟังดูหนาใหญ่นุ่มนวลในตำแหน่งเนค และแก๊กสองฟังโปร่งมาก สามารถเล่น Strumming แทนกีตาร์โปร่งได้เลย แก๊กกลางไปจนถึงตำแหน่งบริดจ์ฟังแข็งเล็กน้อย จริงๆ ถ้าทำการปรับตั้งระยะความสูงต่ำของปิ๊กอัพ น่าจะนุ่มนวลขึ้นอีกมากครับ พอมาเล่นเสียงแตกแล้วกลับชอบมาก บาลานซ์ทั้งหกสาย ทำได้ดี เสียงไดร์ฟจากปิ๊กอัพบริดจ์ฟัง Cut Through และฟังแน่น และกระชับ สายร๊อคน่าจะหลงรักได้ไม่ยากเลย 

อยากให้ไปลองกันสำหรับ Kiesel Guitars รุ่น SCB6 เป็นกีตาร์ที่คนชอบสไตล์ LP หรือ Tele น่าจะนิยม ราคาไม่สูงเกินไปเอื้อมกันสบายๆ ไม่ต้องขายตับ ขายไตกัน แถมได้งานแบบ Custom Shop อีกต่างหาก ส่วนตัวผมสั่งไปแล้วหนึ่งตัวครับ ;)


วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Carvin Guitars : BOLT-V

ว่ากันถึงกีตาร์ที่คุณภาพเยี่ยม แต่ไม่ค่อยดังในบ้านเรา (ที่จริงช่วง 20 ปีก่อน นี่ก็ดังเหมือนกัน) ชื่อ Carvin Guitars นี่เป็นตัวแรกที่ผมนึกถึงเลย ผมยังจำได้ว่าสมัยก่อนดูโลกดนตรี ยังเห็นวง Nuvo ใช้อยู่ แต่ว่าในบ้านเรา Carvin Guitars ก็ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ อาจจะด้วยราคายังสูงอยู่ วันนี้ผมได้รับกีตาร์ Carvin มาทดสอบ 1 ตัว เป็นรุ่นที่เรียกว่าราคาถูกที่สุด คือมีเงินในกระเป๋า 37,000 บาท ก็เป็นเจ้าของได้แล้ว 

ตัวที่จะลองกันนี่เรียกว่ารุ่น Carvin : Bolt-V คือเป็นกีตาร์หน้าตาไปแนวๆ Stratocaster และติด Vintage Tremolo มา สีแดงสวยงามเลย ราคารุ่นนี้คือ 39,000 บาทพร้อม Carvin Gig Bag ดูหนาแน่นและแข็งแรงดี Spec ของกีตาร์คือ :

- บอดี้ : Premium Alder
- คอ : Hardrock Maple / Rosewood Fretboad / Tung Oil Finished
- ส่วนต่อคอ CNC ทำให้พอดีเป๊ะ 100% เพื่อเพิ่ม Sustain
- Carvin Pickups ทั้ง 3 Single Coils และ Humbucker 

ที่ชอบใจคือทั้งหมด ทั้งหลายในราคานี้ ไม่ได้ผลิต Overseas นะครับ ทั้งหมดนี่ทำสำเร็จในโรงงานของ Carvin ที่ San Diego, USA ตรงนี้ต้องให้เครดิต Carvin Guitars ที่กล้าๆ เปิดราคาที่น่าสนใจมากๆ

มาทดสอบ Bolt-V กันครับ ผมใช้แอมป์ Komet : Concorde ไปออกลำโพงของ TopHat 2x12 ดอก Alnico Blue/Alnico Gold โดยใช้ Delay/Reverb จาก Zoom MS70-CDR และ Distortion ของ Pete Cornish : G2 มาว่ากันถึงเสียงคลีนก่อน เจ้า Bolt-V ตัวนี้ติด Carvin Ceramic Pickups มา ก็จะรู้สึกได้ว่ามันจะฟังกระด้างเล็กๆ ครับ (ถ้าไม่ชอบแนวนี้ ตอนสั่งให้ทางโรงงานติดเป็น Alnico มาได้ ไม่ผิดกติกาครับ) แต่แลกมากับเสียงที่พุ่งคมชัดดีทีเดียว และมีเสียงที่เป็นจุดเด่นของกีตาร์ที่ประกอบแบบ Bolt-On คือเสียง Twang ก็มาครบถ้วน พอเปิดเล่นกับ Distortion แล้ว รู้สึกว่าเป็นที่น่าพอใจมากครับ Humbucker เสียงดุ พุ่ง เล่นสนุกมือ และ Single Coils ก็อ้วนหนาใหญ่ดี เรียกว่าเป็นกีตาร์เล่นได้กว้างเลยหล่ะ งานผลิตก็ดูเนี๊ยบได้มาตรฐาน เหมาะสำหรับทุกมือ ไม่ว่าจะมือใหม่ หรือจะเล่นอาชีพแล้ว ก็ใช้งานได้ อยากให้เพื่อนๆ มาลองกันครับ

VDO Clip : Carvin Guitars : Bolt-V

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทดสอบ 4 Dirt Boxes

ไม่ได้เขียนซะนาน ยอมรับเลยว่าไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจในการเขียนเลยครับ ไม่มีของใหม่ๆ เล่น (ฮา) วันก่อนนี้ผมจัดบอร์ดเวอร์ชั่นใหม่ นำเอาของที่ไม่ค่อยได้ใช้งานมาจัด เพราะว่าปลายๆ ปี ผมจะมีเล่นดนตรี (ปีละ 2 ครั้งถ้วน) แนวทางการจัดบอร์ดของผมเองนี่จะขึ้นกับแนวเพลงหรือเซ็ตเพลงที่จะเล่นด้วยครับ เพราะงั้นในแต่ละครั้งก็จะแตกต่างกันไป เที่ยวนี้ผมเอาเสียงแตก 4 ก้อน 4 สไตล์มาลงบอร์ดไว้ ก็ด้วยมีเพลงที่ต้องใช้เสียงหลากหลาย ตามไปฟังเสียงกันครับ 


วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จัดการระบบไฟกับบอร์ดเอฟเฟคต์

ผมสนใจจะเขียนบทนี้เท่าที่ความรู้จะอำนวย ก็อาจจะไม่พูดถึงเรื่องวิชาการมากเพราะว่าไม่ได้เรียนและจบมาทางสายไฟฟ้า แต่จะเอาประสบการณ์ที่จัดบอร์ดทั้งของตัวเองและของเพื่อนๆ คนอื่นๆ มาเล่าให้ฟัง เรื่องนี้ผมคิดว่าควรจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องคิดเมื่อคิดจะจัดบอร์ด FX กัน นั่นคือเรื่องของการจัดการระบบไฟฟ้าในบอร์ด FX 

ผมยกตัวอย่างกรณีที่ผมเพิ่งจัดบอร์ดใหม่หมาดๆ (ของผมเองนี่แหละ) ผมมี FX ที่ต้องใช้อยู่ 9 ก้อน บวกกับ Tuner อีก 1 ก้อน โดยที่ผมมี Power Supply ที่จ่ายได้เพียง 8 Outlets และมีจ่ายไฟ 12v อยู่ 2 Outlets เท่ากับว่า ผมมี Outlets ที่จ่ายไฟ 9v เพียงแค่ 6 ช่องเท่านั้นเอง


สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากลองจัดบอร์ดเอง สิ่งที่ต้องรู้เลยคือ Current Draw ของ FX แต่ละก้อนครับ อยากให้สนใจอ่านคู่มือ หรือเปิดอินเตอร์เนตดูกันนิดนึงว่าเอฟเฟคต์ที่คุณใช้แต่ละตัวใช้ไฟเท่าไหร่กันบ้าง มาดูก้อนที่ผมใช้พร้อมกับ Current Draw ของแต่ละก้อนก่อน :

- Drybell Vibe Machine ใช้ไฟ 9v-15v ที่ 90mA (ในคู่มือจะเขียนเผื่อไว้ที่ 150 mA แต่ผมรันที่ 100 ฉลุย)
- MXR Phase 90 ใช้ไฟ 9v ที่ 5mA (ผมพิมพ์ถูกแล้วนะครับ ใช้แค่ 5 mA)
- Ramble : Twin Bender ใช้ไฟ 9v แต่ทางผู้ผลิตไม่ได้บอก Current Draw มา ผมใช้ประเมินเอาว่า Fuzz ปรกติไม่มีทางกินเกิน 30mA และต้องไปทดสอบอีกทีเมื่อต่อกับ Power Supply
- Mad Professor : Little Green Wonder ใช้ไฟ 9v-18v ที่ 10mA
- TC Polytune Noir ใช้ไฟ 9v ที่ 40mA
- Bogner XTC Red ใช้ไฟ 9v ที่ 80mA
- Providence : Anadime Chorus ใช้ไฟ 9v ที่ 26mA
- Mad Professor : Mellow Yellow Tremolo ใช้ไฟ 9-15v ที่ 5.5mA (พิมพ์ไม่ผิดครับ 5.5mA)
- Boss Super Shifter ใช้ไฟ 9v ที่ 50mA
- Vertex: Landau Boost ใช้ไฟ 9v ที่ 16mA
- Zoom MS-70CDR ใช้ไฟ 9v ที่ 400mA 

ทีนี้มาดู Power Supply ว่าแต่ละ Outlet จ่ายไฟยังไงกันบ้าง สำหรับ Board นี้ ผมใช้ Cioks DC8 โดยไม่เจาะใต้บอร์ด เพราะตั้งใจจะโชว์ Power Supply ด้วย มาดูกันว่า DC8 จ่ายไฟอย่างไรได้บ้าง :


Cioks DC8 เป็น Power Supply ที่เป็น Isolated แยกเกือบทุกช่อง และใช้ Thyroid Transformer จะช่วยได้มากเรื่องความนิ่งของไฟ ทำให้ก้อนแสดงความสามารถได้เต็มที่ จะจ่ายไฟได้แบบนี้ครับ:

Outlet 1-4 : จ่าย 9v และช่องละ 100mA โดยที่ Outlet 3 และ 4 จะสามารถปรับเป็น 12 ก็ได้ (โดยใช้ Dip Switches) ที่มีให้ และ Outlet ที่ 5-6, 7-8 จะแชร์ mA ร่วมกัน โดยที่ Outlet ที่ 5 และ 7 จะจ่าย 9v และ 6 และ 8 จะจ่ายที่ 12v

ทีนี้การวางแผนของผมในการต่อบอร์ด คือข้อแรกเลยผมจะเลือกมาก่อนว่ามีก้อนไหนที่กินไฟหนักที่สุด และก้อนไหนที่ใช้ไฟแตกต่างจากคนอื่น ในกรณีนี้ Zoom MS70CDR กินไฟหนักกว่าคนอื่น คือ  400mA สังเกตุว่าไม่มีช่องไหนที่ DC8 จ่ายได้ แต่ผมลองใช้ Outlet ที่ 5 (จ่าย 300mA) และเปิดใช้งานได้ปรกติโดยที่ไฟของ Cioks ไม่มีอาการวูบ นั่นหมายถึง Zoom ใช้ไฟจริงๆ ไม่ถึง 400mA อย่างที่เค้าเผื่อมาให้ในคู่มือ ต่อมาผมเลือกก้อนที่ใช้ไฟแตกต่างจากเพื่อน นั่นคือ Mad Professor: Mellow Yellow Tremolo และ Drybell Vibe Machine ที่ใช้ไฟ 12v ได้ ดังนั้นผมเลือกจ่ายโดยใช้สาย Y (หนึ่งหัวจ่ายได้ 2 ก้อน) ต่อจาก Outlet ที่ 8 ไปเข้า Tremolo และ Vibe พอจัดการกับตัวที่จ่ายไฟหนักๆ กับไฟแปลกกว่าเพื่อนได้แล้ว ส่วนที่เหลือก็ง่ายแล้วครับ 

แถวล่างของบอร์ดจะมี MXR Phase 90 -> Twin Bender -> Little Green Wonder -> Polytune -> Bogner XTC Red แถวล่างนี้ ผมใช้ Outlet 1 จ่ายให้ Bogner XTC Red ตัวเดียวเลย เพราะใช้ไฟเยอะสุดในกลุ่ม และใช้สาย Y 1 จ่าย 3 จ่ายจาก Outlet ที่ 7 จ่ายให้ Phase 90 - Twin Bender - Polytune เพราะ Polytune ใช้ถึง 30mA ก็เผื่อไว้หน่อยครับ ส่วน LGW ใช้ Outlet ที่ 3 จ่ายตรงๆ ได้สบายๆ มาว่ากันถึงแถวบนบ้าง ผมจ่าย 3 ก้อนที่เหลือคือ Vertex Boost - Super Shifter - Chorus โดยใช้สาย Y 1 ออก 3 จาก Outlet ที่ 4 (มี 100mA) เช่นกัน เป็นอันเสร็จพิธี อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องมีงงกันบ้างครับ ผมยังงงเลย (ฮ่าๆๆ) สรุปง่ายๆ ว่าอย่างนี้ครับ :

Outlet 1 (9v 100mA) ----> Bogner XTC Red ใช้ 9v ที่ 80mA
Outlet 2 (9v 100mA) ----> ไม่ใช้
Outlet 3 (9v 100mA) ----> Mad Professor : Little Green Wonder ใช้ 9v ที่ 10mA (ยังพ่วงตัวอื่นได้อีก)
Outlet 4 (9v 100mA) ----> Vertex Boost 16mA - Super Shifter 50mA - Anadime 26mA รวม 92mA 
Outlet 5 (9v 300mA) ----> Zoom MS-70CDR 400mA แต่ใช้แล้วจ่ายพอปรกติครับ
Outlet 6 (12v300mA) ----> ไม่ใช้
Outlet 7 (9v 300mA) ----> Phase 90 5mA - Twin Bender ประมาณ (30mA) - Polytune 40mA = 75mA 

เพียงเท่านี้ เราก็สามารถใช้กระแสไฟอย่างคุ้มค่าจาก Outlet ต่างๆ ของ Power Supply ได้แล้วโดยอาจจะไม่ต้องเผื่อมากด้วยครับ สิ่งที่อยากจะสื่อก็คือถ้าเรามีการวางแผนล่วงหน้า รู้จักก้อนของเราเพิ่มขึ้นอีกนิด ก็สามารถจัดการบอร์ดของเราให้ใช้งานได้คุ้มค่าครับผม หวังว่าคงจะมีประโยชน์บ้างครับ

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

Blues Master ฉบับสมบูรณ์


ปลายปีที่แล้ว ผมเขียนถึง JPAudio รุ่น Blues Master ไปแล้วรอบนึง ตอนนั้นเขียนไปเหมือนกับว่าเจ้า BM นี่จะออกขายได้แล้ว สรุปสุดท้ายก็ยังไม่เป็นที่พอใจเพราะอะไรหลายๆ สิ่งก็ยังไม่ชัดเจน ผ่านมาอีก 4-5 เดือนก็ปรับแก้ไขกันหลายรอบจนมาถึงจุดที่พอใจเป็นอย่างยิ่งทั้งผู้ผลิต และผู้ช่วยพัฒนา แล้วก็มาเป็น Blues Master ฉบับสมบูรณ์ครับ

ท้าวความกันอีกทีว่า Blues Master เป็นเอฟเฟคต์สัญชาติไทย ผลิตโดยคนไทย โดยใช้วัสดุเกรดดีที่สุดในตลาดเพื่อมาผลิตกันแบบก้อนต่อก้อน และที่สำคัญคือไม่ต้องห่วงว่ามันจะไปก๊อปปี้ หรือเลียนแบบก้อนไหน เพราะไม่ได้อยู่ในความคิดของผู้ผลิต เพราะตั้งใจจะทำเป็น Original Design ของเขาเอง และเจ้า Blues Master นี้ พยายามอย่างยิ่งที่จะจับทิศทางของเสียงกีตาร์บลูส์ในสไตล์แบบ Robben Ford, Larry Carlton, John Mayer แนวๆ เหล่านี้ ซึ่งทางฝรั่งก็จะเรียกว่าเป็น D-Style หรือ Dumble Style Overdrive 

จุดที่ปรับปรุงมาจากเวอร์ชั่นก่อนๆ ก็เห็นจะเป็นเรื่องของ Volume ที่ปรับให้ใช้งานให้ Range จากเบาไปหาดังนั้นใช้ได้กว้างขึ้น จุดสำคัญอีกจุดคือปุ่ม Mojo ที่เดิมที ควบคุมเพียง Compression ของ Gain แต่หลังจากปรับแล้ว จะคุมทั้ง Gain Compression แต่ Tone Shape และ Character ด้วย คือจะปรับให้มี Low Frequency ที่หนาใหญ่ขึ้น หรือสามารถจะปรับให้กลางเด่น Low น้อยหน่อยในแบบ Screamer ก็ได้อีกด้วย ซึ่งจุดนี้เป็นจุดแข็งสำหรับคนที่ต้องการให้ Overdrive ใช้งานได้กว้าง ส่วนเรื่อง Dynamic ก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับคนที่ชอบเล่นกับน้ำหนักมือของตัวเองเวลาใช้ Gain ระดับกลางๆ  

Blues Master ในเวอร์ชั่นสมบูรณ์นี้ ถือว่าอุดจุดด้อยเพิ่มจุดแข็งได้ดี อยากให้ได้ลองกันครับ สำหรับเอฟเฟคต์สัญชาติไทยก้อนนี้




วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

Swing : P-2S


ผมได้รับกีตาร์มาตัวหนึ่งกะว่าจะทดสอบกันพักนึงแล้ว ด้วยติดธุระปะปังอื่นๆ เลยยังไม่สบโอกาส วันนี้พอมีเวลาได้หยิบจับมาเล่น เลยเอามาทำเทสต์กันดูครับ กีตาร์ที่ว่านี้เป็นแบรนด์จากเกาหลี รุ่นที่ทำทดสอบนี่ผลิตจากอินโดนีเซีย จะว่าไปแล้วอินโดนีเซียนี่พัฒนามาเป็นแหล่งผลิตกีตาร์คุณภาพดีๆ ตามความเห็นผมนี้ มีภาษีเหนือกว่าจีนไปเรียบร้อย ถึงแม้กำลังผลิตจะไม่สูงเท่า แต่งานออกมาดูดีกว่าทางฝั่งจีนพอสมควร ดูได้จากแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Squier , Ibanez นี่ก็มีฐานผลิตที่อินโดนีเซียกันเยอะแล้ว 

เรามาดู Swing Guitar Technology รุ่น P-2S กันครับ เจ้า P-2S นี่ก็มาเป็นแบบ Super Strat H-S-S แต่บริดจ์เป็น Hardtail บอดี้เป็น Basswood (ถ้าเข้าใจไม่ผิดนะครับ เดี๋ยวจะหาข้อมูลมาเติมอีกที) ปะหน้าด้วย Quilted Maple และคอเป็น Maple ท๊อปด้วย Rosewood อีกที ระบบอิเลคทรอนิกส์ก็ 5 ทางแบบ Strat นั่นหล่ะ น้ำหนักค่อนข้างเบาดีทีเดียวครับ

มาว่ากันถึงเสียงบ้างครับ ผมทดสอบกีตาร์กับแอมป์ Komet Concorde ไปออก TopHat 2x12 และใช้เอฟเฟคต์เสียงแตกจาก Pete Cornish: G2 เจือด้วย Neunaber: WET Reverb บางๆ เสียงที่ได้ไม่ธรรมดาเลย ย่านเสียงต่างๆ ที่ได้มาค่อนข้างบาลานซ์คือไม่มีย่านไหนเด่นกว่าย่านไหน เสียงจาก single coil ไม่แหลม และไม่บาง ตรงนี้ถือว่าสอบผ่าน เสียง humbucker ค่อนข้างดัง (ตัวที่นำมาทดสอบนี่ยังไม่ได้เซ็ตอัพใดๆ ครับหยิบมาก็ซัดเลย ถ้าผ่านการเซ็ตอัพ เสียงน่าจะบาลานซ์กว่านี้อีก) งานเฟรตทำมาได้ดีมากเหมือนกัน เล่นไม่ติด ไม่ขัดและดันสายได้ลื่นๆ ดีครับ ในกีตาร์ราคาราวๆ 5-6 พันบาทนี่ เจ้า Swing : P-2S เป็นตัวเลือกที่น่านำไปใช้งาน และทำงานได้สบายๆ ครับ

สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ CT Music Shop หรือ Guitar Passion Thailand***


วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

Pete Cornish P-1

ว่ากันถึง Fuzz Box ที่เป็นที่นิยมกันที่เล่นกันอยู่ในตลาดนั้น ส่วนใหญ่แล้วนักกีตาร์มักจะมองหาเสียงที่เคยได้ยินตามแผ่นเสียง เทป ซีดีกันซะมากกว่า เช่นสายที่ชอบ Jimi Hendrix ก็อาจจะไปมองหาเสียงในแบบ Fuzz Face หรือถ้าชอบไปทาง Richie Blackmore หรือ Jimmy Page นี่ต้องไปเล่น Sola Tone Bender อะไรแถวๆ นี้ วันนี้ผมก็จะพาไปรู้จักกับ Fuzz Box ก้อนนึงที่เป็นที่นิยมกันมาช้านาน และกว่าจะได้ก้อนที่ว่านี้ ก็ต้อรอกันเป็นแรมเดือน แรมปี เพราะอะไรนะเหรอ? ก็เพราะว่ามันก็เป็นเสียงที่เรียกว่าเป็น Rock Icon ได้เหมือนกัน ด้วยเป็นเสียงแบบมีเอกลักษณ์ที่เราชินหูกันมาจากฝีมือของ David Gilmour แห่งคณะ Pink Floyd

ก้อนที่ว่าเป็นแบรนด์ชื่อว่า Pete Cornish รุ่น P-1 ย่อมาจาก Precision Fuzz 1 ซึ่งเป็น Fuzz Box ที่ออกแบบมาให้ David Gilmour ใช้งานทั้งในสตูดิโอและเล่นสด เป็น Germanium Transistor Fuzz ที่ให้เสียงเบสฟังเบลอๆ บวมๆ กลิ่นคล้ายๆ Fuzz Face แต่มีย่านเสียงกลางแหลมกระเดียดไปทาง Muff ที่ผมหมายถึงว่าคล้ายนี่คืออยากจะให้นึกภาพออก แต่ในความเป็นจริง P-1 จะฟัง Unique กว่ามากๆ เรียกว่าเป็นเสียงที่มีเอกลักษณ์สูงมาก เจ้า P-1 ถูกดีไซน์มาแบบกล่อง Utility คล้ายๆ กล่องเครื่องมือของทหาร ดูถึกๆ ทนๆ ขนาดค่อนข้างใหญ่ ติดสติ๊กเกอร์บอกชื่อปุ่มต่าง ง่ายๆ แต่คลาสสิกจริงๆ

ผมทดสอบ P-1 กับกีตาร์ Gibson Les Paul R57 Goldtop ผ่าน P-1 มี Delay บางๆ จาก DLY80 และ WET Reverb ไปออกตู้ Bogner Barcelona พบว่าการปรับ Gain มากหรือน้อยของ P-1 ฟังไม่ต่างกันเยอะ แต่ปุ่มที่สร้างความแตกต่างได้มากคือ Tone คุณอาจจะชอบเสียง Fuzz ที่ทุ้มหน่อยมันก็จะฟังนวลหนาใหญ่ ถ้าปรับไปทางคมขึ้น ก็จะฟังแผดกร้าว กร้าน และเดือดมากๆ เสียงโซโลหนา และซัสเทนเหลือเฟือครับ ถ้าต้องการ Fuzz Box ที่เอกลักษณ์สูง ปรับได้เยอะ เสียงดีในแทบจะทุกๆ การปรับ Cornish P-1 นี่เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ ตัวนึง ข้อด้อยมีข้อเดียวคือราคา ผมสั่งมารวมภาษีแล้วก้อนนึงตก 35,000 บาท ถ้าชอบจริงๆ ก็ต้องสู้ราคา ว่ากันอย่างนั้นครับ


วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Timmy VS Jan Ray


เป็นที่ถกเถียงกันมากเหลือเกินในฟอรั่มต่างประเทศ และลามมาถึงเมืองไทยนี้ สำหรับ Vemuram Jan Ray Overdrive ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศไทยเรา หรือตลาดยุโรปและอเมริกา ว่าเจ้า JR นี้ แท้ที่จริงแล้วก็คือ Cloning ของ Paul Cochrane Timmy Overdrive ที่ได้รับความนิยมก่อนหน้านั้นอยู่หลายปี อันนี้จริงแล้ว โดยทางวงจรผมเองก็ไม่สันทัดว่ามันเหมือน หรือ ต่างกันอย่างไร แต่ส่วนตัวผมมีทั้งสองก้อนอยู่ ก็ต้องเอามาเปรียบมวยกันหน่อย เพื่อนความสนุกสนาน

ผมใช้กีตาร์ Swing Guitar Technology (ติดตั้ง Kinman AVn59 Pickups) ทดสอบสองก้อนนี้ร่วมกับแอมป์ Komet รุ่น Concorde และ Marshall 2061cx ลองแล้วรู้สึกว่าแคแรกเตอร์อาจจะคล้ายๆ กันอยู่เล็กน้อย แต่ด้านเสียงต่างกันค่อนข้างจัดเจน ในขณะที่ Timmy มีย่านเสียงเบสเบลอๆ คล้ายๆ Fuzz มากกว่า แต่ Jan Ray จะค่อนข้างหนาและนุ่มไม่คมเท่า และฟังเด้งกว่า และมีเสียงกลางเยอะกว่าชัดเจน ย่านเสียงแหลมนั้น Timmy จะฟังคมสดใสกว่า ในขณะที่ Jay Ray จะฟังอมๆ ทุ้มๆ มากกว่า โดยแคแรกเตอร์แล้ว Timmy จะเป็นแนวๆ กร้าวๆ คมๆ แต่ Jan Ray จะกลมๆ นวลๆ เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับผมแล้วไม่น่าจะเรียกว่าเป็น Cloning ซักเท่าไหร่ครับ 


วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Life Goes On : Music For Friend

ตกบ่ายๆ ของวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ผมใช้เวลาไม่นานบน MRT จากสุขุมวิทไปถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นที่รู้กันว่าสถานที่แห่งนี้ ใช้จัดงานดนตรีดีๆ มามากมายหลายงาน วันนี้ก็เช่นกัน ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้พบงานดนตรีที่นักดนตรีมาเล่นกันด้วยหัวใจ มาเล่นด้วยมิตรภาพ มาเล่นกันด้วยความห่วงหาอาทรเพื่อนนักดนตรีด้วยกัน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 พวกเราคนดนตรีอยู่วนเวียนอยู่ในวงการ ก็ได้ทราบข่าวร้ายเมื่อพี่ชายที่เคารพยิ่ง บ้านของพี่เอ๊ดดี้ แห่งคณะออโตบาห์นประสบกับเหตุอัคคีภัย และทางพี่น้องเพื่อนพ้องของพี่เอ๊ดดี้ ก็ใช้เวลาไม่นานในการจัดงานดนตรีขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ใช้ชื่อว่า Life Goes On : Music For Friend ฟังว่าทางคณะผู้จัดนั้นมีแกนสำคัญคือพี่ฉ่าย สมชัย ขำเลิศกุล และพี่หมึก วิโรจน์ ควันธรรม

บรรยากาศของงานเป็นไปอย่างสบายๆ มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คนคุ้นเคยเดินเจอกันเป็นระยะ มีดนตรีดีๆ ให้ฟังกันตลอดบ่ายล่วงเลยไปถึงช่วงดึก ไม่บ่อยครั้งหรอกครับ ที่เราจะได้เห็นศิลปินต่างค่าย ต่างยุคต่างสมัยมาร่วมเล่นดนตรีกันบนเวทีเดียวกัน มีจุดประสงค์เดียวกันผมได้เห็น พี่โจ-พี่ก้องและนูโวเล่นต่อจากพี่เขียวคาราบาว ผมเห็นน้องเป้ อารักษ์ชื่นชมพี่ซัน มาโนช พุฒตาล ได้เห็นคุณจุ๋ม นรีกระจ่างมอบความรักความห่วงใยแก่พี่เอ๊ดดี้ผ่านบทเพลงมากมายหลายชิ้น การหาเงินช่วยเหลือก็มีกันหลากหลายทาง ทางงานมีขายเสื้อในราคาเพียง 300 บาท และมีกล่องรับบริจาคเดินรอบๆ งาน และศิลปินที่แวะเวียนมาช่วยงานก็ไปยืนให้ผู้ชมถ่ายภาพด้วยที่แบ๊คดร๊อป โดยบริจาค 100 บาทลงกล่อง ผมคิดว่าเป็นไอเดียที่น่ารักมากๆใครที่ได้ไปชมงานวันนั้นคงจะเห็นด้วยกับผมครับ

ขอบพระคุณภาพประกอบจาก www.ToneMax.Net ครับ