วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ISP: Decimator

"จี่ ................​" / "หึ่ง ................" เสียงจี่ เสียงฮัมเหล่านี้ น่าจะเป็นเสียงที่ทำให้คนกีตาร์ที่พิศมัยในซาวด์แบบ Single Coils ปวดตับกันพอสมควร เพราะเป็นอันรู้กันว่า กีตาร์ที่ติดปิ๊กอัพชนิด Single Coils นี้มักจะให้ Dynamic ที่ฟังกว้างกว่า Humbuckers และเล่นเด้งสนุกมือกว่า ถ้าเล่นเสียงคลีนล้วนๆ ก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเล่นกับ Overdrive/Distortion Box หรือเป็นแอมป์พลิฟายด์ที่มี Gain เสียงจี่ๆ ฮัมๆ หึ่งๆ ก็จะเริ่มตามมากวนในให้รำคาญ สำหรับคนรัก Single Coils บางท่านอาจจะทนพอได้กับ Noise รบกวนเหล่านี้ ส่วนคนกีตาร์ที่ทนไม่ไหว และต้องการจะขจัดเสียง Noise เหล่านี้ ในกรณีที่เราเลือกไม่ได้ว่าเราต้องไปเล่นที่ไหน ไฟมีกราวน์หรือไม่ หรือมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ กวนหรือไม่ ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ช่วยดับทุกข์กันไปก่อน ผมกำลังจะพูดถึงก้อนก้อนนึงที่เป็นที่นิยมกันแบบซึมลึกในบ้านเรา เป็นก้อน Noise Gate ชื่อ ISP Decimator จากค่าย ISP Technologies

ISP Decimator นี้ก็เป็นผลผลิตจากเอ็นจิเนียร์ที่ชื่อ Mr.Buck Waller ที่เคยออกแบบ Rocktron รุ่น Hush ครับ หลังจากแกออกจาก บ. Rocktron แล้ว ก็มาตั้งบริษัทเองชื่อ ISP Technologies ออกผลิตภัณท์ออกมาหลากหลายชนิด ทั้งแอมป์ ลำโพง และที่โด่งดังที่มีศิลปินพูดถึงและใช้มากที่สุด ก็คือ Decimator นี่แหละ แล้วไอ่เจ้า Decimator มันดีอย่างไร? เดี๋ยวผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังครับ

ผมมีโอกาสได้คุยกับ Mr.Buck Waller ตอนที่ไป Namm Show 2012 เมื่อต้นปี และได้สอบถามถึง Decimator ตัวนี้ว่ามันต่างจาก Hush อย่างไร คำตอบก็ถอดความมาได้ประมาณนี้ ว่า Decimator นั้นได้ถูกพัฒนามาจาก Hush นี่แหละครับ เพียงแต่ว่าทาง ISP ได้คิดต้น System ที่เรียกว่า TVP ย่อมาจาก Time Vector Processing ซึ่งเป็นระบบที่ทาง Mr.Buck ภาคภูมิใจมากๆ เนื่องจากเป็นระบบที่มีใน Decimator ตัวเดียวเท่านั้น และเขามั่นใจว่ามันจะเหนือกว่า Noise Gate ตัวอื่นๆ ในตลาด เนื่องเพราะ เจ้าระบบ TVP นี้เป็นระบบที่ช่วยคำนวนการทิ้งหางเสียงของกีตาร์เมื่อเล่นโน๊ตยาวๆ ทิ้งหางเสียง เจ้า TVP นี่ก็จะคำนวนและทำการปล่อยให้หางเสียงยาวไม่กุดสั้น (เหมือนกับ Noise Gate ตัวอื่นๆ) และระบบ Buffer Switch ของตัว Decimator นั้น ขึ้นชื่อว่าไม่เปลี่ยนเสียงกีตาร์แม้แต่น้อย ถ้าหากคุณหลับตาฟังแล้วกดสวิทช์ คุณไม่มีทางแยกออกว่า Decimator นั้น On หรือ Off อยู่ (คุณ Buck เค้ามั่นใจขนาดนั้น)

ผมได้ทดสอบด้วยตัวเองโดยใช้กีตาร์ที่จี่ที่สุดที่ผมมี นั่นคือ Fender 1974 Stratocaster และพ่วงด้วย Cornell: Overdrive Special ที่มี Gain มากและแซ่บจริงๆ ไปผ่านตู้แอมป์ Bogner Shiva และลำโพง Bogner Shiva 2x12 เมื่อเล่นโดยไม่ใช้ Decimator ก็มี Noise รบกวนได้โล่ห์อยู่ครับ เมื่อใช้ Decimator และเปิดขึ้นถึงระดับเกิน -40db ไปหน่อยๆ เสี่ยงจี่/ฮัมที่บังเกิด ก็ถูกตัดหายเป็นปลิดทิ้งครับ เมื่อเล่นโน๊ตสั้นๆ จะยังไม่พบความแตกต่าง แต่เมื่อเล่นโน๊ตที่ทิ้งหางเสียงยาวๆ ก็เป็นอย่างที่ Mr.Buck เค้าว่าไว้จริงๆ ว่าหางเสียงจะถูกทิ้งให้ยาวพอสมควรก่อนที่จะถูก Gate ตัดออกไป ซึ่งต่างกันชัดจาก Noise Gate อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะกุดก่อนหางเสียงจะ Released หมด

หลังจากทดสอบแล้ว ผมชอบเจ้า Decimator นี่มากโขอยู่ ถึงแม้ว่าจะผลิต Overseas แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพของ Noise Reduction ตัวนี้ด้อยลงไปเลย ถ้าคุณเป็นคนกีตาร์อีกคนที่ต้องประสบพบเจอกับเสียงรบกวนที่ไม่น่าพิศมัยเหล่านี้หล่ะก็ ISP Decimator น่าจะช่วยคุณได้อย่างแน่นอน และผมก็มีคลิปทดสอบเจ้า ISP Decimator ที่ทาง Pedals' Park Music Playground ตัวแทนจำหน่าย ISP Products ทำไว้มาให้ชมเป็นตัวอย่างกันด้วย



วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

Cleartone: Electric Set


เพิ่งจะได้ฤกษ์การเขียนทดสอบสายกีตาร์แบรนด์ Cleartone รุ่น Electric เบอร์ .010 - .042 วันนี้เอง ที่จริงแล้วผมได้เริ่มทดสอบสายตัวนี้มาตั้งแต่ประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้แล้วครับ แต่อยากจะบันทึกความเป็นไปของสายว่ามันจะเป็นอย่างไรหลังการใช้งานจริงๆ จังๆ ก่อนอื่น มาพูดถึงสายกีตาร์แบรนด์นี้กันสักเล็กน้อยก่อน 

เจ้า Cleartone Strings นี้ ก็เป็นหนึ่งในสายกีตาร์ชนิดเคลือบ ที่ว่ากันว่ายืดอายุการใช้งานได้ราวๆ 3-5 เท่าของอายุการใช้งานปรกติ (ของสายชนิดไม่เคลือบ) ทาง Joe Iacobellis ผู้เป็น CEO ของบริษัทเล่าให้ผมฟังว่า สาย CTS นี้ เป็นนวตกรรมการเคลือบแบบใหม่ ที่ทาง Cleartone ได้ใช้เวลาพัฒนามาเป็นระยะเวลาพอสมควร เพื่อให้สายกีตาร์มีความคงทน แต่ไม่เสียงโทนที่ควรจะเป็น และที่สำคัญไม่ทำให้ผิวสัมผัสเปลี่ยนไปมากเกิน ทาง Cleartone จึงใช้วิธีละลายสารเคลือบลงไปในเนื้อสาย โดยไม่ใช้วิธีเคลือบไปเฉยๆ  เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องของ Frequency Change และความเป็นขุยของสายเมื่อใช้ไปนานๆ

ผมทดสอบสาย Cleartone Strings Electric ที่มีการเก็บรักษาด้วยการซีลอย่างดีมาจากโรงงาน โดยเปลี่ยนใส่ลงไปในกีตาร์ Fender Telecaster Re68 "Paisley" และใช้งานต่อเนื่องมาเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน โดยแต่ละวันจะใช้เวลาเล่นประมาณ 1-2 ชั่วโมง ความแตกต่างที่ผมพบเจอทันทีเมื่อเทียบกับสายกีตาร์เคลือบชนิดอื่นๆ ที่เคยใช้ ก็คือเรื่องผิวสัมผัสเป็นเรื่องแรก คือเจ้า Cleartone นี้ จะมีผิวสัมผัสใกล้เคียงกับสายชนิดไม่เคลือบอยู่มากครับ เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปสำหรับคนที่ไม่ชอบความลื่นเกินไปของสายชนิดเคลือบ และเมื่อเสียบแอมป์พลิฟายด์เล่น ความแตกต่างของเสียงมีอยู่เล็กน้อยครับ สายชนิดเคลือบจะฟังคมกว่าสายชนิดไม่เคลือบอยู่เล็กน้อย แต่ไม่ถือว่าต่างกันมาก (ยกเว้นคนที่ซีเรียสมากๆ จริงๆ) หลังจากใช้ไปแล้วราวๆ สัปดาห์กว่าๆ ผมจึงพบว่าสีของสายเริ่มหม่นๆ ลงไม่ใสปิ๊งเหมือนตอนแรก แต่ด้านเสียงยังคงใกล้เดิมมาก แทบไม่มีอาการดร๊อปของเสียงเลย อีกจุดที่ชอบใจคือเรื่องของสภาพสาย ไม่เป็นขุยๆ เหมือนสายเคลือบอื่นๆ ที่เมื่อใช้ไปสักระยะ สายจะลอกเป็นขุยๆ

และเสียงและสภาพสายจะมาดร๊อปจริงๆ เมื่อเข้าปลายๆ สัปดาห์ที่สาม ต้นสัปดาห์ที่สี่ครับ ย่านเสียงแหลมจะทึบลงไปบ้างแล้ว ส่วนย่านอื่นๆ ยังคงพอใช้ได้ และสภาพสายจะไม่เงาแล้ว แต่ยังคงไม่มีสนิม และไม่เป็นขุย ส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกพอใจกับสาย Cleartone มากทีเดียวครับ ด้วยจำนวนเงินที่จ่ายไป 420 บาท ได้อายุการใช้งานโดยไม่ต้องเปลี่ยนสายบ่อยๆ ประมาณ 1 เดือน (หรือจริงๆ จะใช้อีกหน่อยก็ยังพอได้ครับ) น้ำเสียงฟังธรรมชาติ ผิวสัมผัสธรรมชาติ อยากจะแนะนำให้คุณๆ ที่ต้องใช้งานกีตาร์บ่อยๆ ก็น่าลองมากๆ ลองติดต่อซื้อหาทดสอบดูได้จากร้าน Pedals' Park 0818131595 / 0870126969 ครับ

**การเสื่อมสภาพของสาย บางทีก็ขึ้นอยู่กับอัตราความเป็นกรดของเหงื่อของแต่ละท่านด้วยนะครับ**