วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Swing R2 Millennium Gold

Swing R2 Millennium Gold (Maple Board)


บทนี้มาว่าถึงกีตาร์รุ่นเดียวกับที่เคยเขียนไปเมื่อครั้งก่อน คือ Swing Guitar Technology รุ่น R2 Millennium Gold แต่คราวนี้มาเป็นเฟรทบอร์ดที่เป็นไม้ Maple กันบ้าง เช่นเคยครับ กีตาร์ของ SGT นี้จะมากับ Gig Bag ที่ทนทานแข็งแรงของ Swing ติดตั้งสาย D'Addario เบอร์ 9 มาให้จากโรงงาน สีก็ยังคงเป็นสี Sparkle Gold หรือทองที่มีกากเพชรระยิบระยับสวยงามน่าใช้ เฮดสต๊อกก็เป็นแบบ matching คือสีทองเช่นเดียวกัน ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็ใช้ของคุณภาพครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Bridge ใช้ของ Wilkinson: W VS50 IIK รุ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเลย

หลังจากเอากีตาร์ออกจากกระเป๋าแล้วลองจับดูเบื้องต้น รู้สึกว่าขนาดคอจะต่างกันกับรุ่น Rosewood เล็กน้อย คือ profile หลังคอจะอ้วนกว่านิดๆ จับกระชับมือดี เข้ามือสำหรับคนที่ชอบเล่นคอที่ใหญ่กว่า C นิดๆ ยังคงเป็นมิตรกับมือมากๆ ครับ ถ้าชอบคอที่ไม่ใหญ่ ไม่เล็กจนเกินไป ส่วนงานด้านอื่นๆ ก็เนี๊ยบมากเช่นกัน

ผมทดสอบ R2 Millennium Gold MP ผ่าน PJAudio Overdrive + Majikbox: Rocket Fuel ไปออกแอมป์ Komet: Concorde และลำโพง Marshall 2061cx เสียงจาก Single Coil ค่อนไปทางแรงนิดๆ สามารถเล่นบลูส์ แจ๊ส หรือจะฟาดร๊อคก็ไม่มีปัญหา ฮัมบัคเกอร์เสียงหนักหน่วงมาก ค่อนข้างเคลียร์ไม่ค่อยจม ด้วยความที่เฟรทบอร์ดเป็น Maple ก็ทำให้เสียงฟังคมชัด และมีความกัดจิกและจิ๊กโก๋กว่า RW อยู่บ้าง ตรงนี้ก็แล้วแต่รสนิยมแล้วครับ ว่าชอบแนวไหนมากกว่ากัน ด้วยราคาและคุณภาพการผลิตแบบนี้ เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ ตัวนึงเลยครับ สำหรับคนที่กำลังมองหากีตาร์คุณภาพดีๆ ไว้หัด หรือจะใช้เล่นจริงๆ จังๆ R2 Millennium Gold น่าจะตอบสนองคุณได้อย่างดี



วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Swing R2 Millennium Gold

R2 - Millenium Gold (Rosewood)


คราวก่อนได้เขียนเล่าให้ฟังไปแล้วถึงกีตาร์ Made In Korea แดน K Pop ที่เพิ่งได้ทดลองเป็นครั้งแรก แต่รู้สึกได้ว่างานการผลิตค่อนไปทางดีมาก วันนี้มาเขียนเล่าอีกตัวครับ เพิ่งมีโอกาสได้จับต้องได้ลอง Swing Guitar Techonology รุ่น R2 - Millenium Gold (RW) ซึ่ง RW นี่คือเฟรทบอร์ดเป็น Rosewood และตัวกีตาร์เป็นสีทองสวยงามสมชื่อรุ่น

ผมหยิบกีตาร์ออกจาก Soft Case ที่ทาง Swing ให้มาก็เห็นว่างานการผลิตดีใช้ได้เลย สีทำมาเนียน ตัวกีตาร์และคอได้มาตรฐานสวยงามน่าใช้ เช็คสเปกค์ดูก็เห็นว่าใช้ของดีทีเดียวเช่นส่วนคอก็ใช้ Canadian Hard Maple ท๊อปด้วย Indian Rosewood ส่วนตัวกีตาร์ก็เป็นไม้ Alder และมีระบบอิเลคทรอนิกส์เป็น H-S-S ที่น่าจะเล่นได้กว้าง และหลากแนวใช้ปิ๊กอัพของทาง SGT เอง ในส่วน Single Coil สองตัวก็เป็นรุ่น Swing Blues Breaker และ Humbucker เป็น Swing Heart Breaker ทางด้านพวกกลุ่มฮาร์ดแวร์ก็ใช้ของ Swing ผลิตเองก็น่าจะเป็น Made In Korea เช่นกันตามมาตรฐาน ส่วนฟินนิชชิ่งนี่ก็เป็น Gloss และทำสีแบบ Sparkle Gold รวมไปถึง Matching Headstock สวยงามอลังการ ดูคลาสสิคครับ

ผมทดสอบ Swing: R2 - Millenium Gold ตัวนี้กับแอมป์ Komet K60 เสียงฟังดูดี ฟังดูกลมๆ ดุๆ หน่อย อาจจะด้วย pickups ที่ติดมา แรงเอาเรื่องครับ เนื้อเสียงโอเคทีเดียว สายบนๆ ฟังนวลๆ กลมๆ ตามแคแรกเตอร์ของ Rosewood สายล่างๆ ติดบางๆ อาจจะด้วยเป็นเพราะใส่สายเบอร์ 09 มาตั้งแต่โรงงาน (ส่วนตัวผมเล่น 0.10 รู้สึกว่า "Ball" มันน้อยไปนิด) อาจจะมีจี่นิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นแคแรกเตอร์ของ Single Coils ส่วน Hum ก็น้อยลงไปเยอะครับ ผมลองเล่นกับ Distortion (ใช้ PJAudio Precieux + Rocket Fuel จาก Majikbox) เสียงดุดันมากๆ ย่านเบสฟังแน่นเสียงย่านแหลมฟังเด่นดีครับ สายร๊อคน่าจะแฮปปี้เลยทีเดียวครับ 

Swing Guitar Technology รุ่น R2 - Millennium Gold ก็เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่มีมาตรฐานดี และราคาจับต้องได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีตาร์ที่เล่นอาชีพ หรือเล่นสนุกๆ อยู่กับบ้าน แม้กระทั่งเพิ่งหัดเล่น กีตาร์รุ่นนี้น่าจะตอบสนองคุณๆ ได้ทั้งเสียง และความสวยงามครับ


             





วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Bogner : Burnley

เมื่อปลายปีที่แล้ว Bogner Amplifications ทำให้ตลาดเครื่องดนตรี โดยเฉพาะตลาด Stompboxes ตื่นเต้น และตื่นตัวอย่างมาก เพราะได้มีการนำเอาเอฟเฟคต์ก้อนรุ่นใหม่ๆ ไปวางโชว์ให้คนที่ชมงานได้ทดสอบกัน ถ้าเป็นแค่ Overdrive หรือ Distortion ที่พัฒนากันแบบปกติ คงจะไม่เป็นที่ฮือฮาขนาดนี้ แต่เพราะ Reinhold Bogner คิดไปไกลกว่านั้นครับ เขาทำการพัฒนาเอฟเฟคต์ก้อนของเขาในแบบที่ไม่เคยมีใครแม้แต่จะคิด คือการร่วมมือกับ Rupert Neve ซึ่งเป็นคนที่เรียกว่าเป็นระดับตำนานของสายอุปกรณ์บันทึกเสียง นำเอา RND Transformer ที่ผลิตโดย Ruper Neve Design มาเป็นส่วนหนึ่งของวงจรของเอฟเฟคต์ก้อนรุ่นใหม่ของทาง Bogner 




Rupert Neve เป็นใคร? ผมคิดว่าคงมีคนสงสัยเยอะเลย ก็ตอบกันสั้นๆ ว่า Rupert Neve เป็นวิศวะกรที่ออกแบบอุปกรณ์บันทึกเสียงเช่นพรีแอมป์สำหรับไมโครโฟน, อีควอไลเซอร์ ที่ใช้ในห้องอัดเสียง หรือไม่ว่าจะเป็นคอนโซลบันทึกเสียงในอดีต สิ่งเหล่านี้ทำให้ Rupert Neve มีชื่อเสียงอย่างมากมายมหาศาลและได้ร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น Focusrite, AMS Neve, Amek จนได้รับเกียรติได้รับรางวัล Lifetime Achievement Techical Grammy Award เท่านี้ก็น่าจะการันตีความสามารถในการออกแบบ Audio Transformer ของ Rupert Neve Design ได้แล้วใช่ไหมครับ


วันนี้ผมจะมาแกะกล่องของเอฟเฟคต์ Bogner ที่ติดตั้ง RND Transformer ไว้ในวงจร รุ่นนี้เรียกว่า Burnley เป็นเสียงแบบ Distortion ครับ ทุกๆ รุ่นของ Bogner ซีรี่ส์นี้ จะมีทั้งแบบหน้าเป็นโลหะเพนท์สี และหน้าเป็นไม้ Bubinga ซึ่ง Reinhold ให้เหตุผลว่าเขาต้องการให้มีความรู้สึกเหมือนที่คุณจับคอนโซลบันทึกเสียงรุ่นเก่าๆ ที่ทำด้วยไม้ ผมก็ว่ามันคลาสสิคดีครับ Burnley รุ่นที่เป็นหน้าโลหะนั้นเพนท์ด้วยสีออกม่วงๆ ชมพูๆ และมีปุ่มควบคุม 3 ปุ่มคือ Level คุมความดังขณะที่เอฟเฟคต์เปิดใช้งาน Tone ควบคุมเสียงทุ้มแหลม และ Gain ควมคุมจำนวนเสียงแตกหรือความ distort ของเอฟเฟคต์ และมีสวิทช์เล็กๆ ที่มีตัว F และ T ตรงนี้เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังช่วงทดสอบครับ และ LED Light ใหญ่ชัดเจนและจะเปลี่ยนสีทุกครั้งที่มีการดีดแรงๆ จนเกิดการ Clip มุมซ้ายล่างของก้อน จะมีลายเซนต์ของ Rupert Neve ทุกก้อน


ผมทดสอบ Bogner : Burnley กับ James Tyler : Studio Elite ผ่าน Bogner Burnley ไปออก Komet K60/Marshall 2061xc Cabinet เสียงของ Burnley นั้นน่าจะเป็นแนวๆ Mid Gain Distortion ที่มีความเป็น British Style สูง เสียงกลางหนาใหญ่ เสียงย่าน Treble นั้นติดคมๆ น่าจะถูกหูชาวร๊อคมากทีเดียว ย่านเบสนั้น ถ้าปรับท๊อกเกิ้ลเล็กๆ มาทางตัว F ก็จะได้ Full Range Frequency ซื่งจะหนาใหญ่ เบสแน่นลึก ถ้าปรับไปทางตัว T ย่านเบสจะถูก Cut ทิ้งพอสมควร แต่จะฟังกระชับขึ้น ทั้งสองแบบนี้แล้วแต่ว่าชอบแบบไหน ก็ปรับกันไปทางนั้นเลยครับ ส่วนตัวผมชอบ Full Range มากกว่า เพราะมันฟังแน่นใหญ่มากๆ เล่นกับวง ไม่จมแน่นอน : Burnley Distortion จาก Bogner Amplification เป็นก้อน Mid Gain Distortion อีกก้อนที่มีมิติ มีการปรับที่ค่อนไปทางกว้าง และตอบสนอง Dynamic ดีที่สุดก้อนหนึ่ง ที่คุณต้องลองครับ



                                       
Thanks Andre Nieri for Clip


VFE: Pale Horse Od


สารภาพว่าไม่เคยได้ยินเอฟเฟคต์แบรนด์นี้มาก่อนเลย จนตัวแทนจำหน่ายเอามาให้ทดสอบกันทีหลายๆ ก้อน ผมไปหาข้อมูลมาก็พบว่าแบรนด์นี้เคยมีคนนำเข้ามาแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำเสนออย่างกว้างขวาง ผมทดสอบดูหลายๆ ตัวแล้วก็รู้สึกว่าแบรนด์ที่ว่านี้ทำเอฟเฟคต์ก้อนราคากลางๆ ออกมาได้ไม่เลวเลย แถมมีให้เลือกใช้มากมายหลายเสียง แบรนด์นี้เรียกตัวเองว่า VFE Custom Pedals เป็นกลุ่มที่ยัง Made In USA อยู่ครับ วันนี้ผมจะพูดถึงรุ่นที่เรียกว่า Pale Horse Overdrive 

VFE: Pale Horse Overdrive นี่มากับ Housing ที่สกรีนสวยงาม มีปุ่มควบคุมเยอะแยะไปหมด หลักๆ ก็เหมือน Overdrive ที่คุ้นๆ กันคือ Level - คุมความดัง Drive - คุมจำนวน Gain/Distortion ที่ปล่อยออกไป และ Tone - คุมทุ้มแหลมปรกติ แต่มีปุ่มอื่นๆ เล็กๆ อีกคือ Low - จะคุม Pre-Gain Bass คือคุมย่านเสียงเบสของ Overdrive ก่อนที่สัญญาณจะไปเข้า Gain Stage และ High คุม Post Gain Treble ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ Presence ใน Marshall นั่นแหละครับ เสียงจะฟังคมและพุ่งขึ้นกว่าเดิม และด้านบนจะมีปุ่มเล็กๆ คือ A-M คือการปรับไปใช้ Diode ที่เป็น Asymmetrical และ Mosfet จะเป็นการเลือกเสียงให้มี Harmonics และ Compressions ที่แตกต่างกัน อาจจะต้องปรับปุ่มอื่นๆ ชดเชยกันบ้าง ลองทดลองหลายๆ แบบก็มีเสียงให้เลือกเล่นเยอะดีครับ ตามคู่มือบอกไว้ว่ายังมี Trim Pot ให้ปรับ Tone ได้อีกเผื่อถ้าใครต้องการให้เสียงมันทุ้มลงไปได้อีกก็สามารถทำได้


ผมทดสอบ Pale Horse Overdrive กับกีตาร์ Swing Studio Ash ไปผ่าน VFE Pale Horse และใช้แอมป์ Bogner Mephisto 18 และใช้ลำโพง Marshall 2061cx พบว่าเสียง Overdrive ที่ได้จาก Pale Horse ค่อนข้างจะใกล้ๆ กับกลุ่ม Tube Screamer แต่ย่านเสียงเบสไม่หาย เสียงแต่ละย่านฟังชัดเจน โดยเฉพาะเบสฟัง Chunky มากๆ ถ้าปรับให้ฟังคมขึ้นนิดหน่อย อาจจะไปใกล้พวก Marshall Sound ได้ไม่ยากนัก และแต่ละปุ่มก็ Sensitive  พอสมควรปรับนิดๆ หน่อยๆ ก็ได้เสียงที่แตกต่าง ปรับได้กว้างมากๆ ครับ น่าจะครอบคลุมหลากแนวไม่ว่าจะเป็น Pop, Rock, Jazz, Blues หรือจะไปเล่นพวก Hard Rock หน่อยก็พอไหว แต่ถ้ามองหาก้อนที่เล่นพวก Metal นี่ผ่านไปก่อนได้ แต่ถ้าคุณมองหา Overdrive ที่เล่นครอบคลุม Range ของเสียงแตกกว้าง มี Tone Shaper ให้เล่นเยอะ VFE: Pale Horse Overdrive เป็นอีกตัวที่น่าสนใจครับ