วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

Little Green Wonder


     ฉบับนี้ผมมีเอฟเฟคต์มาแนะนำกันสำหรับคนที่ชอบเสียงแตก ก้อนที่กำลังพูดถึงนั้นเป็น Overdrive ที่ใช้งานได้กว้างขวางหลากหลายมาก และเป็นที่นิยมมากๆ ผมกำลังพูดถึง Little Green Wonder Overdrive จากค่าย Mad Professor ผลิตในประเทศฟินแลนด์ ถ้าหากใครเคยได้สัมผัสกับเอฟเฟคต์จากค่ายนี้ คงจะพอทราบว่า เค้าถูกออกแบบโดย Mr.Bjorn Julh ผู้ออกแบบ FX มือดีซึ่งทำงานกับ Mad Professor มายาวนาน และแทบจะไม่มีก้อนไหนที่ผิดหวังเลย ตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับ:

Mad Professor: Little Green Wonder Overdrive (แม๊ด โพรเฟสเซอร์ รุ่น ลิตเติ้ลกรีนวอนเดอร์ โอเวอร์ไดร์ฟ)

     ในตลาดบูติกเอฟเฟคแล้ว เสียงที่ถูกผลิตออกมามากที่สุดก้อนหนึ่ง เห็นจะไม่พ้น Overdrive เพราะค่ายที่ผลิตเอฟเฟค ออกมานั้น จะต้องมี Overdrive อยู่ด้วยอย่างน้อยหนึ่งรุ่น บริษัท Mad Professor ก็เป็นอีกบริษัทที่ผลิต Overdrive ออกมาหลายรุ่น แต่รุ่นที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดก็คงจะไม่พ้นรุ่น Little Green Wonder ที่เรากำลังพูดถึง แต่เดิม LGW ถูกผลิตแบบ Hand wired (ประกอบทุกชิ้นส่วนด้วยมือ) จะมีราคาค่อนข้างจะสูง ดังนั้นทาง Mad Professor จึงวิธีการผลิต LGW โดยใช้ PCB Board และ ผลิตอุปกรณ์บางชิ้นเองภายในโรงงาน จึงทำให้ราคาเจ้า LGW ก้อนนี้ลดลง ราคาที่เป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์อย่างยิ่ง!! (ปัจจุบันราคาน่าจะเพียงแค่ 6,000 บาท)

   LGW นั้นเป็นผลผลิตการดีไซน์ของ Bjorn Juhl (ผู้ที่ผลิตเอฟเฟคแฮนด์เมดของตัวเองภายใต้ชื่อ BJF ที่โด่งดังและหายากมากๆ) ปัจจุบัน Bjorn Juhl  ทำงานให้กับบริษัท Mad Professor แล้ว และที่ผ่านมา Bjorn Juhl  ได้ออกแบบวงจรให้ LGW เป็น Overdrive ที่มีกลิ่นออกคล้ายๆ Overdrive ตระกูล Tube Screamer แต่มีความแตกต่างและปรับได้หลากหลาย ผมทดสอบ LGW ตัวนี้ด้วยกีตาร์ Fender Japan Telecaster และแอมป์ Victoria 20212 ผมพบว่าแรกๆ ผมอดนึกถึงเอฟเฟค TS808 หรือ TS9 ไม่ได้จริงๆ แต่เมื่อหมุนปุ่มต่างๆ เพื่อเลือกดูว่าเสียงที่ออกมาเป็นแบบไหนบ้าง ผมรุ้สึกว่าจริงๆแล้ว LGW ไม่ได้เป็น TS Style เอฟเฟคเลย แต่สามารถใช้เป็นได้ทั้ง Clean Boost/Overdrive/Mid Gain Distortion ได้อีกด้วย หากใช้งานปุ่ม Body และ Gain อย่างถูกจุด สิ่งที่ผมชอบมากๆ ใน LGW ตัวนี้คือการที่เราแทบไม่รู้สึกถึงการถูกกด (Compressed) ของเสียงเลย ดังนั้นเสียง Overdrive ที่ได้จะฟังโปร่งสบายหู ไม่อัดอั้น ให้น้ำเสียงชวนฟังมากกว่าหลายๆ ก้อน (ที่ผมเคยทดสอบ) หากคุณหมุนปุ่ม Level ขึ้นเยอะๆ โดยลด Gain ลงมาที่เก้านาฬิกา LGW จะผันตัวเองไปเป็น Clean Boost ดีๆ ก้อนนึงเลย และถ้าคุณหมุนปุ่ม Level อยู่ราวๆ สิบเอ็ดนาฬิกา Body อยู่ที่เก้านาฬิกา และ Gain ที่สามนาฬิกา เจ้าก้อนเขียวๆ ตัวเล็กๆ นี้จะกลายเป็น Mid Gain Distortion ที่คุณใช้เล่น Rock ได้เลย และเจ้าปุ่ม Body นี่แหละครับที่น่าสนใจ ทำให้คุณได้เสียงที่ใช้งานได้กว้างมากๆ จากเจ้าก้อนเขียวๆ ก้อนนี้


ข้อดี: เป็น Clean Boost/Overdrive/Mid Gain Distortion ที่เสียงหนา ใหญ่ ฟังโปร่งสบายหู และ ไม่คอมเพรส ปรับใช้งานได้กว้างคุ้มค่า

ข้อด้อย: สำหรับคนที่ต้องการ Tone ไว้ใช้ อาจจะขัดใจนิดหน่อย

(เขียนลง The Guitar MAG เมื่อ August 2010)


วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

Boost .. Why Boost?

     เป็นอีกคำถามที่เป็นคำถามพิมพ์นิยมของชาวเล่นก้อน ว่าก้อน Boost หรือ Booster มันใช้ยังไง ใช้ไปเพื่ออะไร แล้วใช้ก้อนแบบไหนเพื่อเป็น Booster ดี เรื่องเกี่ยวกับ Booster นี้ ก็เหมือนกับ FX ชนิดอ่ืนๆ ครับ ที่มีแนวคิดหลากหลายอยู่ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกำลังทรัพย์ และรสนิยมของผู้เล่นเอง ว่าชอบแบบไหน สูตรไหน อย่างไร เพราะแต่ละสูตรก็ให้ผลแตกต่างกัน

    มาว่ากันถึงการ Boost ก่อน ว่ามันคืออะไร ว่ากันง่ายๆ การ Boost ก็คือการเติมความแข็งแรงให้กับสัญญาณกีตาร์ ก่อนที่สัญญาณนั้นจะวิ่งเข้าสู่แอมป์พลิฟายด์ ซึ่งการเพิ่มความสัญญาณความแข็งแรงนี้ ก็จะทำให้เกิดการ Boost ได้แน่ๆ สองประเภทคือ 1. เพิ่มระดับสัญญาณเพื่อความดังเพิ่มขึ้น โดยไม่มีผลต่อความแตก (distort)  และ 2. เพื่อให้สัญญาณเกิด Peak และ Distort เพิ่มให้เสียงแตกมากขึ้น การ Boost ทั้งสองแบบนี้ ถ้านำไปใช้กับ Pedals อื่นๆ ร่วมด้วย อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งการวางเพื่อให้เกิดผลสูงสุด

     ที่เคยเห็นคุยๆ กัน ส่วนใหญ่ในบ้านเรา ไม่่ค่อยใช้ Booster ตรงๆ เข้าแอมป์พลิฟายด์นัก ฉะนั้นแล้วผมจะคุยถึงกรณีที่ใช้ Booster พ่วงกับเอฟเฟคต์ก้อนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็จะให้ผลคล้ายๆ กันครับ และจุดประสงค์ก็เหมือนกันคือการเพิ่มความแรงให้กับสัญญาณกีตาร์ ก่อนที่จะเข้าสู้ Overdrive/Distortion หรือเพิ่มแรงขับหลังจากผ่าน Od/Dist ก่อนที่วิ่งเข้าชนแอมป์พลิฟายด์



    กรณีแรก การใช้ Booster เพื่อเพิ่ม Gain หรือเพิ่มย่านความถี่บางย่านไปพร้อมๆ กัน การ Boost ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเพิ่มการแตก สำหรับผู้เล่นที่อยากได้เสียงแตกเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อยในช่วงเล่น Lead และต้องการให้เสียงกีตาร์มันโดดออกจากวง มักจะใช้ Pedal ที่ช่วยเพิ่มเสียงกลาง ที่นิยมๆ กัน ก็คือพวก Light Overdrive เช่น Ibanez TS808 / TS9 / Providence: Sonic Drive etc. แต่ต้องคำนึงนิดหน่อย ในกรณีการใช้ Od บางรุ่น บางตัวในการ Boost คุณอาจจะได้เสียงแตกมากขึ้นอีกหน่อย ได้เสียงกลางมาอีก แต่ย่าน Low Frequency จะหายไป ถ้ารับได้ ถือว่าไม่มีปัญหาครับ การ Boost แบบนี้ ส่วนใหญ่จะวาง Booster ไว้หน้า Overdrive/Distortion ตัวหลัก

    ถ้าต้องการเพิ่มความดังของเสียง แต่ไม่ต้องการให้โทนเสียงเปลี่ยน การ Boost ในลักษณะนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้ Clean Boost เพราะแทบจะไม่เปลี่ยนเสียงกีตาร์เดิม เพียงแค่ยกระดับสัญญาณให้ดังขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะใช้ในกรณีเดียวกันคือต้องการให้เสียงโซโลพ้นจากเครื่องชิ้นอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ก็จะเป็นกลุ่ม Keeley : Katana Clean Boost / Providence: Final Booster / MXR Micro Amp อะไรแถวๆ นี้ การ Boost แบบนี้จะนิยมวางไว้หลัง Od/Dist เสียงจะดังขึ้นชัดเจน

    หรือถ้านอกเหนือจากการ Boost สองแบบนี้ ก็อาจจะแยกออกมาเป็นว่า อยากได้ทั้งสัญญาณเสียงที่ดังขึ้นด้วย และอยากได้เกนท์ที่มากขึ้นด้วย การ Boost แบบนี้ส่วนใหญ่จะวางก้อน Boost ไว้หลัง Od/Dist เช่นเดียวกัน แต่ตัว Booster ที่ใช้นั้นอาจจะต้องเลือกมากหน่อยครับ เพราะการวางไว้ด้านหลังนั้น ทำให้แคแรกเตอร์ของ Booster กินเข้าไปในเสียง Od/Dist หลักได้ง่ายสุดๆ ถ้าคุณรับการเปลี่ยนของเสียงได้ นั่นคงไม่มีปัญหา ถ้าคุณรู้สึกไม่ชอบใจ อาจจะต้องเลือกมากหน่อยว่าจะต้องใช้อะไร ที่ผมคุ้นๆ ว่าใช้ดีในกรณีนี้ ก็จะเป็น Analogman DOD250 / YJM / Keeley Katana Boost (ดึงสวิทช์เพิ่มเกนท์) etc.

    นักกีตาร์หลายๆ ท่าน ชอบที่จะใช้ Graphic EQ เป็น Booster นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดครับ สามารถใช้ได้ ถ้าคุณสามารถปรับให้ถูกใจได้ เพราะ EQ นั้น คุณสามารถปรับย่านเสียงย่อยๆ ได้เลย แต่ข้อสำคัญ คุณจะต้องรู้ก่อนว่าย่านเสียงแต่ละย่านของ EQ มันเป็นจุดไหนของเสียง เพราะถ้าคุณไม่ชำนาญในการปรับ โทนเสียงกีตาร์ของคุณเองก็จะเสียไปโดยไม่จำเป็น ข้อด้อยอีกจุดที่ผมเจอในการใช้ EQ เป็น Booster คือเรื่องของ Noise และ Compression เพราะถ้าคุณภาพของ EQ ไม่ดีพอ จะทำให้ Signal ของคุณเกิดเสียงรบกวนได้ง่ายๆ และที่สำคัญ EQ box ส่วนใหญ่ จะทำให้เกิดการบีบอัดของเสียงมากกว่าปรกติ แต่อย่าลืมครับว่า สิ่งที่ผมมาคุยให้ฟังนั้น เป็นแนวคิดที่เรียกว่าแนวคิดทั่วๆ ไปที่เค้านิยมใช้กัน คุณสามารถนำเอาไปทดลอง เอาไปปรับแต่งให้เหมาะกับหูของคุณเองได้นะครับ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
     

วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

Effect Chain

คำถามที่ผมพบบ่อยมากๆ ในการไปเยือนฟอรั่มเกี่ยวกับเครื่องดนตรีไม่ว่าจะไปเป็นเวปในบ้านเรา หรือแม้กระทั่งเวปเมืองนอก ก็มักจะเจอคำถามที่ว่า "เรียงเอฟเฟคต์กันอย่างไร?" หรือ "ควรจะเอาเอฟเฟคต์ตัวไหนไว้ก่อนตัวไหน?" ปัญหาเหล่านี้มันเป็นปัญหาโลกแตกของคนที่เริ่มๆ เล่นก้อน (หรือบางกรณีเพิ่งย้ายค่ายจากมัลติเอฟเฟคต์ มาเล่นเอฟเฟคต์ก้อน)

ต้องขอบอกก่อนว่าตามประสบการณ์ของผมที่เล่นก้อนมา ผมไม่คิดว่า เราจะมีสูตรตายตัวในการจัดเรียง FX แบบ 100% บางครั้งความสนุกของการจัดบอร์ด หรือเรียง FX มันก็อยู่ที่การทดลอง ว่าถ้าเอาตัวนั้นไว้หน้าตัวนี้ หรือตัวนี้ไว้ก่อนตัวนั้น มันจะมีผลออกมาอย่างไร ถ้าเราชอบผลที่ออกมา แสดงว่าการจัดเรียงก็นับว่าถูกต้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจัดเรียง FX Chain นี้ ก็มีพิมพ์นิยมอยู่ครับ นอกเหนือจากที่ว่าไว้ ก็เชิญชวนให้ไปลองสลับสับเปลี่ยนทดลองกันเองเพื่อความสนุกสนานละกันนะครับ

     กลุ่ม Filter/EQ/Tone: กลุ่มนี้เป็น FX กลุ่มที่มีผลกับย่านเสียงและความสมดุลย์ของเสียงต่างๆ เช่นพวก Wah Wah/Auto Wah/Envelope Filter เป็นต้น

     กลุ่ม Dynamic Controller: กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ควบคุมเรื่องของความดังสุดและเบาสุด ที่ชาวกีตาร์เราใช้กันบ่อยๆ จะคุ้นเคยกับ Compressor หรือ Limiter (อันนี้ใช้ในการบันทึกเสียงเยอะกว่า)

     กลุ่ม Distortion: อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ชาวกีตาร์คุ้นเคยกันมากที่สุด เพราะมักจะคุยกันอยู่แต่เรื่องแตกมาก แตกน้อย แตกหน้าตู้ และสารพัดจะแตกกัน กลุ่ม Distortion นี้ เป็น FX ที่รวมๆ แล้วก็คือก้อนเสียงแตกที่ไม่ว่าจะเป็น Distortion/Overdrive/Fuzz และรวมไปถึง Overdriven ในแอมป์พลิฟายด์ด้วยนะครับ

     กลุ่ม Modulation: เป็นกลุ่ม FX ที่สร้างเสียงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ อาจจะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับการเล่นกีตาร์ FX ในกลุ่มนี้ก็ได้แก่พวก Phaser/Chorus/Vibrato

     กลุ่ม Intelligence Processor: กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีผลกับระดับเสียง และอาจจะสร้างเสียงคู่ขนานไปกับเสียงหลัก เช่นพวก Pitch Shifter/Harmonizer/Octavers

     กลุ่ม Volume: ชัดเจนอยู่แล้วว่าเล่นกับระดับเสียงดังเบาของกีตาร์ ก็เช่นพวก Foot Volume

     กลุ่ม Time Based Effect: กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะจำเป็นและน่าจะเป็นกลุ่มที่ถูกใช้งานบ่อยรองจาก Distortion เพราะเป็นกลุ่มที่ช่วยเรื่องการจำลองเสียงสะท้อน เช่น Delay หรือ Reverb

     กลุ่ม Noise Gate: เป็นกลุ่มสุดท้ายที่นิยมเอาไว้ท้ายสุดของ Chain (แต่บางคนก็ชอบเอาไว้หน้าสุด อย่างที่บอกไว้แต่แรกแหละครับ ว่ามันไม่มีกฏตายตัว) กลุ่่มนี้เป็นกลุ่ม FX ที่ช่วยตัดเสียงรบกวน เสียง Hum เสียงจี่ที่อาจจะเกิดจากปิ๊กอัพแบบซิงเกิ้ลคอยล์ หรือ จำนวน Distortion ที่มากเกินไป FX Noise Gate นี้จะมีผลตอน "หยุด" เล่นเท่านั้นนะครับ เช่นพวก Decimator/Noisegate



    เมื่อว่ากันตามกลุ่ม FX ที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วนั้น โดยปรกติแล้ว Effect Chain ก็จะมีการจัดเรียงดังนี้:

Filter --> Dynamics --> Distortion --> Modulation --> Pitch FX --> Volume --> Time Based --> Gate

    ย้ำกันอีกสักทีครับ ว่าการจัดเรียงที่ผมเอามาเล่าให้ฟังนี้ เป็นเพียงแค่ "พิมพ์นิยม" ที่เค้านิยมกัน ส่วนจะถูกรสนิยม หรือถูกใจ ถูกหูคุณๆ หรือไม่นั้น ผมแนะนำให้ลองทดลองสลับไปสลับมากันเอาเองจนกว่าจะผสมเจอเสียงในแบบที่คุณชอบกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนที่กำลังอยากจะลองจัดบอร์ดนะครับ



 

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

EMP Treatment Strings

Cleartone Electric Set
     จั่วหัวเรื่องแบบนี้ คุณๆ คงจะมีคำถามในใจว่า หมอนี่มันพยายามจะพูดถึงอะไรกันหล่ะ ผมกำลังจะคุยต่อเนื่องจากบทความที่เกี่ยวกับสายกีตาร์ชนิดเคลือบ (Coated Strings) เพราะสายกีตาร์ชนิดนี้ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักเล่นกีตาร์/เบส และอย่างที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่า โดยปรกติ สายกีตาร์ชนิดเคลือบนั้นจะใช้ Teflon เคลือบสายในความหนาที่พอเหมาะ เพื่อช่วยให้สายมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้สายชนิดเคลือบ ก็ก่อให้เกิดสิ่งที่อาจจะไม่พึงประสงค์ไปบ้าง เช่น ความลื่นของสายที่เกิดจากการเคลือบ โทนเสียงที่เปลี่ยนไปจากปรกติ (เมื่อเทียบกับสายชนิดไม่เคลือบ) ในบางแบรนด์อาจจะเกิดเสียงใส และแหลมขึ้น และในบางกรณีก็อาจจะเกิดขุยเมื่อถูกดีดบ่อยๆ หรือในจุดที่มือสัมผัสบ่อยๆ ซึ่งข้อด้อยเหล่านั้น ก็เป็นปัญหาและจุดด้อยที่นักกีตาร์หลายๆ ท่าน ที่ถึงแม้จะยินดีกับอายุการใช้งานของสายที่มากขึ้นก็ตาม

     

        ก่อนที่ผมจะไปว่ากันถึงเรื่องของ Enhanced Molecular Protection ว่ามันคืออะไรนั้น ก็ขอย้อนกลับไปพูดถึงสาเหตุที่ทำให้สายเกิดสนิมกันเสียก่อน การที่สายกีตาร์จะขึ้นสนิมนั้น มักเกิดจากการที่มือของเราเมื่อสัมผัสกับสายมากๆ บ่อยๆ จนเกิดเหงื่อ และเหงื่อของเรานั้นก็จะมีความเค็มอยู่ ดังนั้นเมื่อสัมผัสกับสายกีตาร์บ่อยๆ เข้า ก็สามารถทำให้เกิดสนิมเป็นธรรมดาตามหลักวิทยาศาสตร์ จึงทำให้อายุการใช้งานของสายกีตาร์สั้นลง ในบางกรณีเพียงแค่ 2 วัน สายก็แย่แล้ว ดังนั้น เราจึงต้องขอบคุณหลายๆ บริษัทที่ทำการออกแบบสายกีตาร์ชนิดเคลือบออกมาให้เราได้ใช้กัน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีจุดด้อยในหลายๆ จุดดังที่ผมได้เรียนให้ทราบไปแล้วในย่อหน้าแรก

Acoustic Set which is a flagship of Clearton String

   เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปเจอสายกีตาร์แบรนด์หนึ่งที่ 2012 Namm Show ซึ่งเค้าได้โฆษณาไว้ว่า บริษัทของเขาทำสายกีตาร์ที่เรียกได้ว่าชนิดเคลือบเหมือนกัน แต่กรรมวิธีในการเคลือบนั้น แตกต่างจากการเคลือบสายปรกติที่เจ้าอื่นๆ เค้าทำกัน ผมมีความสนใจเป็นอย่างมาก จึงใช้เวลาระยะใหญ่ๆ พูดคุยกับ Joe Iacobellis ประ ธานบริษัท Cleartone Strings ซึ่ง Joe ก็เล่าถึงกรรมวิธีของสายเคลือบในแบบ Enhanced Molecular Protection (EMP) ไว้ว่า ปรกติสายเคลือบต่างๆ ก็มีข้อดีของมันแน่ๆ อยู่อย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องของอายุการใช้งานที่แน่นอนว่ายาวนานกว่า สายปรกติที่ไม่เคลือบ แต่ก็มีข้อด้อยอยู่ ถ้าการเคลือบสายเคลือบหนาเกินไปเสียงก็จะเปลี่ยน และเป็นขุยเมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ดังนั้น Cleartone Strings ก็ค้นคว้าและใช้วิธีใหม่ในการดูแลสาย (Joe เน้นว่าเขาอยากเรียกว่า Treated มากกว่า Coated) เพราะวิธีของ Cleartone นั้นนับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในการผลิตสายที่ไม่ใช้การเคลือบแบบปรกติ แต่เป็นการเอาโมเลกุลของสารเคลือบละลายติดเข้าไปในเนื้อเหล็กของสายกีตาร์เลย วิธีนี้เป็นวิธีที่มีข้อดีข้อแรกคือ ทำให้สารเคลือบที่เกาะบนสายกีตาร์นั้นมีความหนาเพียงแค่ 1 micron (นั่นหมายถึงบางกว่าสายเคลือบทั่วๆ ไปเป็นหลายสิบ หลายร้อยเท่า) ดังนั้นความรู้สึกว่าผิวสัมผัสลื่นกว่าปรกตินั้นเป็นอันว่าหมดไป ข้อสอง การดูแลสายแบบ EMP นี้ เมื่อโมเลกุลของสารเคลือบละลายติดกับสายเลยนั้น ทำให้ปัญหาการ Flaked หรือเป็นขุยนั้นหมดไปโดยสิ้นเชิง หมดความรำคาญสำหรับคนที่เล่นกีตาร์แล้วรำคาญจุดที่เป็นขุยเมื่อสัมผัส และข้อสาม เมื่อเคลือบบางมากๆ โทนเสียงกีตาร์ก็จะไม่เปลี่ยน และคงความเป็นธรรมชาติ 100% เหมือนกับสายที่ไม่เคลือบ Joe ยังย้ำว่าสายของเขาเป็นสายที่เรียกว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่สำหรับสายกีตาร์ชนิดเคลือบที่มั่นใจว่าแตกต่างอย่างแน่นอน ถึงกระนั้น Joe ก็ยังบอกว่า สายกีตารชนิดเคลือบก็ยังคงเป็นสายกีตาร์ที่ผลิตจากเหล็กและอัลลอย์ดผสมดังนั้นอย่าคาดหวังว่ามันจะไม่เกิดสนิมเลย แต่จะเกิดช้ากว่าปรกติ ขึ้นกับเหตุผลทางชีวภาพของผู้เล่นแต่ละคน

การเปรียบเทียบจำนวนเซ็ตระหว่างสายปรกติ กับ สาย Cleartone Strings

     ก่อนจาก Joe ยังฝากคำคมไว้ให้ฟังอีกหนึ่งประโยคว่า "ยอมรับกันเถอะว่า การเปลี่ยนสายบ่อยๆ มันน่า
เบื่อจะตายไป แต่การทู่ซี้ทนเล่นกีตาร์ที่สายกีตาร์มันตายไปแล้ว ยิ่งหดหู่กว่ามาก ดังนั้นยอมจ่ายแพงขึ้นอีก
นิด ใช้สายเคลือบที่ผลิตมาดีๆ มันช่วยให้เล่นกีตาร์มีความสุขขึ้น ในระยะเวลายาวนานขึ้น และที่สำคัญไม่ต้องเปลี่ยนสายกันบ่อยๆ"


    Cleartone Strings ยังคงเพิ่มความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยการรับเอาสายกีตาร์แบรนด์อคุสติกที่เรียกว่าเป็นระดับเจ้าพ่อของวงการ คือ Martin Guitars มาทำการเคลือบด้วยเทคโนโลยี่ EMP ดังที่เราจะเห็นในตลาดว่าเป็น Martin Strings: Lifespan และยังได้รับความไว้วางใจจากกีตาร์โปร่ง Larivee' ใส่ติดมาจากโรงงานอีกด้วย 


*** มีข้อมูลเพิ่มเติมจากเพื่อนของผมที่ทำปริญญาเอกด้าน Nano Technology ของมหาวิทยาลัยจุฬาอธิบายให้ผมฟังสั้นๆ ไว้้ว่า "Lab ทางผมก็มีอาจารย์ที่จบจาก MIT ทำอยู่ครับ เป็นการเคลือบที่พยายามทำให้ cluster ของอนุภาคสารที่ใช้เคลือบรักษาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางให้อยู่ในระดับนาโนครับ (ส่วนความหนาในการเคลือบจะให้หนาเป็นไมครอนตามที่บทความนี้บอกก็ได้ครับ) การที่สารมีขนาด cluster ในระดับนาโนนี้จะทำให้พื้นที่ผิวของสารที่ใช้เคลือบมีมากขึ้น ดังนั้นการปกป้องก็จะดีขึ้นด้วยครับ แต่ปกติเทคโนโลยี่อันนี้จะใช้ในกระจังหน้าของรถ truck ในอเมริกาครับ โดยจะเคลือสารพวก alloy ไว้ เวลาวิ่งผ่านทะเลทรายหรือพายุหิมะก็จะทำให้การกัดกร่อนของกระจังหน้าลดลงด้วยครับ"  ***

ผม - Joe - ยอด

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

Modified DS-1 Distortions


หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ดนตรี เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า DS-1 ก้อนส้มๆ ที่เรามองเห็นจนคุ้นตา เป็นจุดเริ่มต้นของนักกีตาร์เก่งๆ หลายคน จวบจนทุกวันนี้ DS-1 ก้อนส้มๆ ก็ยังคงเป็นอันดับแรกๆ ที่ผู้คนเลือกหามาใช้งานหากถึง Distortion ที่ไว้ใจได้สักก้อนหนึ่ง ในปัจจุบันเจ้า DS-1 ก็ถูกเอนจิเนียร์เก่งๆ มากมายหลายคนนำเอาวงจรมาปรับปรุงเพื่อจะทำให้เจ้านี่ทรงพลังขึ้น เสียงดีขึ้นและแน่นอนว่าทางฝั่ง USA มีแบรนด์ที่โมดิฟายด์เจ้าก้อนส้มนี้จนได้รับความนิยมสุดสูงมีอยู่ 3 แบรนด์ด้วยกัน คือ Keeley Electronics / Analogman Guitar Effects / Tone Factor วันนี้เราจะมาพูดถึง DS-1 โมดิฟายด์จากทั้งสามค่ายเลยครับ

Keeley DS-1 Ultra Mod (อัลตราม๊อด จาก คีย์ลี่ อิเล็คทรอนิกส์)

โด่งดังสุดขีดเมื่อเจ้า DS-1 Ultra Mod ไปอยู่บนบอร์ดเอฟเฟคของ Steve Vai  และ Joe Satriani  แต่ว่าเราจะมาคุยกันต่อครับว่ามันดีอย่างไร เจ้า DS1-Ultra ก้อนนี้ ทาง Keeley ยังคงรูปแบบเซอร์กิตเดิมๆ ไว้ แต่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคาปาซิเตอร์ และ รีซิสเตอร์บนวงจรโดยใช้ของเกรดสูงๆ จำพวก Metal Film รีซิสเตอร์ และ Poly คาปาซิเตอร์ ผลที่ได้ทำให้ DS1-Ultra ตัวนี้มีเสียงรบกวนน้อยมาก (Low Noise) และทำให้เสียงคมชัดขึ้น และ มีเลเวลของเอฟเฟคดังขึ้น ที่สำคัญทำให้เกนท์ฟังดูพุ่งเป็นกลุ่มๆ ไม่กระจาย (Focus ดีขึ้น) . เจ้าก้อนส้มก้อนนี้มีสองโหมดให้เลือกใช้คือเมื่อสวิทช์เล็กๆ อยู่ด้านบน หากสวิทช์อยู่ตำแหน่งบนจะเป็น Seeing Eye Mode จะให้เสียงแตกใกล้เคียงกับเสียงแบบเดิมๆ ของ DS-1 แต่เมื่อดีดแรงขึ้นไฟจะสว่างขึ้นวาบๆ และเสียงแตกจะวิ่งผ่าน LED นี้ทำให้เพิ่มเกนท์อีกเล็กน้อย ส่วนเมือปรับสวิทช์มาอยู่ตำแหน่งด้านล่างจะเป็น Ultra Mode เราจะได้ซาวด์ที่ใหญ่โตโอราฬมากๆ เกนท์เยอะขึ้น ซาวด์คมกริบชัดขึ้น และได้ฮาร์โมนิก และ ไดนามิกที่ดีกว่าปรกติอีกมาก ไม่ผิดหวังสำหรับการได้ทดสอบ Keeley: DS-1 Ultra Mod จากค่าย Keeley Electronics

Analogman DS-1 Pro/Mid Range (โปร/มิดเรนจ์ จาก อนาล๊อกแมน)

ไมค์ พีร่า เจ้าของบริษัทอนาล๊อกแมนเป็นกูรูด้านเอฟเฟควินเทจ และมีความรู้ลึกรู้จริงด้านเอฟเฟคที่เป็นอนาล๊อกมากๆ คนนึงในอเมริกา ดังนั้นเราก็พอจะเดาได้ว่า DS-1 ของเขาหลังจากผ่านมือเขาโมดิฟายด์แล้วจะออกมาเป็นอย่างไร ไมค์ให้ความเห็นไว้ว่าโดนพื้นฐานแล้ว DS-1 เดิมๆ มีย่าน Mid ที่ถูก Scoop มากๆ (เสียงกลางจมนั่นเอง) ดังนั้นการโมดิฟายด์แบบของเขาจะลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็งให้ DS-1 มีพละกำลังและเสียงที่กลมกล่อมและบาลานซ์มากขึ้น ไมค์ได้ทำการเปลี่ยนชิพจากเดิมๆ มาเป็น JRC Op-Amp ทำให้เสียงฟังดูมีความอุ่นไม่คมกริบ และ เพิ่มปุ่ม Mid Range ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานปรับให้ย่านเสียงกลางพอดีกับที่ตัวเองชอบ และจุด 10 นาฬิกาจะเป็นจุดที่เป็นเสียงกลาง ณ จุดที่ยังไม่ถูกโมดิฟายด์. การโมดิฟายด์ของอนาล๊อกแมนจึงเป็นการโมดิฟายด์เพื่อให้เสียงออกวินเทจ และ เสียงฟังดูอุ่นกว่าและใช้งานได้ดีด้วยกับเกนท์ต่ำๆ

Tone Factor DS-1 Black Light (แบล็กไลท์ จาก โทน แฟคเตอร์)

DS-1 Black Light จากค่าย Tone Factor เป็นอีกเจ้าที่น่าจับตามองเพราะว่าทำการโมดิฟายด์ DS-1 ออกมาได้อย่างน่าประทับใจมากๆ ด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ภายใน (ทั้งคาปาซิเตอร์ และ รีซิสเตอร์) ใช้อุปกรณ์คุณภาพสูง และ ทำการปรับปรุง EQ ของก้อนเดิมให้มีย่าน Mid เพิ่มขึ้นอีกตัว ถึงแม้ว่า Tone Factor จะไม่ได้โมดิฟายด์อะไรเพิ่มให้มีหลากหลายโหมด แต่เท่าที่มีก็เป็นการแก้ไขจุดบกพร่องพื้นฐานของ DS-1 ให้มีสมรรถณะสูงขึ้น เราจะได้ยิน Mid Range ที่ดีขึ้น ย่านเสียงเบสที่แน่นขึ้น และย่านเสียง Treble ที่กลมกล่อมไม่บาดหู และเกนท์ที่หนักแน่นสามารถใช้งานเล่นได้หลากหลายแนวเพลงทีเดียว และราคาของ Black Light ก็น่าสนใจมากๆ อีกด้วย


ราคา:
Keeley: DS-1 Ultra                                          6,700 บาท
Analogman: DS-1 Pro/Mid Range                     6,500 บาท
Tone Factor: DS-1 Black Light                         3,900 บาท

สนใจติดต่อ Pedals’ Park: Music Playground 0818131595 หรือ 0846749944
หรือแวะไปชมที่ร้านเขาได้เลยที่อาคารไทม์สแควร์ ถนนสุขุมวิท ใกล้แยกอโศก รถไฟฟ้าสถานีอโศกครับ

(เขียนลงนิตยสาร The Guitar MAG magazine เมื่อ กรกฏาคม 2553) 

The Dream Factory

Fender เป็นกีตาร์แบรนด์ดังแบรนด์หนึ่ง ถือเป็น 1 ในสองแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของคนเล่นกีตาร์ ขนาดว่ามีคำพูดหนึ่งที่บอกว่า ไม่ว่าจะเล่นกีตาร์อะไรเจ๋งและเฟี้ยวแค่ไหน สุดท้าย คุณจะกลับมาเล่น Fender  จนได้ ผมเป็นคนหนึ่งละที่เชื่อแบบนั้น เพราะว่าเจอมากับตัวแล้ว ผมเคยสนใจเล่นกีตาร์สวยๆ เท่ห์ๆ วัยรุ่นๆ มาหลากหลาย สุดท้ายก็ต้องกลับมาหลงเสน่ห์ของ เช่นกัน ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบความสวยแบบที่เค้าเปรียบกันว่าเซ็กซี่เหมือนทรวดทรงองค์เอวของสาวๆ ในแบบ Stratocaster หรือจะดูเข็มแข็งบึกบึน แบบ Telecaster หรือจะเป็นแนวๆ แบบ Jazz Master / Jaquar หรือ Jazz Bass / Precision Bass


     ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจกีตาร์ Fender แหละหลงไหลในเสน่ห์ของแบรนด์นี้ แน่นอนว่าคุณจะต้องรู้ว่าปัจจุบันนี้กีตาร์ Customshop ของ Fender เป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก และข้อที่ทำให้ Fender CS มีคุณค่าในสายตาของนักเล่น นักสะสม ส่วนหนึ่งก็มาจากกีตาร์หลายๆ ตัว ถูกออกแบบ และถูกผลิตให้มีจำ นวนจำกัด เพื่อเพิ่มมูลค่าของกีตาร์ ซึ่งทาง Fender ก็ทำสำเร็จอย่างงดงาม อย่างเช่นกลุ่มพวก Tribute Series ก็มีตัวอย่างเช่น SRV No.1 / John Mayer "The Black One" / Yngwie Malmsteen "Play Loud" เป็น
ต้น



     ผมหยิบยกเอาเรื่องราวของ Fender Customshop มาเล่าเกริ่นให้ฟัง ก็เพราะอยากจะแนะนำให้คุณได้รู้จัก
กับหนังสือเล่มหนึ่งที่เหมาะแก่การซื้อหามาเก็บไว้บนหิ้ง หรืออ่านเพื่อเอาความรู้ข้อมูลเบื้องลึกของ Fender Customshop หรือแม้กระทั้งซื้อมาเปิดดูเอาความ "หลอน" ให้ความอยากได้กีตาร์มันอาการหนักขึ้น หนังสือ เล่มนี้น่าจะตอบสนองได้ทุกเหตุผลที่ว่ามา ผมกำลังพูดถึง Tom Wheeler's "The Dream Factory" หนังสือปกแข็งสวยงาม ที่เขียนขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของแผนก Fender Customshop/Master build ของบริษัท Fender นั่นเอง



The Dream Factory รวบรวมเอาข้อมูลต่างๆ ของ Fender CS ตั้งแต่ยุคก่อตั้งซึ่งมีแค่เพียง John Page กับ Michael Stevens เพียงสองคน จนกระทั่งได้รับความนิยม จนมีช่างทำกีตาร์ดังๆ หลายคนเช่น John English (ล่วงลับไปแล้ว) George Blanda, Fred Stuart จนมาถึงในยุคปัจจุบันเช่น John Cruz, Todd Krause, Jason Smith, Greg Fressler และอื่นๆ อีกหลายคน รวมไปถึงป้า Abigail Ybbarra ช่างพันปิ๊กอัพที่เริ่มต้นทำ
งานกับ Fender มาตั้งแต่ปี 1956 ในหนังสือยังมีเรื่องราวของการออกแบบและสร้างสรรค์กีตาร์รุ่นลายเซ็นต์
(Signature) ของหลายๆ คนเช่น Eric Clapton, Danny Gatton ให้คุณได้อ่านอย่างสนุก และอย่างน้อยๆ ถ้าคุณๆ เบื่อที่จะอ่านอะไรยาวๆ นานๆ แค่พลิกดูรูปสวยๆ ของกีตาร์และรูปอื่นๆ ที่มีอยู่มากกว่า 500 ภาพ แค่
นั้นก็น่าจะทำให้คุณหลอนอย่างยาวๆ แล้วหล่ะครับ

 
     ผมคิดว่า The Dream Factory เป็นหนังสือที่คนบ้ากีตาร์อย่างผม อย่างคุณไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง เป็นหนึ่งในหนังสือที่รวบรวมสิ่งละอัน พันละน้อยที่เกี่ยวกับ Fender CS ในแทบทุกแง่ทุกมุม มากพอที่จะทำให้คุณหลงไหลกับความตั้งใจจริง รู้จริง และมีผลงานเจ๋งๆ ออกมาจริงๆ จากกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่ง
สร้างชื่อมาด้วยการผลิตกีตาร์ดีๆ ออกมาจนได้รับการยอมรับและเรียกได้ว่าเป็นอันดับหนึ่ง ต้องมีครับสำ
หรับหนังสือ Tom Wheeler's: The Dream Factory เล่มนี้


(เข้าใจว่า ถ้าคุณอ่านข้อเขียนของผมแล้ว อยากไปหามาอ่านบ้าง ทางร้าน Music Concept มีขายนะครับ ลองโทรไปถามเขาได้ที่ 02-255-6448)

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

"TaTar" Telecaster

โลโก้ Playboys Return ออกแบบโดย Vud V74

     มันต้องเคยกันบ้างครับ ที่คนกีตาร์อย่างๆ เราๆ ต้องการกีตาร์ซักตัว ที่เป็นการออกแบบจากตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านรูปลักษณ์ สี และ เสียง ผมเองก็ไม่ต่างจากพวกคุณๆ นั่นหล่ะครับ ผมเอากีตาร์ตัวนี้มาเขียนให้คุณอ่านก็เพราะว่า เผื่อคุณจะอยากได้กีตาร์ที่คุณภาพดี ราคาไม่เกิน 4-5 หมื่นบาท แต่ได้ทรง ได้สี ได้เสียงที่เราต้องการ



     เจ้ากีตาร์สีหวานแหว๋วตัวนี้ ผมเรียกเค้าว่าเป็น PbR T-Style (ซึ่ง T ก็ย่อมาจากทรง Telecaster นั่นหล่ะ) ที่เป็น PbR ก็เพราะว่าผมเล่นดนตรีอยู่ในวงชื่อ Playboys Return ก็เลยอยากได้กีตาร์ที่มีโลโก้ของวง (มีน้องวุดส์ V74 เป็นผู้ออกแบบโลโก้ให้) บนหัวกีตาร์เพื่อความเท่ห์​ (หรือเปล่านะ?) ไอเดียเริ่มต้นของผมก็คือต้องการกีตาร์ทรง Telecaster ที่ไม่จี่ และมีสีแบบที่ผมชอบเพื่อเอาไว้เล่นดนตรีแนว Blues/Hard Rock/Modern Country Rock ได้ และที่สำคัญ ผมตั้งงบสำหรับกีตาร์ตัวนี้ไว้ว่าไม่เกิน 50,000 รวมทุกสิ่ง



    ปรกติ ถ้าเราอยากได้กีตาร์ในแบบของเราเอง 100% บริษัทใหญ่ๆ เช่น Fender, Paul Reed Smith, Suhr หรือ Tom Anderson ก็จะสามารถสั่งได้ แต่คุณอาจจะต้องเตรียมเงินไว้ราวๆ 100,000 - 400,000 บาท เลยที
เดียว ซึ่งผมว่าสำหรับคนที่มีงบจำกัด ราคาแถวๆ นั้นก็เกินเอื้อมไปมากๆ การตั้งงบไว้ก็จะมีประโยชน์มาก
ในการตัดสินใจทำกีตาร์แบบนี้

    หลังจากได้ไอเดียทั้งหมดแล้วว่าต้องการอะไรบ้างบนกีตาร์ เรื่องถัดมาก็เป็นการสั่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบแล้ว ผมใช้บริการจากบริษัทชื่อ Warmoth (www.warmoth.com) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตบอดี้และคอกีตาร์ขายมานานแล้ว และเป็นที่เชื่อมั่นว่าจะได้บอดี้และคอคุณภาพดีอย่างแน่นอน ซึ่งการสั่งจาก Warmoth นี้ ก็สามารถสั่งผลิตใหม่ได้อย่างละเอียดไม่ว่าจะเป็นทรงบอดี้ ขนาดคอ, Radius ก็สามารถให้เค้า
ผลิตได้ตามใจเราได้เลย แต่ถ้าคุณไปดูที่ Section ชื่อ Showcase เค้าจะมีบอดี้/คอ ที่ผลิตสำเร็จรูปแล้ว แบบนั้นก็จะราคาถูกหน่อย ถ้าสั่งใหม่ก็จะแพงขึ้นประมาณ 20-30%




    หลังจากสั่งบอดี้และคอแล้ว พวกฮาร์ดแวร์ผมก็เลือกใช้ Tuning Machine ของ Sperzel โดยสั่งจาก www.stew-mac.com สั่ง Bridge/Saddles จาก Callaham Guitars ซึ่งอันนี้พอดีว่าทาง Pedals' Park มีสต๊อกเป็นประจำ ผมเลยไม่ต้องสั่งอะไรมาก มาถึงปิ๊กอัพและระบบอิเลคทรอนิกส์ที่ยากนิดหน่อย เพราะผมต้องการ Zero Hum ปิ๊กอัพที่เป็น Single Coil ด้วย ตัวเลือกก็จะเหลือแค่ Seymour Duncan หรือ Dimarzio
ผมเลือกใช้ Dimarzio เพราะเหตุผลว่ามีสีขาวตามที่ผมออกแบบไว้ ผมเลือกใช้ตัวใกล้คอเป็น Cruiser เพราะ
เอาท์พุทต่ำ เหมาะกับเล่น Blues และใช้ Tone Zone ที่ตัวใกล้สะพานสายเพราะกะว่าจะให้ Rock กันเต็มที่
ส่วนระบบอิเลคทรอนิกส์ผมสั่ง Pot Volume/ Pot Tone เป็นแบรนด์ชื่อ Alessandro เนื่องเพราะอยากลองว่า
ที่เค้าชมกันนักหนาว่าแบรนด์นี้ทำพวกของเหล่านี้ได้ดี ซึ่งก็ดีจริง แต่คุณจะต้องจ่ายแพงกว่า Pot ปรกติประมาณ 3 เท่า ส่วนพวกฮาร์ดแวร์อื่นๆ เช่น Knobs หรือ Cover Plate ก็ซื้อจากร้าน Music Concept นี่แหละ
เป็นอุปกรณ์แท้ๆ ของ Fender เลยครับง่ายดี


    ส่วนการทำสีอะไรต่างๆ ผมให้ช่างผู้ชำนาญในบ้านเราทำให้ โดยใช้บริการของพี่โชค Zith Guitars ช่วย
ประกอบและทำสีอะไรต่างๆ ให้ ซึ่งผมก็ได้งานที่น่าพอใจเป็นอย่างมากครับ ทั้งหลายทั้งปวงกับกีตาร์ตัวนี้
ผมใช้งบประมาณไปทั้งหมดคร่าวๆ อยู่ที่ประมาณ 48,000 บาท ซึ่งก็อยู่ในงบ และได้กีตาร์รูปลักษณ์ หน้าตา
และเสียงที่น่าพอใจมากๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น การประกอบกีตาร์เองแบบนี้ คุณๆ ทั้งหลายที่คิดจะทำ ต้องมั่นใจว่าจะ
อยู่กับกีตาร์ตัวนี้ได้นานๆ เพราะถ้าคิดจะขายต่อ อาจจะไม่มีใครอยากได้ นอกจากจะขายราคาถูก ซึ่งถ้าสำ
หรับคนขี้เบื่อ ผมไม่แนะนำให้ทำครับ


ผมมีคลิปเสียงที่นำเอากีตาร์ตัวนี้ไปเล่นในงาน Live After Floo 2011 มา ซึ่งเสียงก็ดีน่าพอใจครับ




วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

Coated Guitar Strings?

     สิ่งหนึ่งที่หมู่เราชาวกีตาร์จำเป็นที่จะต้องใช้แทบจะทุกบ่อยไม่ว่าคุณๆ จะเป็นมือกีตาร์ที่เล่นเอามันส์​อยู่ที่่บ้าน เป็นมือกีตาร์ที่เล่นเป็นอาชีพทุกคืนๆ หรือเล่นในสตูดิโอ ก็คือสายกีตาร์ ปัจจุบันบริษัทที่ผลิตสายกีตาร์หลากหลายบริษัทก็พยายามพัฒนาคุณภาพสินค้าของพวกเขาเองให้มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการยืดอายุการใช้งาน และความเป็นธรรมชาติของเสียง

     สายกีตาร์ชนิดหนึ่งที่น่าจะเรียกว่าเป็นนวตกรรมใหม่และมีตลาดที่โตขึ้นเรื่อยๆ ก็คือสายที่เรียกว่า Coated Strings หรือที่เราเรียกๆ กันว่าสายกีตาร์ชนิดเคลือบ สายกีตาร์ชนิดนี้ส่วนใหญ่จะนำเอาสาย 4-5-6 ที่เป็นสายใหญ่ (wound strings) ไปทำการเคลือบ ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุที่เราเรียกกันว่า Teflon และจุดมุ่งหมายในการเคลือบสายนี้ หลักๆ แล้วมีความต้องการที่จะทำให้เกิดสนิมช้าที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วการเกิดสนิทกร่อนสายนั้นถือเป็นเรื่องปรกติ เพราะว่าหลังจากเราๆ เล่นกีตาร์มือของเราจะมีสภาพความเปียกชื้นที่เกิดจากเหงื่อ ซึ่งมีเกลือผสมอยู่ นั่นเป็นเหตุหลักๆ ทำให้สายกีตาร์เกิดสนิม ส่วนจะขึ้นเร็วหรือช้า ก็ขึ้นกับหลักชีวภาพของแต่ละท่านแล้วหล่ะว่ามีเกลือผสมในเหงื่อกันมากแค่ไหน อีกสาเหตุหนึ่งคือการดูแลกีตาร์ของคุณๆ เองด้วยครับ ว่าปล่อยให้ Frets มีสนิมเกิดขึ้นบ้างไหม สายจะมีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ถ้าคุณดูแลรักษาเฟรตจุดที่สัมผัสกับสายให้ดีด้วยเช่นกัน

     การ Coated หรือ เคลือบสายนั้นนอกจากจะช่วยป้องกันให้สายมีอายุยืนยาวแล้ว บริษัทบางแห่งที่ผลิตสายชนิดนี้ ยังบอกว่าการเคลือบสายอย่างถูกวิธี จะช่วยลดเสียงเอี๊ยดๆ อ๊าดๆ เวลาที่นิ้วมือของเรารูดไปตามสาย (ยามเปลี่ยนคอร์ด ในกรณีกีตาร์อคุสติกจะได้ยินชัดเจน) หรือบ้างก็ว่าช่วยทำให้ความตึงของสายมีการยืดหยุ่นที่เหนียวแน่นมากขึ้น จึงทำให้การตั้งสายแม่นยำกว่าสายปรกติ (ที่ไม่เคลือบ) และบางแห่งก็ระบุว่า การเคลือบสายนั้นทำให้เฟรตสึกช้าลง และการ Coated สายนี้ ยังทำให้บางบริษัทเกิดไอเดียบรรเจิดลงสีสรรพ์สวยงามลงไปบนสารที่เคลือบสายอีกด้วย แต่การเคลือบสายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ สิ่งที่ผู้ผลิตสายกีตาร์จำต้องคำนึงถึงให้มากคือความหนาของการเคลือบ และจำเป็นต้องเคลือบให้สม่ำเสมอไปตลอดทั้งความยาวของเส้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลที่ตามมาคือผู้เล่นจะรู้สึกถึงจุดสะดุดในบางช่วงของสาย บางคนอาจจะเล่นไม่ถนัด พาลเกลียดสายเคลือบไปเลย

   
   
 
    สายกีตาร์แบบ Coated นี้ ในปัจจุบัน ตามท้องตลาดก็มีให้เลือกใช้อยู่มากมายหลายแบรนด์ครับ บ้างก็ดีไซน์และผลิตมาได้ดี บ้างก็ผลิตมาได้ค่อนข้างจะแย่หน่อย ผมว่ากันเรื่องข้อดีของสายแบบ Coated ไปแล้วในย่อหน้าบน ทีนี้เรามาดูข้อด้อยของสายแบบเคลือบกันบ้างดีไหมครับ เพราะของทุกๆ อย่างบนโลกนี้มันไม่มี Perfect อยู่แล้ว อันนี้ผมจะพูดถึงสายเคลือบบางชนิดที่ทำมาได้ค่อนข้างแย่ (ตามประสบการณ์นะครับ) จุดแรกที่พบเจอคือเรื่องของการลดความเอี๊ยดอ๊าดขณะเล่น เป็นเรื่องจริงครับ แต่บางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยผิวสัมผัสที่ลื่นกว่าปรกติในสายเคลือบบางชนิด หรือ บางแบรนด์ ทำให้การดันสายทำได้ยากขึ้นเพราะความลื่นของสายที่มากกว่าปรกติ

    ต่อมาเรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือสภาพความเป็นขุยของสาย เมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสภาพความเป็นขุยนี้มักเกิดจากการถูกสัมผัสและกระแทกกระทั้นบ่อยๆ เช่นจุดของสายที่ถูกปิ๊กดีดกระทบบ่อยๆ ตรงนั้น สารเคลือบจะหลุดก่อนทำให้เข้าถึงเนื้อในของสาย และยิ่งถ้าเป็นสายแบบสีๆ ก็ดูไม่สวยงามเหมือนเดิมแล้วหล่ะครับ และถ้าเป็นขุยในจุดที่เราวางนิ้วบนฟิงเกอร์บอร์ด ก็ยิ่งมีผลต่อผิวสัมผัสขณะเล่นอีกด้วย อาจจะทำให้เกิดความไม่สบายนิ้วขณะเล่น


    ทั้งนี้ทั้งนั้น Coated Strings ก็ยังถือว่าเป็นวิวัฒนาการที่ดีของสายกีตาร์ที่ผลิตออกมาให้เราได้ใช้กัน นึกภาพร้านขายกีตาร์ที่มีกีตาร์ดีๆ ราคาสูงๆ แขวนตากลมแอร์ตลอดวัน โดยไม่ถูกเล่น แน่นอนว่าจะต้องเกิด Oxide เกาะอย่างแน่นอน? และถ้าหากใช้สายกีตาร์แบบปรกติ จะมีอายุการใช้งานเท่าไหร่? และ กีตาร์ที่มีสายที่เรียกว่า Dead ไปแล้ว เวลามีคนมาลองเล่นจะประทับใจเสียงได้มากน้อยแค่ไหน? หรือในกรณีอย่างเราๆ ที่เล่นกันที่บ้าน ด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทำให้ยืดเวลาการเปลี่ยนสายในแต่ละครั้งไปพอสมควร ตัดขั้นตอนที่ต้องดูแลเปลี่ยนสายกันบ่อยๆ ใช่ไหมครับ?

     ท้ายนี้ ผมเอาคลิปมาแปะไว้ให้คุณได้ลองทายกันเล่นสนุกๆ ครับว่า คุณสามารถบ่งบอกได้ไหมว่ากีตาร์ตัวไหนใส่สายเคลือบไว้ และ ตัวไหนเป็นสายปรกติ? :D





Stone Grey Distortion


Mad Professor: Stone Grey Distortion

 หากจะมีเอฟเฟคต์ซักแบรนด์หนึ่งที่ไม่ว่าจะทำเอฟเฟคต์อะไรออกมาก็ดูจะประสบความสำเร็จไปเสียหมด ผมจะต้องนึกถึงเจ้าก้อนเล็กๆจากประเทศฟินแลนด์ภายใต้แบรนด์ Mad Professor ก่อนเป็นแน่แท้ เพราะเอฟเฟคต์จากค่าย MP นี้ ผมได้ทดสอบหลากหลายรุ่น แล้วก็พบว่า แต่ละรุ่น ก็ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย แม้กระทั่งก้อนใหม่เอี่ยมที่เพิ่งจะออกมาเป็นก้อนล่าสุด ผมก็หลับตาฟันธงได้เลยว่า ไม่ผิดหวังแน่นอน

   Stone Grey Distortion คือชื่อของเอฟเฟคต์ก้อนล่าสุดที่ Mad Professor ผลิตออกมา ชื่อก็คงบอกอยู่ว่าเป็น Distortion Box อีกก้อนที่ออกมาให้คุณๆ ได้มองเป็นทางเลือก การดีไซน์ของ SGD นี้ ก็เรียบๆ ง่ายๆ เช่นเดียวกับก้อนอื่นๆ และดูจะตรงๆ ซื่อๆ กว่าด้วยซ้ำไป เพราะการควบคุมก็ง่ายแสนง่าย มีแค่ 3 ปุ่ม คือ Volume - ควบคุมความดังเบาของเอฟเฟคต์ / Tone – ควบคุมย่านเสียงโดยรวม หมุนทวนเข็มจะลดย่านแหลม หมุนตามเข็มก็จะเพิ่มความแหลมและDistort - จะควบคุมจำนวน Distortion ที่คุณๆ ต้องการใช้

    ผมทดสอบเจ้า SGD ตัวนี้ ด้วยกีตาร์ Ibanez J-Custom และ Fender Eric Johnson Stratocaster ผ่าน Stone Grey Distortion ไปเข้ากับแอมป์ Victoria 50212 พบว่าเสียงที่ได้จาก SGD นี้ ออกชัดเจน นิ่งและเป็น Hi-Gain ดีๆ อีกก้อนนึง ที่คุณๆ น่าจะชอบ เพราะว่าเสียงแตกที่ได้จากก้อนนี้ แรง พุ่ง และ จุดเด่นคือความชัด ที่คุณๆ ไม่น่าจะหาได้จาก Distortion ก้อนอื่นๆ (ที่ส่วนมากจะออกเบลอๆ ที่สายบนๆ) มีจุดหนึ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ คือ หากคุณต้องการย่านเสียงเบสที่หนาๆ ใหญ่ๆ คุณอาจจะไม่พอใจนัก แต่ผมกลับเห็นว่า หากคุณเล่นเจ้า SGD กับวงของคุณหล่ะก็ ความชัดพุ่งของเขาจะสามารถฟังชัดเจนกลมกลืนไปกับเครื่องอื่นๆ และไม่มีย่านเบสที่ไปชนกับกีตาร์เบสอย่างแน่นอน และจุดเด่นๆ อีกข้อ ก็คือถ้าหากคุณพิศมัยอยากจะใช้ SGD นี้เป็น Overdrive คุณก็สามารถลดจำนวน Distortion ลงมาต่ำกว่าเที่ยง คุณก็จะได้ Overdrive ที่มีไดนามิกดีๆ อีกตัวนึงไว้ใช้งาน และพร้อมที่จะคำรามเมื่อคุณบิดมันกลับไปสุด

   โดยสรุปแล้ว เจ้า Stone Grey Distortion จากค่าย Mad Professor นี้ ก็เป็นอีกครั้งที่เจ้านี้ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง (ผมจะสารภาพตรงนี้เลยว่า เจ้า SGD นี้เป็นก้อนที่ 4 แล้วที่ผมกัดฟันซื้อเอฟเฟคต์ค่ายนี้มาใช้งาน) เพราะเป็น Distortion ที่ได้เนื้อเสียงกระชับ และ ชัดเจนทุกสาย แถมมีจำนวน Dist ที่มากเหลือเฟือพอให้คุณเล่นได้ตั้งแต่เพลง Pop – Blues – Rock หรือ Metal ก็ไม่น่าจะมีปัญหา หากต้องการทราบข้อมูลมากกว่านี้ ลองติดต่อไปที่ตัวแทนจำหน่าย Pedals’ Park Music Playground ที่ 0818131595 หรือ 0870126969 ทางร้านก็จะให้รายละเอียดได้มากขึ้น



ซื้อเถิด: ถ้าหากคุณกำลังมองหาอาวุธหนัก ที่ใช้งานได้กว้างขวาง เล่นได้หลากหลายคุ้มค่า  กับ Distortion Box ที่ชัดเจน ไม่คลุมเคลือ เบสไม่ล้น และฟังแน่นกระชับ
ข้ามไป: ถ้าหากคุณชอบเอฟเฟคต์ที่เกนท์น้อยๆ หรือ ชอบประเภทเบสล้นๆ และ ฟังอึดอัด


(เขียนลง The Guitar MAG magazine ปี 2011)

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

Stampede Overdrive


      สำหรับคนเล่นก้อนแล้ว การแสวงหาก้อนใหม่ๆ ที่ถูกสุขลักษณะหูของเรา (ณ ช่วงเวลานั้นๆ) ถือเป็นเรื่องสนุก และตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก ช่วง 4-5 ปีหลังนี้ การออกแบบเอฟเฟคต์ก้อนๆ ที่ผมพบและได้ลองนั้น จาก 5 ใน 10 ตัว เราจะต้องได้พบว่าเอฟเฟคต์เหล่านั้น พยายามสร้างสรรค์เสียงในแบบ Dumble แล้วเสียงในแบบ Dumble มันคืออะไร? ก็ต้องตอบว่า Dumble ถือเป็นแอมป์พลิฟายด์แบรนด์หนึ่งที่โด่งดังมากในหมู่คนเล่นกีตาร์ เพราะไม่ว่าจะเป็น Larry Carlton, Robben Ford, John Mayer หรือ Carlos Santana ต่างก็มีเจ้าแอมป์ที่เรียกว่า Dumble นี้ไว้ครอบครองทั้งสิ้น (ในบ้านเราก็มี อ.โปรด ธนภัทร์ ที่มีครอบครองอยู่ด้วย) แอมป์ Dumble นี้ จะให้เสียงที่ว่ากันว่ามี Harmonic ฟังเพราะพริ้ง มีความนุ่มละมุนของเสียง มีการ Clipping ของเสียงที่ว่ากันว่าไพเราะที่สุด และที่สำคัญราคาของมันมหาศาลมากๆ ปัจจุบันนี้ ถ้ามีการซื้อขายกัน แอมป์ Dumble จะซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ $40,000 - $60,000 (ประมาณ 1,200,000 - 1,800,000 บาท) ต่อหนึ่งหัว ดังนั้นแล้ว คงไม่น่าแปลกใจนัก ที่บริษัทที่ผลิตเอฟเฟคต์ก้อนน้อยใหญ่ จะให้ความสนใจในการพยายามทำเอฟเฟคต์ของตัวเองให้ได้ซาวด์ในแบบ Dumble

     Providence Effectors เป็นหนึ่งในเอฟเฟคต์ที่อยู่ในเครือข่ายของบริษัท Pacifix Ltd จากประเทศญี่ปุ่น และมีความชำนาญในการออกแบบและผลิตเอฟเฟคต์คุณภาพสูงที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงไปไกลมากและเป็นที่นิยมในประเทศในกลุ่มยุโรป และ อเมริกา ผมกำลังจะนำคุณๆ มาพบกับเจ้าเอฟเฟคต์ก้อนที่ทำให้ Providence เป็นที่นิยม และ รู้จักในตลาดทั่วโลก นั่นก็คือ Providence: Stampede Overdrive เจ้า Stampede นี้ เป็นเอฟเฟคต์ประเภทโอเวอร์ไดร์ฟ ที่ให้น้ำเสียงที่ใกล้เคียงเสียงในแบบของ Larry Carlton และ Robben Ford จึงจัดว่าเป็นเอฟเฟคต์อีกตัวหนึ่งที่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่ม Dumble Sound เช่นเดียวกัน

     Stampede Overdrive มีการควบคุมง่ายมาก มีแค่ Level-Tone-Gain ในแบบของเอฟเฟคต์โอเวอร์ไดร์ฟทั่วๆ ไป ผมทดสอบเจ้าก้อนแดงแปร๊ดนี้ด้วย Gibson Les Paul Standard R9VOS และ Fender Rory Gallagher Stratocaster ผ่าน Stampede Od ไปออก Marshall 2061x และ 2061cx Cabinet แล้วก็พบว่าเจ้า Stampede นี้ ค่อนข้างต่างกับโอเวอร์ไดร์ฟอื่นๆ ในตลาดไปพอสมควร ด้วยเสียงของมันเองแทบไม่มีความขุ่นในแบบ Brown Sound แต่ทดแทนด้วยย่าน Treble ที่ฟังสดใส มีความกว้างของ Gain ที่ค่อนข้างจะกว้างทำให้เล่นได้ตั้งแต่แตกน้อยๆ ไปถึงขนาด Mid Gain Overdrive ได้ ซึ่งผมคิดว่าตรงนั้นเป็นจุดแข็งของเจ้า Stampede นี้เลย เพราะมันจะสามารถบวกลบจำนวน Gain ให้เข้ากับกีตาร์ที่คุณใช้ หรือ แอมป์พลิฟายด์ที่คุณใช้งานได้ ข้อด้อยหนึ่งจุดที่ผมพบ น่าจะเป็นเรื่องที่ว่า Stampede กินไฟมากพอสมควร ถ้าคุณใช้ถ่านอัลคาไลน์ปรกติ อาจจะใช้งานเต็มที่ได้เพียงแค่ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว Power Supply น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าครับ

    ถ้าคุณเป็นคนชอบเล่นวอลลุ่มบนกีตาร์ จุดเด่นอีกจุดของ Stampede Overdrive คือเมื่อคุณเปิดวอลลุ่มไปสุดแล้วได้จำนวนเกนท์มากพอที่คุณต้องการแล้ว เมื่อลดวอลลุ่มลง เสียงก็จะคลีนขึ้นอย่างน่าตกใจ ฟังสะอาดเหมือนไม่ได้ติดโอเวอร์ไดร์ฟเลย (ในกรณี Humbuckers อาจจะมีเสียงแตกเล็ดรอดมาบ้าง) ซึ่งจุดนี้ Providence ทำได้ดีมากๆ

ซื้อเถอะ: ถ้าคุณมองหาโอเวอร์ไดรฟ์ดีๆ สักก้อนที่ฉีกหนีความจำเจของ TS808/TS9 เพื่อที่จะได้โอเวอร์ไดร์ฟที่ฮาโมนิคดีๆ มี Gain ให้ปรับได้กว้าง และเผื่อจะอยากเล่น Clipping สวยๆ ในแบบ Robben Ford หรือ  Larry Carlton

ข้ามไปก่อนนะ: ถ้าคุณเป็นนักกีตาร์สาย Metal ไม่น่าจะใช่สิ่งที่คุณหาแน่ๆ

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้จาก Pedals' Park Music Playground
0818131595 หรือ 0870126969


วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

การเลือกซื้อแอมป์พลิฟายด์


      ไม่ได้เขียนอะไรที่เป็นประโยชน์มานานแล้วครับ ฮ่า ฮ่า ช่วงปีสองปีหลังนี่ ผมได้สัมผัสและได้ความรู้ต่างๆ ในเรื่องamplifier เยอะมากๆ จากพี่ๆ น้องๆ หลายๆ ท่าน และได้รับประสบการณ์ตรงจากตัวเองก็มี ... ทั้งได้รับคำแนะนำและ ได้แจกจ่ายประสบการณ์ก็หลาย ผมย่อยสลายข้อมูลแล้วก็เห็นว่า น่าจะเอามาเขียนเป็นประสบการณ์ให้อ่านกันเล่นๆ ครับ ไม่บังอาจจะเรียกว่าแนะนำ นะครับ แค่เอาประสบการณ์มาแจกจ่ายกันให้ฟังหนุกๆ ก็แล้วกัน ... บางส่วน ผมก็ไปอ่านมากจากหลายๆ เวปของฝรั่งเขา แล้วประมวลอันที่เข้าท่าและใช้ได้จริงแหละครับ ผมเชื่อว่ามันคงประโยชน์มั่งแหละเนอะ ..


      ก่อนจะเลือกซื้อแอมป์ ... เรามาทำความรู้จักไอ้เจ้า Amplifier นี่ก่อนละกัน ว่ามันมีกี่ชนิด และ แบ่งแยกชนิดของมันยังไงมั่ง ... ข้อมูลเหล่านี้ผมก็แยกแยะตามประสบการณ์หล่ะครับ ถ้าพี่ๆ น้องๆ เห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็กรุณาแย้งได้ตามสะดวกนะครับ ...


1. แบบแรก ... เราคุ้นเคยกับเขามากๆ ครับ เรียกว่า Solid - State (โซลิต สเตท) ... เขาเป็นแอมป์พลิฟายด์ที่ทั้งภาคเพาเวอร์ และ ภาคปรีแอมป์ ใช้ทรานซิสเตอร์ทั้งหมด วงจรล้วนๆ ทนทานนานปี เสียยาก และ ถ้าเป็นแอมป์ประเภทที่มี ภาคดิสทรอชั่น จะให้เสียงแตกแรงได้เยอะกว่ากลุ่มแอมป์หลอด

ที่ได้เห็นกันบ่อยๆ เลยก็เช่น
Marshall MG Series
Fender FM Series
Kustom Dual Series
Hiwatt Maxwatt Series

เป็นต้น ..


2. เรายิ่งคุ้นเคยกันมากกว่าอีกบ้านเรา เรียกกันบ้านๆ ว่า "แอมป์หลอด" ฝรั่งเรียกว่า Tube Amp สำหรับ US และ Valve Amp สำหรับ UK เรียกกันแล้วแต่ชอบละกันเพราะมันมีความหมายเหมือนกันครับ ... ที่เรียกว่าแอมป์หลอด เนี่ย เพราะว่าทั้งภาคเพาเวอร์ และ ปรีแอมป์นั้นใช้หลอด (Tube/Valve) หลอดแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อก็จะให้เสียงแตกต่างกันไป ... บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคำว่า EL34 - 6L6 - KT66 หรือ 12AX7 - 12AT7 พวกนี้ เป็นเบอร์ของหลอดทั้งนั้น ... แอมป์ชนิดหลอด เป็นที่นิยมมากๆ เพราะว่า เขาให้ซาวด์ที่อุ่นกว่า อ้วนหนากว่า และ แต่ละโน๊ตฟังดูมีเนื้อมีหนังเป็นเม็ดๆ กว่า Solid State แอมป์ ... แต่ความบอบบางมีมากกว่า ต้องมีการดูแลเป็นระยะๆ ครับ มีเยอะมากๆ ให้เลือกทั้งแบบ Mass และ Boutique ... เดี๋ยวเรื่อง Boutique Amp เนี่ย ผมจะไปเจาะลึกกันอีกซักภาคละกันนะ ... เอาเท่าที่จำได้ตอนนี้ก่อนละกันเช่น

Fender Pro Tube Series
Marshall JCM Series/JVM/Vintage-Modern
ENGL Powerball/Fireball etc
Bogner Shiva/XTC/Uberschall etc
Two Rock Custom Rev 
Cornell Custom 40/80

ในกลุ่มพวกนี้ เป็นแอมป์หลอด ทั้งน๊านน์




3. เราได้ยินกันมามั่งครับปรกติ เราจะเรียกทับศัพท์กันไปว่า Hybrid Amplifier ... บางท่านก็อาจจะไม่เข้าใจว่าอะไรคือ Hybrid ก็อธิบายกันง่ายๆ ว่าเป็นแอมป์ลูกผสมโดยส่วนใหญ่ ... ภาคเพาเวอร์จะเป็น Solid State และ ภาคปรีแอมป์จะขับด้วยหลอด (Tube/Valve) ... ง่ายๆ แค่นี้เองครับ ... ที่เราคุ้นเคยกันมากๆ ก็ประมาณ:

Marshall AVT Series
Kustom HV Series
Vox Valvetronix (แต่ไอ่เจ้านี่มันจะคาบเกี่ยวกับอีกชนิดนึงด้วยนะ)

4. แบบสุดท้าย ที่พบเห็นบ่อยๆ ในตลาด และเป็นที่นิยมมากๆ หลังช่วงปี 2000 มา เจ้าพ่อตลาดนี้ ต้องยกให้ Line6 ครับ เรากำลังพูดถึงแอมป์ที่เรียกกันทับศัพท์อีกว่า Modelling Amplifier ... เขาก็คือแอมป์พลิฟายด์ที่มีดิจิตอลโพรเซสเซอร์คำนวนและสร้างสรรค์เสียงให้ออกมาแบบแอมป์แบรนด์ และ รุ่นต่างๆ ที่ถูกจำลองไว้ .. ส่วนใหญ่ ก็เป็นแอมป์ดังๆ ในอดีตทั้งนั้นหล่ะครับ ที่ชัดๆ ก็จะมีจำลอง JCM800 - Mesa Rectifier - Blackface พวกนี้เห็นเยอะมากๆ ... แอมป์ประเภทนี้จะใช้งานง่ายและร่วมกับพวกดิจิตอลเอฟเฟคต์ภายในแอมป์ และเด่นๆ
ก็คือจะสามารถโปรแกรมได้ สะดวกต่อการเรียกมาใช้งาน ข้อด้อยก็คือซาวด์ที่ได้จะเป็นดิจิตอลและมิติน้อยครับ ที่เราเห็นบ่อยๆ ก็คือ

- Line 6 Spider
- Line 6 Plextone Series พวกนี้แหละ ..

ผมเกริ่นไว้นิดๆ กับ Vox: Valvetronix ไอ้เจ้านี่เป็นการแก้ให้ซาวด์ของ Digital มีความอิ่มเอมขึ้น เพราะว่าเขาใช้เทคโนโลยี่ Hybrid Amp ผสมกับ Modelling Amp ปัจจุบันนี้ นอกจาก Vox แล้ว Line6 ก็มีผลิตออกมา แต่ Line 6 จะพัฒนาเยอะกว่าเพราะว่าทั้งภาคเพาเวอร์ และ ภาคปรีเป็นหลอดทั้งหมด ... รุ่นนั้นเรียกว่า Spider Valve และได้ Mr.Reinhold Bogner มาช่วยดีไซน์แอมป์ให้ผสมกันได้แบบนี้ ...

ผมก็แยกประเภทแอมป์มาให้รู้จักกันคร่าวๆ สี่ชนิดหล่ะครับ ...

อ้อ ส่วนที่เราเรียกแอมป์ว่า Combo หรือ Stack มันแตกต่างกันแบบนี้ครับ:

Combo เนี่ย มันย่อมาจาก Combination ครับ ก็คือการที่รวมเอาแอมป์กับลำโพงอยู่ในตู้เดียวกัน ... ส่วนการใช้แอมป์ที่แยกกันระหว่างแอมป์ กับ ลำโพงจะเรียกกันแบบชาวเราว่า Stack (สแตคค์) หรือ ได้ยินกันในบ้านเราว่า "หัวเทิร์น"

ไว้ว่างๆ มาต่อภาคสองกันคราวหน้าครับ .. !!


(เขียนลง www.guitarthai.com ไว้เมื่อปี 2008)

All About Cables !!



Instrument Cable V Speaker Cable 


 เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมายาวนานว่า ได้หรือไม่? ที่เราจะนำเอาสายสัญญาณกีตาร์ธรรมดาๆไปใช้กับแอมป์พลิฟายด์ (Amplifier) โดยในที่นี้หมายถึงแบบหัวแอมป์ + speaker cabinet บ้างก็ว่าได้สบายมาก มันก็สายชนิดเดียวกัน บ้างก็ว่าอย่าเลย มันคนละประเภท ผมจะคุยถึงเรื่องนี้ให้ฟัง พอสังเขปครับ ว่าในความเป็นจริง เรา “ไม่ควร” ใช้สายสัญญาณทั้งสองประเภทนี้ผิดหน้าที่ เพราะว่าสายสัญญาณทั้งสองชนิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ เพราะอะไรเราค่อยๆมาติดตามกัน
     สายสัญญาณกีตาร์ และ สายสัญญาณลำโพงถูกออกแบบมาเป็นสายสัญญาณคนละชนิดกันอย่างสิ้นเชิงครับ และแน่นอนที่สุดว่าต้องถูกออกแบบมาให้ใช้งานกันคนละแบบแน่ๆ ดังนั้นแล้วการใช้สายเคเบิ้ลที่ไม่ถูกหน้าที่ อาจจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาหลายระดับตั้งแต่อาจจะทำให้มีเสียงที่ไม่พึงประสงค์หนักไปจนถึงเครื่องมือบางชิ้นอาจจะมอดม้วยได้ แต่การที่เราสับสนว่าสายทั้งสองชนิดน่าจะเหมือนๆกันนั้นก็เป็นเพราะว่า สายสัญญาณทั้งสองชนิดดันพิเรณท์ใช้ปลั๊กชนิดเดียวกันคือปลั๊กชนิด 1/4” ที่เราชินๆตากัน ทีนี้จะให้เข้าใจว่าทำไมเราไม่ควรใช้สายสัญญาณให้ผิดประเภท เราน่าจะมาทำความเข้าใจในรายละเอียดว่า สายทั้งสองแบบเป็นอย่างไรในเชิงลึกหน่อยดีไหมครับ?

สายสัญญาณสำหรับเครื่องดนตรี (กีตาร์, เบส, คีย์บอร์ด) เนี่ยมันเป็นชนิดที่ความต้านทานสูง และมีกำลังขับต่ำ เขาถูกออกแบบมาให้นำสัญญาณที่ยังไม่ถูกขยายจากกีตาร์เข้าไปสู่แอมป์พลิฟายด์ และเมื่อถึงตรง นั้นจึงจะถูกขยายดังขึ้น สังเกตนะครับว่าการนำสัญญาณจากกีตาร์ไปถึงแอมป์นั้น สัญญาณจะยังไม่ถูกขยายจนกระทั่งเข้าสู่แอมป์พลิฟายด์ ดังนั้นสายจึงไม่ได้ถูกสร้างให้รับสัญญาณแรงๆ ส่วนใหญ่สายสัญญาณกีตาร์จะเป็นสายที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก ปรกติจะเป็นขนาด 24 เกจ ที่จะถูกซ่อนไว้มิดชิดในสื่อนำไฟฟ้าที่ถูกถักไว้และนั่นจะทำหน้าที่เป็นกราวด์ ส่วนใหญ่แล้วสายเคเบิ้ลแบบนี้จะน้ำหนักเบา และ สายขนาดไม่ใหญ่มาก (เนื่องเพราะคุณจะต้องลากมันไปมาทั่วเวทีใช่ไหม?) และสายถักนั้นยังสามารถป้องกันเสียงรบกวนจากคลื่นไฟฟ้าภายนอกอีกด้วย ซึ่งถ้าสายคุณภาพสูงๆ ดีๆ ในจุดนี้จะทำให้ลดน๊อยส์รบกวนได้มาโขอยู่
     และสำหรับสายสปีกเกอร์ (speaker) ก็คือทุกอย่างแทบจะตรงกันข้ามกับสายสัญญาณของกีตาร์เลยหล่ะครับ คือความต้านทานต่ำและกำลังขับสูง สายประเภทนี้ถูกออกแบบมาให้นำสัญญาณที่แรงมากๆๆๆ จากแอมป์ไปสู่ลำโพง และแน่นอนต้องนำสัญญาณไฟฟ้าที่แรงมากๆ อีกด้วย และที่ไม่เหมือนกับสายสัญญาณกีตาร์อีกอย่างก็คือสายสปีกเกอร์ไม่ได้มีสื่อนำสัญญาณแค่หนึ่งเส้น แต่เป็นสองเส้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่มากๆ เพื่อรองรับการไหลผ่านสัญญาณแรงๆ จากหัวแอมป์ไปสู่ลำโพงได้เต็มที่
     ลองนึกภาพท่อน้ำดูครับ เมื่อมีน้ำไหลผ่านจำนวนมากๆ และมีแรงดันน้ำที่แรง ท่อขนาดเล็กจะมีความทนทานขนาดไหน พอรับความดันเหล่านั้นได้หรือไม่ และท่อที่มีขนาดใหญ่กว่าจะรับแรงดันได้ดีกว่าหรือเปล่า แบบนี้เราก็คงจะพอมองออกกันบ้างแล้วครับ ว่าสายสัญญาณกีตาร์ และ สปีกเกอร์มันใช้งานต่างกันอย่างไร คำตอบก็คือสายสัญญาณสปีกเกอร์นั้นมีคุณภาพสูงกว่าเมื่อใช้นำสัญญาณที่แรงกว่าและสัญญาณจะไหลผ่านได้ดีกว่า
     ถ้าคุณใช้สายเคเบิ้ลของกีตาร์ ทดแทน สายที่ใช้กับแอมป์พลิฟายด์ มันอาจจะใช้งานได้ผลในช่วงแรกๆ แต่ถ้าใช้งานไปเรื่อยๆ ผลที่จะตามมาก็คือ สัญญาณแรงๆจากแอมป์จะวิ่งผ่านสายสัญญาณที่มีสื่อนำขนาดเล็ก และความร้อนจะค่อยๆสะสมไปเรื่อยๆ เมื่อสัญญาณวิ่งผ่านได้ไม่เต็มที่ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ แอมป์คุณจะเสียงเบากว่าปรกติ มีเสียงซ่าๆ แปลกๆ ตามมา และสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยก็คือแอมป์พลิฟายด์คุณจะไหม้ครับ
เพราะงั้นแล้ว เรามาเริ่มใช้สายสัญญาณให้ถูกประเภทกันดีกว่า
ขอขอบคุณเวปไซท์ Fender.com ที่เขียนบทความดีๆ มาให้ได้ทำความเข้าใจกัน