วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

OKKO Dominator

ถ้าพูดกันถึงแบรนด์ OKKO ก็ยังไม่ถึงกับเป็นที่โด่งดังเท่าไหร่ในบ้านเรา ผมมีตัวนี้ครอบครองอยู่บนบอร์ดของตัวเองมาราวๆ เกือบๆ จะปีนึงแล้ว เพิ่งจะสบโอกาสนำเอามาเขียนเล่าให้คุณๆ ฟัง กันว่าเป็นอย่างไร เจ้า OKKO นี่ มีพื้นเพเป็นเอฟเฟคต์มาจากประเทศ Germany ผลิตแบบแฮนด์บิล์ท ซึ่งผู้ผลิตมีเพียงคนเดียว สรุปง่ายๆ ว่าทั้งบริษัท มีคนเดียว และดันเป็นนักกีตาร์ที่เล่นอาชีพออกทัวร์เสียด้วยครับ เพราะงั้นจึงมั่นใจว่าเป็นเอฟเฟคต์ก้อนที่ผลิตและดีไซน์โดยนักกีตาร์จริงๆ

ตัวที่ผมได้มาไว้ใช้งานเป็นรุ่น Dominator ซึ่งเป็นเสียงแตกแบบ Hi Gain และเป็น Hi Gain ชนิดแตกระห่ำๆ ไม่มีกั๊กเลยด้วย น่าจะเป็น Hi Gain ที่เล่นมันส์ที่สุดเท่าที่เคยเล่นมา บนตัว Dominator เองก็มีปุ่มปรับแบบสามัญๆ คือ Gain - Level และ EQ แบบแยก Bass-Mid-Treble เลย ซึ่ง EQ ชุดนี้แหละที่ทำให้เจ้า Dominator แตกต่างไปจาก Distortion box หลายๆ รุ่น เพราะปรับได้กว้างและสามารถหาจุดที่เสียงเหมาะกับที่คุณๆ เล่นได้ง่ายขึ้น (มาก) แถมคุณยังสามารถปรับย่าน Mid ให้ไปเน้นที่ Mid-Low / Mid / Mid-Hi ได้อีกด้วยที่สวิทช์ที่อยู่ด้านบนของตัวก้อน ที่ผมชอบก็คือการดีไซน์ LED ที่ใหญ่โตโอราฬประหนึ่งลูกดราก้อนบอลล์เลยทีเดียว

มาว่าถึงเสียงกันบ้าง ผมทดสอบเจ้า Dominator ด้วย Suhr RBM ผ่าน Dominator ออกตู้ Bogner Barcelona Head + Shiva 2x12 Cabinet ก็ได้เสียง Distortion ที่มันส์มากๆ เจ้า Dominator ให้เกนท์มากมายเหลือเฟือสำหรับทั้งคนที่เล่นสไตล์ Rock/Hard Rock/Heavy Metal หรือหนักหน่วงกว่านั้นก็ย่อมได้ การปรับเสียงก็ทำได้กว้างมากๆ เจ้า EQ ชุดที่ผมพูดถึงแต่แรกช่วยทำให้เสียง Distortion จากเจ้าก้อนนี้ ได้เสียงที่หลากหลายมากๆ จุดหนึ่งที่ผมสังเกตุได้ชัดเจนมากก็คือย่าน Mid Frequency ที่ทาง OKKO พยายามเน้นให้มีความหลากหลายมากกว่าย่านอื่นๆ อาจจะเป็นเพราะเป็นย่านที่เมื่อเล่นกับ Band แล้วฟังดูมีความโดดเด่นกว่าเพื่อน ดังนั้นสวิทช์ Mid Control ที่อยู่ด้านบนของตัวก้อน จึงมีบทบาทมากพอสมควรเมื่อใช้งานร่วมกับ Mid Range Switch ด้วยแล้วก็จะทำให้คุณปรับเสียงได้มากขึ้น และเจ้านี่เป็นก้อนแรก ที่ผมรู้สึกว่าเค้าสามารถเปลี่ยนจาก American Distortion ไปเป็น British Drive ได้ไม่ยากนัก จึงเป็นก้อนที่เหมาะมากสำหรับคนชอบอะไรแรงๆ กว้างๆ 

นอกเหนือจากการเป็น Distortion โหดๆ แล้ว ถ้าลด Gain ลงไป เจ้า Dominator ยังทำหน้าที่เป็น Overdrive ดีๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก สำหรับก้อนที่มีอาชีพหลักเป็น Distortion แต่เจ้า Dominator ทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้า Domi ก็ยังคงพอมีข้อด้อยให้เห็นอยู่เล็กๆ น้อยๆ ครับ เพราะด้วยขนาดก้อนที่ค่อนข้างใหญ่ บางคนที่ใช้บอร์ดเล็กๆ ก็ไม่น่าจะชอบใจนัก และสนนราคาก็ไม่ถูก จึงอาจจะทำให้ตัดสินใจยากอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณมองหา Distortion ที่จะให้คุณลุยเล่นไปได้ทั่วโดยการหยิบไปแค่ตัวเดียว เจ้า Dominator นี้ก็เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่อยากให้คุณได้ทดลองเลยหล่ะ



วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Strymon El Capistan

Strymon เรียกว่าเป็นแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเข้ามาให้เราเห็นในตลาดได้ไม่นานนัก แต่ได้รับการยอมรับและเติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ ในตลาดเอฟเฟคก้อน ด้วยความที่ทาง Strymon ได้นำเสนอคอนเซปท์ใหม่ๆ ในการดีไซน์เอฟเฟคต์ของเขา ผมเพิ่งได้มีโอกาสทดสอบ Strymon รุ่น El Capistan เร็วๆ นี้ รู้สึกมีอะไรดีๆ หลายๆ อย่างกับเจ้าก้อนนี้ เลยนำเอามาเขียนให้ได้อ่านกัน

El Capistan เป็นเอฟเฟคต์ประเภท Time Based ที่ให้เสียงดีเลย์ หรือ เอคโค่ ในแบบ Tape Echo ก่อนอื่น ต้องขออธิบายเป็นพื้นฐานเสียก่อน เพราะบางท่านอาจจะไม่รู้จักว่าอะไรคือ Tape Echo เจ้า TE นี้ ที่จริงก็คือดีเลย์ชนิดหนึ่ง ที่มีใช้กันแพร่หลายในยุค 50s-70s จะแต่จะยุ่งยากเสียหน่อย คือเป็นดีเลย์ที่ใช้เทปจริงๆ บันทึกเสียงที่ถูกเล่น และเล่นเสียงเหล่านั้นผ่านหัวเทปหลายๆ หัว และจะถูกบันทึกใหม่ตามเสียงที่เราเล่น วนกันอย่างนั้น ข้อดีคือมันให้เสียงที่ค่อนไปทางอุ่น และหนามาก แต่ข้อด้อยมากๆ ก็คือปัจจุบัน เทปที่ใช้บันทึกมีราคาแพงใช้ได้ และขนาดของมันก็ใหญ่โตโอราฬทีเดียว เจ้า Tape Echo นี้ ในปัจจุบันก็ใช้กันน้อยลงมากๆ (จนแทบไม่มีเลย) ถูกทดแทนด้วย Analog และ Digital Delay ตามระเบียบ แต่เนื่องเพราะความนิยมในลักษณะเสียงแบบ Tape Echo ยังคงมีมนต์ขลังอยู่ ทางบริษัทที่ผลิตเอฟเฟคต์ต่างๆ ก็ยังพยายามจะจำลองความเป็น Tape Echo ออกมาให้ใกล้ที่สุด

Strymon เป็นอีกหนึ่งเจ้าที่พยายามนำเสนอความเป็น vintage tape echo ในก้อนเดียว จึงดีไซน์เจ้าก้อนเทาๆ นี้ออกมา ก็คือ El Capistan นี่แหละครับ เจ้า El Capistan นี่เป็น 100% Digital และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่อยู่ในเกรดชั้นสูง ที่สำคัญทาง Strymon เลือกใช้ชิพที่มีความแรงสูง เพื่อให้ใช้งานได้อย่างลื่นๆ (SHARC DSP) ฟังก์ชั่นการใช้งานก็สุดละเอียด เพื่อให้ได้อารมณ์ของ Tape Echo มากที่สุด ดูคร่าวๆ บนหน้าปัทม์ของตัวเอฟเฟคต์แล้ว ก็มีการจำลองหลากหลายรูปแบบเช่นฟังก์ชั่น Fixed Head - Multi Head - Single Head แถมยังมี Mode ให้เลือกใช้เป็น A-B-C ในแต่ละแบบอีก แถมด้วยปุ่ม wow & flutter ที่ใช้จำลองความผิดเพี้ยนของแกนหมุนของมอร์เตอร์ เสียงที่ได้จะวูบๆ วาบๆ ในอารมณ์แบบ TE จริงๆ (มันจะละเอียดเกินไปไหม?) และมีปุ่ม Tape Age ซึ่งตรงนี้จะจำลองความเสื่อมสภาพของเทปที่จะได้เสียงขุ่มมัวลงเรื่อยๆ ตามอายุการใช้งานของเทป และแต่ละ Knob จะมีการควบคุมอื่นๆ อืกเป็น Secondary Function วิธี access ก็ไม่ยากแค่กดปุ่ม Tap กับ Bypass พร้อมๆ กัน แค่นั้นเอง ฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่ผมชอบก็เห็นจะมี Reverb มาให้ในตัวและปุ่ม +- 3db ที่จะให้คุณๆ ได้แก้ปัญหาเรื่องของความดัง/เบาในการใช้งาน เพื่อไม่ให้เสียงโดด หรือ เบาเกินไป เรียกว่าครบถ้วนทุกกระบวนกันเลย

ผมทดสอบ El Capistan ร่วมกับกีตาร์ Fender Stratocaster EJ Signature ร่วมกับ Providence Flamedrive ไปออก Bogner Shiva 6L6 + Bogner Shiva Cab 2x12 พบว่าเจ้า El Capistan เป็น Delay/Echo ที่ให้เสียงอิ่ม นวล และเนื้อเสียงใหญ่ในแบบ Vintage Tape Echo จริงๆ การใช้งานก็ปรับไม่ยาก ถึงแม้ว่าแรกๆ จะต้องพึ่งพา Manual บ้าง (แต่ Manual เขาเขียนมาละเอียดและเข้าใจง่ายดีจริงๆ) แต่เมื่อรู้ว่าปุ่มไหนใช้ทำอะไรแล้ว ก็ไม่ยากแล้วครับ ข้อดีที่ผมชอบมากๆ สำหรับ El Capistan คือเรื่องของเนื้อเสียงที่อิ่ม อุ่น หนา ใกล้มากๆ และฟังก์ชั่นต่างๆ ที่มีความละเอียดเสมือนเราได้ใช้งาน Tape Echo จริงๆ แต่คุณไม่ต้องไปสต๊อกหรือกังวลว่าจะต้องตุนเทปไว้มากๆ และที่สำคัญคือ El Capistan จะฟังไม่เป็น Digital เลย ถ้าหลับตาเล่น หรือทำ Blind Test กันจริงๆ คุณแทบแยกไม่ออกว่าเสียงดีเลย์แบบนี้ คือเสียงที่มาจาก Digital Unit ครับ ผมแนะนำให้ลองอย่างจริงจัง ถ้า Analog Delay/Echo เป็นสิ่งที่คุณมองหาอยู่



วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Namm Show 2012 Pt.2


     เมื่อฉบับที่แล้ว ผมก็พูดถึงเรื่องการเตรียมตัวมุ่งหน้าสู่ Namm Show ที่ประเทศอเมริกาแล้ว เอาเป็นว่าถ้าตอนนี้ขั้นตอนต่างๆ เช่นการจองตั๋วเครื่องบิน บัตรเข้าสู่งาน และคุณมีวีซ่าครบถ้วนแล้ว สิ่งที่คุณจะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการเดินทางภายในอเมริกา ถ้าคุณสามารถขับรถได้ และมีใบขับขี่สากล ผมแนะนำให้เช่ารถ ด้วยว่าจะเป็นวิธีการเดินทางที่สะดวกที่สุด หรือถ้าไม่มีใบขับขี่ แล้วจำเป็นจะต้องเดินทางด้วยตัวเอง ผมก็จะแนะนำให้ใช้ Airport Bus ครับ จะมีบริการในสนามบินนั่นแหละ สนนราคาการเดินทางจาก LAX ไป Anaheim ก็จะราวๆ $15-$20 ก็คือราวๆ ไม่เกิน 600 บาท 
     
     และการเดินทางภายใน Anaheim ถ้าไม่มีรถเอง ก็อาจจะใช้บริการแท๊กซี่ที่มีอยู่เยอะแยะภายในเมืองเอง ถ้าเดินทางจากโรงแรมไปสู่ Convention Centre ก็อาจจะให้ทางโรงแรมเรียกให้ (หรือปรกติ โรงแรมแถวนั้นเค้าก็จะมี Shuttle Bus คอยบริการฟรี แต่รอบของการเดินรถอาจจะไม่ถี่) และเดินทางกลับจาก Convention Centre ก็แท๊กซี่เช่นเดียวกันครับ อาจจะต้องคอยคิวนานหน่อย แต่มีเรื่อยๆ แน่นอน 

     ข้อเสียเปรียบของการที่ไม่มีพาหนะใช้เองแบบนี้ ก็คือคุณๆ อาจจะไม่สามารถออกไปเที่ยวนอกเส้นทางได้เลย เพราะการเดินทางแต่ละที่ค่อนข้างไกล จำเป็นมากๆ ที่จะต้องใช้รถเป็นพาหนะพาไปในแต่ละที่ แต่ทั้งนี่ทั้งนั้น ในละแวกเมือง Anaheim ก็มีร้านอาหาร มีแหล่งช๊อปปิ้ง มี Disneyland มีหลากหลายแหล่งให้คุณได้เดินเล่น ชมวิวอะไรต่ออะไรอยู่พอสมควรอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าไม่มีรถไปไหนมาไหน วนเวียนอยู่แถวๆ นั้นก็ไม่เลวครับ

     มาสมมติกันต่อครับ ตอนนี้เอาเป็นว่าคุณก็มาพักอย่างสบายในโรงแรมที่พักเพื่อที่จะรอไปตลุยงานแสดงสินค้าเครื่องดนตรีที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในโลกงานหนึ่ง สิ่งที่ผมแนะนำให้เตรียมตัวในวันแรกที่คุณๆ ไปถึงงานก็คือตระเตรียมของขบเคี้ยว หรือแซนวิชอะไรง่ายๆ ที่หาซื้อได้ใกล้ๆ โรงแรม ไปกับคุณด้วย เพราะการซื้ออาหารในงาน เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่าสาหัสจริงๆ คิวยาว คนเยอะ เร่งรีบสุดๆ การมีอาหารติดกระเป๋าไปเอง ประหยัดเวลาและไม่ต้องต่อคิวแน่ๆ และผมก็แนะนำให้ไปเช้านิดหนึ่งครับ เพื่อไปเข้าแถวรับสิ่งที่เรียกว่า Badge ก็คือบัตรเข้างานนั่นเอง หลังจากที่คุณได้อีเมลล์ตอบรับเรื่องการสมัครขอ
บัตรไปแล้ว (อ่านในตอนแรก) ทาง Namm จะให้เลขมาชุดหนึ่งทางอีเมลล์ แนะนำให้คุณปริ๊นมาเก็บไว้ และยื่นในเจ้าหน้าที่เพื่อเขาจะทำการปริ๊นเจ้า Badge นี่ให้คุณ นำไปแขวนคอเอาไว้ตลอดงาน ข้อดีของเจ้า Badge นี้ก็คือเป็นบัตรผ่านประตู และ เป็นสิ่งที่ใช้แนะนำตัวคุณด้วย เพราะฝรั่งและคนในงานจะมองป้ายของคุณก่อน ถ้ารู้จักกัน หรือเคยตกลงธุรกิจกัน เค้าจะรีบทักทายกับเราเลยครับ 

     อย่างที่ผมบอกครับ ว่างาน Namm Show นี้ ใหญ่มากๆ จริงๆ ถ้าคุณเดินเสปะสปะไปเรื่อยๆ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดี และอาจจะเดินไม่ครบ ไม่หมดอย่างที่ใจคุณอยาก ส่วนตัวแล้วผมใช้วิธีกำหนดการเดินในวันแรก ไล่ไปทีละ Hall โดยจะดิ่งไปพบกับกลุ่มซัพพลายเออร์ของผมก่อน เมื่อหมดแล้ว ก็เดินย้อนกลับขึ้นมา โดยจะมุ่งประเด็นไปยังการหาซัพพลายเออร์เจ้าใหม่ๆ (ที่ผมทำการติดต่อไว้เบื้องต้นแล้ว) การเดินแบบนี้ ผมมีผู้ช่วยครับ คือถ้าหากคุณเป็นคนที่ใช้งาน iPhone หล่ะก็ง่ายเลย เพราะทาง Namm เขาได้ทำ App สำหรับ iPhone เอาไว้ ชื่อว่า NAMM 2012 (เข้าใจว่าปีหน้า คงเป็น 2013) ใน app ที่ว่าจะช่วยคุณได้อย่างมากๆ เลยครับ ว่าแต่ละแบรนด์ แต่ละบู๊ทเค้าตั้งกันอยู่ตรงไหน เรียงตาม Hall ไปเลย ด้วยวิธีนี้ ทำให้คุณๆ เดินในงานอย่างตามเป้าประสงค์ได้เลย

   สำหรับผมแล้ว Namm 2012 ตื่นตาตื่นใจมากๆ ด้วยอาจจะเป็นเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้ไปและที่ผมตั้งใจเก็บมาฝากพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ชาวกีตาร์แมค ก็คงจะเป็นเรื่องของกีตาร์แบบล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นแอมป์ กีตาร์ หรือ เอฟเฟคต์ 

Ritter Guitars: 

กีตาร์แบรนด์นี้ เป็น Handcraft จากเยอรมันนีเป็นงานกีตาร์ที่ ดูแล้วแปลกตามากๆ ผมไปแอบดูตามสเปกส์แล้ว ก็เป็น ไม้ที่ปรกติเราๆ ได้เห็นกันครับ คือบอ ดี้ เป็น Alder / Ash อะไรแบบนี้ แต่ดีไซน์ออกแบบได้สวยมากๆ จริงๆ สนนราคาก็ราวๆ ตัวละ 10,000 ยูโร หรือราวๆ ห้าแสนบาทไทย (เท่านั้น!!)



Analysis Plus Cables:

1. Gold Oval เป็นครั้งแรกของผมเหมือนกันที่เคยเห็นสายเคเบิ้ลสำหรับเครื่องดนตรีที่ถักด้วยทอง 99% ทั้งเส้น ผมเองก็ไม่รู้ว่ามันนำสัญญาณได้ดีมากขนาดไหนแต่ที่แน่ๆ สนนราคาเส้นนี้ขนาดความยาว 3 เมตร มันอยู่ที่ราวๆ 150,000 บาท

2. Green Bullet Cable ฟังพี่ Mark Makel เค้าเล่าว่าเป็นสายสัญญาณของกีตาร์ที่เขาได้ออกแบบมาใหม่เพื่อคนที่ชื่นชอบในสายกลุ่ม Yellow Flex เดิม ที่ใช้งานแบบสมบุกสมบัน จุดเด่นคือการนำสัญญาณเสียงได้แบบไม่ผิดเพี้ยน และเติมความเท่ห์ด้วยการใช้หัวแจ๊คหน้าตาคล้ายกระสุนปืน


Martin Guitars

1. D-100 กีตาร์มาร์ตินรุ่น D-100 ผมได้เห็นตัวเป็นๆ ซักทีครับ เป็นกีตาร์ทรง D ที่มีการฝังมุกอย่างอลังการมากๆ สวยงามมากๆ ตัวนี้ สี่ล้านบาท

2. OO45SC-John Mayer ทุกๆ ปีผมจะต้องเห็นชื่อของนายจอห์นนี่โผล่ขึ้นมากับกีตาร์ดีๆ ดังๆ ไม่ว่าจะเป็น Fender เมื่อคราวออก Black One มาปีนี้ เขามาออกกีตาร์โปร่งให้กับ Martin และเป็น Limited Edition เสียด้วย สาวกจอห์น เมเยอร์ ก็ไม่น่าพลาดนะครับ (สนนราคาประมาณสามแสนบาท)

 


Gig FX: ผมผ่านมาที่ซุ้มของ Gig FX มีคุณน้องลูกสาวเจ้าของเค้าชวนผมคุยอยู่พักใหญ่ก่อนที่คุณน้องเขาจะบอกว่าอีกราวๆ 5 นาที มือกีตาร์สาย Country/Fusion ที่ชื่อ Johnny Hiland จะแวะมาเล่นที่ Booth ของเธอ ผมเลยได้ดูมือกีตาร์คนนี้เล่นด้วย เก่งมากๆ และประทับใจมากๆ

 


     ในฉบับนี้ เนื้อที่หมดซะแล้วครับ เดือนหน้ายังมาต่อภาคสามกัน และผมจะนำคุณๆ ไปชมบู๊ทที่น่าสนใจอีกหลายๆ บู๊ท พร้อมทั้งไปดูกันว่า ไปเที่ยวงานนี้ ผมได้เจอคนดังๆระดับโลก มีใครกันบ้าง เจอกันฉบับหน้าครับ 

(ตีพิมพ์บนนิตยสาร The Guitar MAG เดือนพฤษภาคม 2555)

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Bogner: New Yorker


เร็วๆ นี้ เพิ่งจะได้มีโอกาสทดสอบแอมป์บูติกระดับโลกภายใต้แบรนด์ Bogner Amplifications ไป แต่เป็นรุ่นสุดโหดที่เรียกว่า Uberschall วันนี้ได้มีโอกาสสัมผัสอีกรุ่นนึง ที่มีขนาดเล็กแต่เต็มไปด้วยคุณภาพ Bogner ทำการนำเอารุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในซีรี่ส์ International เข้าสู่ตลาดเมื่อสักสองปีก่อน โดยเริ่มต้นที่รุ่น Barcelona (แต่เรายังจะไม่พูดถึง Barcelona กันนะครับ) ช่วงสองปีที่ผ่านมา Reinhold Bogner ก็ทำการดีไซน์แอมป์ในซีรี่ส์นี้ออกมาอีกหลายรุ่นเช่น Palermo - New Yorker - Panama - Lafayette ผมจะนำเอารุ่นที่เรียกว่า New Yorker มาพูดกันก่อน 

New Yorker เป็นแอมป์ที่ Reinhold Bogner ตั้งใจจะดีไซน์ออกมาเพื่อนำเอาเสียงในแบบ American Tweed Style ที่เป็นพวกแอมป์ขนาดเล็ก ซึ่งมีสเน่ห์ในยุคช่วง 50s กลับมาและเพิ่มเอารสชาติในแบบสมัยใหม่ผสมลงไป (อย่างลงตัวเสียด้วย) เจ้าแอมป์ New Yorker จึงเรียกได้ว่าเป็นแอมป์ที่มีขนาดเล็ก เหมาะกับ Bedroom Scale หรือจะไปแบบ Small Pub ก็ยังไหว เพราะมีขนาดกำลังขับ 12 วัตต์ และ 24 วัตต์ การดีไซน์ก็ดูสวยงามลงตัวครับ ด้วยแผงหน้าปัทม์ที่เป็น Gold Anodized สวยงาม มี On/Off Switch และ Standby Switch อยู่ฝั่งขวา ซึ่ง Standby นี่จะมี Low/Hi - Low จะทำงานที่ 12 วัตต์ และ Hi จะทำงานที่  24 วัตต์ ส่วน Panel อีกฝั่งจะมี Volume - Tone และ Schizo ซึ่งเป็นเสมือนจากปรับ Texture ของเสียงให้ทำงานเป็นแอมป์ 4 ชนิด (ใน 1 ตัว)

ผมทดสอบ New Yorker ด้วยกีตาร์ PRS Hollowbody II และ Fender Eric Johnson Stratocaster ผ่าน New Yorker เพียวๆ ไปออก Bogner International 1x12 Cabinet พบว่า NY ให้เสียงที่อิ่ม และค่อนไปทางสว่างสดใส ฟังแล้วนึกถึพวกวินเทจแอมป์ประเภท Fender Champ เก่าๆ แต่มีความโมเดิร์นอยู่ในตัวด้วยเหมือนกัน ปุ่ม Schizo ทั้ง 4 ทำให้แอมป์มีทางเลือกเพิ่มขึ้นเป็น 4 เสียงในตัวเดียว ก็เพิ่มความหลากหลายให้กับผู้เล่นได้หาเสียงใหม่ๆ เล่นได้มากโขอยู่ P.1 จะให้เสียงเหมือนพวก Blackface ขนาดเล็ก (ลองหลับตานึกถึงพวก Princeton นะครับ) จะฟัง scoop mid นิดๆ ฟังสดใสๆ หน่อย P.2 จะเป็นให้โทนที่อ้วนหน้ากว่าโพสิชั่นแรกและฟังออกขุ่นๆ แบบ brown sound (นึกภาพเราบู๊สด้วย TS808 แบบปิด Gain) P.3 ที่โพสิชั่นนี้จะได้อารมณ์แบบเราเปิดแอมป์เล็กๆ ให้ได้วอลลุ่มสูงๆ แล้วแตกนิดๆ ย่าน Low-Mid มาอิ่มเต็ม แตกหน่อยๆ แจ่มมาก ที่ P.4 จะเป็นซาวด์แบบ Tweed เปิดเต็มสูบ เสียงจะมาเต็มๆ โน๊ตลูกใหญ่ๆ แต่ฟังนิ่มและเนียนๆ (ถ้าเล่นกับ Humbucker จะแตกหน่อยๆ เช่นกัน) 


จริงๆ เจ้า New Yorker นี่ เป็นแอมป์ขนาดเล็กที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เสียงคลีนฟังเพราะและเด้งมากๆ ผมลองเติม Overdrive กับ Reverb เข้าไป ก็ได้เสียงแบบที่เรียกว่าเล่นเพลินไปทั้งวันหล่ะครับ ต้องบอกว่า ถึงแม้จะเป็น Class A และ Single Channel แต่ถ้ามี Pedal ที่คุณชอบเติมเข้าไป คิดว่าก็เป็นแอมป์ให้เสียงที่ดีมากๆ และยิ่งถ้าคุณชอบแนว Fender Tweed/Blackface ขนาดเล็ก ในราคาที่กลางๆ หล่ะก็ New Yorker  เป็นแอมป์ที่คุณน่าจะยินดีที่จองไว้เป็นตัวเลือกอีกตัวเลยหล่ะครับ